‘เผาจริง’ หาใช่ ‘เผาหลอก’ บันทึกข้อเท็จจริงจากผู้ร่วมเหตุการณ์ในวัน ‘กรุงแตก’
วันที่ 7 เมษายน เป็นวันที่กรุงศรีอยุธยาได้พ่ายแพ้ต่อพม่าและราชธานีได้ถูกทำลายทิ้งอย่างยับเยิน ซึ่งรวมไปถึงการเผาภายในราชธานีที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงหลังๆ นี้มักจะสอบทานกับความรู้เดิมซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แต่ความพยายามสอบทานในบางครั้งแทนที่จะได้รับความรู้ใหม่ๆ กลับได้รับแต่ความตลกทางวิชาการ อย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้ได้มีนักวิชาการหรือกระทั่งคนทั่วไปได้สรุปอย่างเข้าใจผิดว่า “พม่าไม่ได้เผากรุงศรี” บ้าง หรือการเผาโดยพม่าไม่ได้รุนแรงอย่างที่เข้าใจกันบ้าง
เนื่องในวันที่เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง จึงควรเปิดหลักฐานเรื่องการเผากรุงศรีนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าการเผาจริงเท็จเพียงใด และการเผานั้นมีความรุนแรงแค่ไหน [1]
ในช่วงที่พม่าทำศึกกับอยุธยานั้น อยุธยามิใช่เป้าหมายเดียวของพม่า เพราะในขณะนั้นพม่ายังทำศึกกับมอญและที่อื่นๆ ด้วย โดยยุทธวิธีการรบของพระเจ้าอลองพญาจะแตกต่างอย่างยิ่งจากพระเจ้าบุเรงนอง เพราะในสมัยพระเจ้าบุเรงนองนั้นจะไม่มีการเผาหรือทำลายฝ่ายที่พ่ายแพ้ แต่จะรักษาเอาไว้เป็นประเทศราช แต่พระเจ้าอลองพญานั้นได้เคยจัดการกับมอญโดยการเผาทำลายสิเรียมและหงสาวดีชนิดที่ราบเป็นหน้ากลอง และการเผาอยุธยารวมถึงการปล้นนั้นกษัตริย์ของพม่าก็ทำกับที่อื่นๆ ด้วย
ในพระราชพงศาวดารหลายฉบับได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเกิดการเผากรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ซึ่งสมเด็จพระพนรัตน์พระองค์นี้เป็นคนกรุงเก่าและเป็นพระราชาคณะมาถึงสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านจึงรับรู้เหตุการณ์ด้วยตนเองและยืนยันว่าพม่าได้เข้ามาเผากรุงศรีอยุธยา หรือคำให้การของขุนหลวงหาวัดอันเป็นเชลยศึกที่ถูกกวาดไปว่า “ระดมเข้ามา ณ กรุง แล้วเอาเพลิงจุดเชื้อที่รากกำแพง ครั้นเวลาค่ำกำแพงทรุดลงหน่อยหนึ่ง พม่าก็เข้ากรุงได้ เอาไฟเผาพระราชวังและวัดพระศรีสรรเพชญ์”
หลักฐานอีกชิ้นที่น่าสนใจคือบันทึกของบาทหลวงโรแบรต์ โกสเต ถึงกับระบุว่า “พวกนี้เป็นเหมือนคนป่าเถื่อนที่จุดไฟเผาไปทั่ว และไม่รักษาคำมั่นสัญญา” คำมั่นสัญญานี้หมายถึงพม่าได้สัญญากับพวกมิชชันนารีว่าจะไม่เผาโบสถ์แต่ก็กลับเผา หรือหลักฐานของตุรแปงก็ได้เล่าว่า “บ้านเมืองถูกข้าศึกบุกโจมตีทรัพย์สมบัติในพระราชวังและวัดวาอารามต่างๆ แทบไม่เหลือสิ่งใดนอกจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่าน … พวกพม่ายังระบายความโกรธแค้นของพวกเขาจากการสูญเสียในครั้งนี้ไปยังหัวเมืองต่างๆ”
หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยังไม่เคยเผยแพ่มาก่อนคือบันทึกของคุณพ่อกอร์ที่อยู่ในเหตุการณ์กรุงแตก โดยเดิมเขียนเป็นภาษาละติน ก่อนจะแปลเป็นฝรั่งเศสและไทยอีกทอดหนึ่ง เอกสารชุดนี้เป็นเอกสารที่อยู่ในการครอบครองของกลุ่มมิชชันนารีในกลุ่มอัสสัมชัญได้ระบุว่า “พวกเขาก็กรูกันขึ้นไปบนบ้านของพวกคริสตังอย่างทันทีทันใด เมื่อปล้นทุกอย่างแล้วก็จุดไฟเผาทั่วทุกแห่ง กองเพลิงเผาผลาญน่ากลัว ลมพัดแรงมาก เปลวเพลิงลุกไหม้ติดหลังคาวัด อาคารศักดิ์สิทธิ์พร้อมเครื่องเรือนทั้งหลายถูกไฟไหม้หมด ท่ามกลางน้ำตาและความทุกข์ของพวกคริสตัง”
แต่ขณะเดียวกันชาวสยามบางคนก็ร่วมมือกับพม่าโดย “พม่าสั่งให้จุดอัคคีภัยทั่วเมืองและเปิดทางซึ่งเป็นที่ป้องกันคนพม่า” ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานบางส่วนในนาทีที่เกิดเหตุการณ์กรุงแตกซึ่งได้ถูกบันทึกไว้ การเผาของพม่าจึงไม่ใช่การพูดลอยๆ แต่มีหลักฐานจริงทั้งไทยและเทศ ส่วนความรุนแรงนั้นจะมากมายเพียงใด ผู้อ่านคงตัดสินกันได้ไม่ยาก
อ้างอิง :
[1] สรุปข้อมูลจาก แถลงงานคณะกรรมการชำประวัติศาสตร์ไทย พุธศักราช 2564, หน้า 145-150.