ผ่าวาทกรรมลวงโลก ‘เหตุการณ์สงบงบไม่มา’ เผยโฉมขบวนการ BRN ต้นเหตุความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้มากว่า 20 ปีจนถึงปัจจุบัน

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อกล่าวถึง BRN น่าจะไม่ค่อยมีใครในประเทศไทยรู้จักว่า องค์การนี้คืออะไร ย่อมาจากอะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร หรือมีบทบาทอะไรในประเทศไทยในเวลานี้ แต่หากกล่าวถึงบทบาทของ BRN ในฐานะขบวนการก่อการร้าย/ขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุร้ายรายวันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน คนไทยหลายคนคงร้อง อ๋อ !และคงจะจำพวกเขาขึ้นมาได้แทบจะในทันที

BRN ย่อมาจาก Berisan Revolusi Nasional Melayu Patani เป็นหนึ่งในขบวนการก่อการร้ายกลุ่มสำคัญที่สุดที่ยังคงมีสถานะ “แอคทีฟ” หรือยังมีการปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้ในปัจจุบัน นับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ประทุขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ (เกือบ 20 ปีแล้ว) มีคนไทยทุกเพศทุกเชื้อชาติศาสนาและทุกช่วงอายุต้องมาสังเวยชีวิตรวมกันไม่ต่ำกว่า 7,000 คน เพื่อรับใช้อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนจากปฏิบัติการก่อความไม่สงบของขบวนการ BRN

เมื่อผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็อาจจะเกิด “ผู้รู้ หรือ ผู้สันทัดกรณี บังเกิดความรู้สึกว่า ทราบดีว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุร้ายส่วนใหญ่ คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ตามวลีฮิตที่เล่ากันปากต่อปาก (แต่ไม่มีการศึกษาหรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์) ว่า เหตุการณ์สงบงบไม่มา หรือ จับแพะทั้งนั้น” บางคนอวดอ้างสรรพคุณว่าอยู่ในพื้นที่จึงรู้จึงเห็นทุกอย่างด้วยหูด้วยตาตัวเองมาตลอด กล่าวมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนเกิดความรู้สึกเวทนาในความ “อวดรู้” ของ “ผู้รู้” เหล่านั้นเต็มที เพราะถ้า “ผู้รู้” เหล่านั้นมาเท้าสะเอวพูดแบบนี้ใกล้ ๆ ผู้เขียน ผู้เขียนจะยกหนังสือ/รายงานว่าด้วยการก่อการร้ายในภาคใต้ให้อ่านออกเสียงต่อหน้าต่อตาผู้เขียนเสียเลย เพราะ วาทกรรมทำนองว่า เหตุการณ์สงบงบไม่มา นี้ สากลโลกเขาคุยตกกันไปกว่าทศวรรษแล้วว่า ไม่จริง

ใครที่ติดตามรายงานความมั่นคงของรัฐไทย ตลอดจนถึงรายงานของนักวิชาการทั้งไทยและฝรั่งทั้งอวยและไม่อวยรัฐบาลไทย ตลอดจนถึงหน่วยงานภายนอกทั้งวิชาการและไม่วิชาการ เขาสรุปกันไปแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2547-2560 เกินครึ่งเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะกลุ่ม BRN (เพียงฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือของ ม.อ. ปัตตานีแห่งเดียว ระบุไว้สูงถึง 73 เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นเรื่องของการก่อการร้าย) ส่วนที่เหลือจึงเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่ยังขาดความชัดเจน หาข้อสรุปไม่ได้ หรือเรื่องอาชญากรรมเท่านั้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ยังอวดรู้ทำนองว่า “เหตุการณ์สงบงบไม่มา” ผู้เขียนขอสวดมนต์และวิงวอนให้พระดลใจให้พวกเขาหายจากอาการดวงตาและจิตใจมืดบอดในเร็ววันเทอญ (อาเมน)

