‘เพลงของพ่อ’ พระอัจฉริยภาพ ความรัก และความผูกพันในดนตรีของรัชกาลที่ 9
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่าง ๆ กันไป”
พระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่ได้พระราชทานให้แก่นักข่าวอเมริกัน ในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 แสดงให้เห็นถึงความผูกพัน ความรัก และความทุ่มเทที่พระองค์มีให้กับดนตรี
ในหลวง ร.9 ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์
นับตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ในหลวง ร.9 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 49 เพลง ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์เป็นอย่างดี
วันนี้เราจะมาดูแต่ละช่วงเวลาที่พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงเอาไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 – 2559 เพื่อที่จะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระราชประวัติกับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระองค์ จะมีเพลงอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ
พ.ศ. 2489 ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ เช่น เพลงแสงเทียน ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ตามด้วยเพลงยามเย็น, สายฝน และใกล้รุ่ง โดยเพลงแสงเทียน เป็นเพลงที่ทรงแก้ไขเยอะและยาวนานที่สุด อีกทั้งยังเป็นเพลงบลูส์ที่เนื้อหาค่อนข้างหนัก พระองค์จึงพระราชทานเพลงสายฝน และยามเย็นออกมาก่อน ส่วนเพลงใกล้รุ่ง เป็นเพลงที่พระองค์ทรงทดลองใส่จังหวะรำวงเข้ามาในท่อนกลางเพลงด้วย
พ.ศ. 2490 – 2492 เป็นช่วงที่ทรงครองราชย์แล้วแต่ต้องทรงกลับไปศึกษา และรักษาพระองค์ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 8 เพลง ชะตาชีวิต, ดวงใจกับความรัก, ราชวัลลภ, อาทิตย์อับแสง, เทวาพาคู่ฝัน, คำหวาน, มหาจุฬาลงกรณ์ และแก้วตาขวัญใจ โดยมีถึง 5 เพลงที่เป็นเพลงรักที่แสนโรแมนติก ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์และพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
พ.ศ. 2495 ทรงพระราชนิพนธ์เพลงทั้งหมดแทบจะพร้อม ๆ กันไป เมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ คือเพลง พรปีใหม่, รักคืนเรือน, ยามค่ำ, ยิ้มสู้, มาร์ชธงชัยเฉลิมพล และมาร์ชราชวัลลภ โดยเพลงยิ้มสู้ เป็นเพลงที่พระราชทานให้แก่โรงเรียนสอนคนตาบอด
พ.ศ. 2497 – 2501 ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ศุกร์สัญลักษณ์, เมื่อโสมส่อง, ลมหนาว, Oh I Say, Can’t You Ever See, Lay Kram goes Dixie, ค่ำแล้ว, สายลม, ไกลกังวล และแสงเดือน
พ.ศ. 2502 – 2505 ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ฝัน, มาร์ชราชนาวิกโยธิน, Kinari Suite โปรเจกต์ จำนวน 4 เพลง, แผ่นดินของเรา (ทำนองเพลง Alexandra), พระมหามงคล และเพลงธรรมศาสตร์ โดยเพลง Kinari Suite เป็นเพลงที่พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ ส่วนเพลงแผ่นดินของเรา (Alexandra) เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เพื่อต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร ขณะเสด็จเยือนเมืองไทยในปี พ.ศ. 2502
พ.ศ. 2508 เป็นปีที่ทรงมีพระราชกรณียกิจมากขึ้น และเหมือนทรงทราบในพระราชหฤทัยว่า จะหาเวลาพระราชนิพนธ์เพลงจาก “แรงบันดาลใจของนักแต่งเพลง” เช่นเมื่อครั้งก่อนทรงครองราชย์หรือทรงครองราชย์ใหม่ ๆ ไม่ได้ง่าย ๆ อีกแล้ว จึงทรงใช้ช่วงว่างจากพระราชกรณียกิจในช่วงสั้น ๆ พระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและคำร้อง 5 เพลงติดต่อกัน คือ ในดวงใจนิรันดร์, เกาะในฝัน, เตือนใจ, ไร้เดือน และ แว่ว
พ.ศ. 2509 – 2538 มีเพลงพระราชนิพนธ์เพียง 7 เพลงในเกือบ 30 ปี ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลง “ตามคำขอพระราชทาน” และเพลงในวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน เช่น เกษตรศาสตร์, ความฝันอันสูงสุด, เราสู้, เรา-เหล่าราบ 21, Blues For Uthit, รัก และ เมนูไข่
ปี พ.ศ. | จำนวน | ชื่อทำนอง |
---|---|---|
2489 | 4 ทำนอง |
|
2490 | 2 ทำนอง |
|
2491 | 1 ทำนอง |
|
2492 | 5 ทำนอง |
|
2495 | 6 ทำนอง |
|
2497 | 3 ทำนอง |
|
2498 | 4 ทำนอง |
|
2500 | 2 ทำนอง |
|
2501 | 1 ทำนอง |
|
2502 | 8 ทำนอง |
|
2505 | 1 ทำนอง |
|
2508 | 5 ทำนอง |
|
2509 | 1 ทำนอง |
|
2514 | 1 ทำนอง |
|
2519 | 2 ทำนอง |
|
2522 | 1 ทำนอง |
|
2537 | 1 ทำนอง |
|
2538 | 1 ทำนอง |
|
ทั้งหมดนี้คือ 49 เพลงพระราชนิพนธ์ ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ รวมทั้งความรัก และความทุ่มเทที่พระองค์มีให้กับดนตรีมาตลอดพระชนมชีพ และด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งด้านดนตรีของพระองค์นั้น สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Academy for Music and Performing Arts) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูงแด่ในหลวง ร.9 ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ 23 พร้อมทั้งจารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นศิลาของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้พระราชนิพนธ์เพลงเพิ่มเติมอีก แต่รู้ไหมครับว่าพระองค์ทรงโปรดฯ ให้แก้ไขปรับปรุงเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความกลมกลืน มีคอร์ดที่ร่วมสมัยและถูกต้อง โดย ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ และเป็นคนถวายงานการเรียบเรียงแก้ไขบทเพลงพระราชนิพนธ์ ได้เล่าว่า การแก้ไขปรับปรุงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด ได้ค่อย ๆ ทำกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จนครบหมดทุกเพลง เหลือเพียงเพลง “แสงเทียน” ซึ่งเป็นเพลงที่ยากและใช้เวลาปรับปรุงยาวนานที่สุด
กระทั่งสิ้นพ่อหลวงของคนไทย “แสงเทียน” จึงเป็นเพลงเดียวที่ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ
เรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงมุมหนึ่งในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของในหลวง ร.9 ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ท่านตลอดมา แม้พระองค์จะทรงงานอย่างหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์มาตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ แต่ในห้วงเวลาเล็ก ๆ พระองค์ก็ยังทรงมีความสุข ในการได้ทรงดนตรีที่พระองค์โปรด และมีความผูกพันมาตลอดพระชนมชีพ ดังเช่นพระราชดำรัสที่เคยให้ไว้แก่ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ และเป็นพระราชดำรัสที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของคนไทยว่า…
“ขอให้จดจำไว้ และบอกเล่าให้คนอื่นฟังว่า เรามีความสุขขนาดไหนเวลาเราเล่นดนตรี อย่าลืมเล่าให้ลูกหลานฟังว่า…เรามีความสุขขนาดไหน”