เผาชุดครุย…การแสดงออกอันตื้นเขินและด้อยค่าตัวเอง โดยไม่เกี่ยวกับชนชั้นและอำนาจรัฐใด ๆ เลย
“สวะสังคม (Social Scum) คือ เศษโสมม (Rottenmass) ซึ่งสังคมเก่าได้โยนทิ้งไป แต่ตกค้างอยู่ในสังคมใหม่”
คำกล่าวนี้เป็นของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้วิพากษ์คนมีปมด้อยบางกลุ่ม ที่พยายามยัดเยียด “พฤติกรรมขยะๆ” ของตนเอง ให้กลายเป็นภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมขยะที่พยายามดูถูกเหยียดหยามทุกคนที่เห็นต่าง และทำลายคุณค่า ทำลายรากเหง้าของตนเอง โดยปรีดีมองว่า คนพวกนี้ “เป็นชนชั้นอันตราย (Dangerous Class)…เห็นแก่ตัว (Egoist) เป็นสำคัญ ซึ่งแสดงด้วยอาการอวดดี ยกตัวว่าวิเศษกว่าคนอื่น”
การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านระบอบศักดินาผ่านการเผาครุย เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของคนกลุ่มเล็ก ๆ บางพวก ที่เต็มไปด้วยความโง่ ไร้ความคิด ด้อยการศึกษา และแสดงออกให้เห็นถึงปมด้อยทั้งในทางทัศนะคติและสติปัญญา เห็นได้จากความตื้นเขินของคนพวกนี้ที่มีมุมมองว่า “ชุดครุยทำหน้าที่ตอกย้ำการเลื่อนขั้นทางชนชั้น ที่พิธีกรรมและเครื่องแบบเหล่านี้เป็นเครื่องมือแผ่ขยายอำนาจรัฐ”
ครุย เป็นเสื้อคลุมประเภทหนึ่ง มีลักษณะหลวมและยาวถึงเข่าหรือยาวตลอดทั้งตัว ใช้สำหรับสวมใส่คลุมทับเครื่องแต่งกาย ซึ่งในอดีตทั้งผู้ชายและผู้หญิงในยุโรปต่างก็สวมเสื้อครุยเพื่อแสดงตำแหน่งอาชีพและฐานะทางสังคมกันมาตั้งแต่ยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 17 ทว่าหลังจากนั้นมา ความหมายและหน้าที่ของเสื้อครุยก็เปลี่ยนแปลงไป และมีการใช้เสื้อครุยในกลุ่มวิชาชีพที่จำกัด เช่น กลุ่มนักกฎหมาย และกลุ่มนักวิชาการ
ในสมัย ร.5 อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกได้แผ่เข้ามา ทำให้สังคมไทยในยุคนั้นยอมรับหลักการความเสมอภาค ดังนั้นในหลวง ร.5 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ให้ผู้พิพากษาสวมเสื้อครุยออกนั่งบัลลังก์พิจารณาอรรถคดี โดยผู้พิพากษาทุกคนทุกลำดับชั้น จะสวมเสื้อครุยวิทยฐานะในรูปแบบที่เหมือนกันโดยไม่มีการแบ่งยศ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พิพากษาตระหนักในหน้าที่และบทบาทของตนเอง และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นเอกภาพในวิชาชีพ ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อเป็นนัยต่อประชาชนว่า ถ้าหากประชาชนมีคดีความฟ้องร้องสู่ชั้นศาล ไม่ว่าท่านผู้พิพากษาคนใดเป็นผู้พิจารณาคดี เราจะได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
ไม่เพียงแต่จะมีการใช้เสื้อครุยวิทยฐานะสำหรับวิชาชีพนักกฎหมายเท่านั้น ในสมัย ร.6 พระองค์ยังได้พระราชทานให้มีการใช้เสื้อครุยวิทยฐานะสำหรับกลุ่มวิชาชีพนักวิชาการอีกด้วย เช่น เสื้อครุยเสื้ออาจารย์ และเสื้อครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นต้น
ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญาบัณฑิตแล้ว ด้วยความที่ประเทศไทยอยู่ในยุคล่าอาณานิคม ประเทศชาติยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในวิทยาการขั้นสูง ดังนั้นในหลวงทุกรัชกาลจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับสูง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดทุนรัฐบาล ทุนเล่าเรียนหลวงจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และนักเรียนทุนส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก เพื่อให้คนไทยนำศิลปวิทยาการขั้นสูงจากต่างประเทศ กลับเข้ามาพัฒนาชาติบ้านเมือง
เมื่อประเทศไทยมีนักวิชาการมากเพียงพอ และมีความพร้อมสำหรับจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ในหลวง ร.6 จึงพระราชทานชุดครุยสำหรับบัณฑิต เพื่อเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจให้กับนักศึกษาที่พากเพียรเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นสูง แต่ทว่าพระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะได้มีการพระราชทานปริญญาบัตร ดังนั้นเมื่อในหลวง ร.7 ครองราชสมบัติสืบมา จึงทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัณฑิตเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ และทรงพระราชปฏิบัติเช่นนี้สืบมา นับแต่นั้นจนกระทั่งในรัชกาลปัจจุบัน จนกลายเป็นประเพณี ที่พระมหากษัตริย์มีหน้าที่เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทุกคน แม้หากทรงไม่อาจเสด็จมาพระราชทานได้ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติหน้าที่แทน
สำหรับปริญญาบัตร โดยเทียบเคียงแล้วก็อยู่ในประเภทเดียวกับสัญญาบัตรตราตั้งข้าราชการระดับขุนนางในอดีต ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ว่าปริญญาบัตรเป็นหนังสือตราสารที่แสดงถึงคุณวุฒิทางการศึกษา ว่าสำเร็จการศึกษาในด้านใด สาขาใด แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ต่างทรงให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความพากเพียรมุมานะเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตทุกคนเสมอมา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “ครุยวิทยฐานะ” ไม่เพียงจะเป็นเครื่องแต่งกายที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มวิชาชีพ หรือการบ่งบอกสถานะเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีความหมายที่สื่อถึง “ความเสมอภาค” เพราะการศึกษาทำให้คนทุกคนมีศักดิ์และสิทธิ์เสมอกันในครุยวิทยฐานะ เป็นพระบรมราโชบายที่ให้กำลังใจนักศึกษาผู้มีความพากเพียร ไม่ว่าชาติกำเนิดหรือฐานะจะต่างกันเพียงไร แต่ทุกคนเมื่อผ่านกระบวนการศึกษาอบรมขัดเกลาให้มีความรู้ บัณฑิตทุก ๆ คน ก็เป็นผู้รู้ เป็นผู้มีปัญญาเสมอกัน ดังนั้นบัณฑิตทุกคนจึงย่อมมีความภาคภูมิใจได้ว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว มีคุณวุฒิที่เท่ากัน แม้บางคนจะได้รางวัลดีเด่น เกียรตินิยมบ้าง แต่ทุกคนก็เป็นผู้ทรงภูมิความรู้วิทยฐานะที่เท่ากัน
การที่คนบางกลุ่มแอบอ้างตนเองเป็นคนรุ่นใหม่ พยายามที่จะทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม ทำลายศักดิ์ศรีของบัณฑิต ผ่านการเผาชุดครุย ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความหมาย มีความเสมอภาค จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงระดับสติปัญญาและสภาพจิตใจของคนเหล่านั้น สมกับที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยให้นิยามคำว่า “สวะสังคม” ไว้ว่า
“สวะสังคมบางคนอ้างตนเองเป็นคนรุ่นใหม่…โดยสายตาคับแคบตามลักษณะอวดดี และเห็นแก่ตัว ตนเองมองชนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลว่าเหมือนตนเองไปทั้งหมด ซึ่งเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามชนรุ่นใหม่ทั้งหมด นอกจากตัวเขากับเพื่อนสวะสังคมจำนวนหยิบมือเดียว ชนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลมิใช่สวะของสังคม แต่เป็นคนไทยที่เป็นพลังใหม่ที่กำลังพัฒนาก้าวหน้าทั้งทางกายและทางจิตใจ ปราศจากจิตวิญญาณปฏิกิริยาและวิญญาณแห่งสวะของสังคม”
นายปรีดี พนมยงค์ ในสมัยที่มีตำแหน่งเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อครั้ง พ.ศ. 2478 เมื่อมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตเป็นโอกาสแรก นายปรีดีก็ยังต้องให้เกียรตินักศึกษาซึ่งสำเร็จการศึกษาเหล่านั้น ด้วยการสวมเสื้อครุยวิทยฐานะ เข้าร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร เพื่อเป็นการประกาศศักดิ์และสิทธิ์แห่งความเสมอภาคของเหล่าบัณฑิต
ซึ่งพิธีการเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชนชั้นหรืออำนาจรัฐเลย
อ้างอิง :
[1] ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” (2515)
[2] วรชาติ มีชูบท. “ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ในรัชกาลที่ 6”. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์. 2555