เมื่อรู้จักธรรมชาติของเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้แล้วว่ามีสาเหตุมาจากการก่อเหตุร้ายอย่างจงใจและมีเป้าหมาย/ยุทธศาสตร์เฉพาะ ย่อมเป็นไม่ได้เลยที่จะต้องกล่าวถึง ตัวแสดงสำคัญ (key actor) ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์เหล่านี้ นั่นก็คือ ขบวนการ BRN ที่ผู้เขียนเคยเปรยทิ้งไว้ในตอนต้นบทความ สำหรับประวัติและที่มาของ BRN นั้น เป็นที่ทราบกันน้อยมากเพราะตั้งแต่ที่องค์การนี้ก่อตั้งและเคลื่อนไหวมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังเรียกได้ว่าเป็นองค์การที่ปิดลับ แม้แต่ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ (RKK) ของขบวนการนี้ที่ก่อเหตุในปัจจุบัน มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าพวกตนทำงานรับใช้ BRN อยู่ พวกเขาทราบเพียงว่าถ้าทาง BRN สั่งให้ไปยิงคนเขาก็ต้องก็ไปยิง สั่งให้ไปวางระเบิดก็ไปวางระเบิด ชีวิตของพวกกองกำลังติดอาวุธจึงนับว่าน่าเวทนาสงสารกว่าพวก BRN ที่เป็นแกนนำระดับบนที่ส่วนมากเสวยสุขพร้อมกับลูกเมียในบ้านที่แสนจะอบอุ่นในเมืองนอก

ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติ BRN ที่ผู้เขียนเรียบเรียงมาให้อ่านนี้ ส่วนหนึ่งมีที่มาจากเอกสาร/รายงานของฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับหนังสือหรือวิจัยของนักวิชาการที่สนใจในประเด็นการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้โดยทั่วไป ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทย (เอกสารลับ) ระบุว่า BRN ตั้งขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2503 นับเป็นองค์การแบ่งแยกดินแดนลำดับที่ 3 ที่ก่อตั้งขึ้นไล่หลัง GAMPAR และ BNPP (นักวิชาการบางท่านมองว่า BNPP เป็นองค์การสืบทอดจาก GAMPAR) โดยมีแกนนำหลักสำคัญได้แก่ อุสตาซการีม/หะยีการิม ฮะซัน อดีตโต๊ะครูปอเนาะในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส วันมูฮัมหมัด รอฟี (อาหมัด บง) ผู้มีแนวคิดสังคมนิยม/หัวเอียงซ้าย และ ฮะยีฮารน สุหลง อดีตผู้บริหารโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิเป็นสถานที่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้จัดตั้ง

ต่อมาได้มีผู้ร่วมขบวนการเพิ่มขึ้นอีก ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ อามีน โต๊ะมีนา อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เต็งกู ยาลาล นาเซร์ (หรือ อดุลย์ ณ สายบุรี อดีต ส.ส.นราธิวาส และเป็นลูกชายของเต็งกู อับดุล มุตตอเล็บ เจ้าเมืองสายบุรีคนสุดท้าย) รวมถึงอับดุลกายม ชาวสะเตงนอก จังหวัดยะลา ข้อมูลของทางฝ่ายความมั่นคงระบุต่อไปว่า กองกำลังของฝ่าย BRN หรือ ABREP (Angatan Bersenjata Revolusi Patani) มีฐานที่มั่นแห่งแรก ณ เทือกเขาบูโด แถบอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยมีกำลังจัดตั้งเบื้องต้นเพียง 125 คน อุดมการณ์ทางการเมืองของ BRN แตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ BNPP เน้นการต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐสุลต่านปัตตานี (นิยมเจ้า) หรือ PULO ที่เน้นความเป็นกลางกึ่งชาตินิยมกึ่งศาสนา แต่ BRN กลับมีอุดมการณ์ที่สุดโต่งกว่า นั่นก็คือ สังคมนิยมอิสลาม” (Islamic Socialism) หรือ NASOSI – นาโซซี ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อกันว่าเป็นแนวคิดของ วันมูฮัมหมัด รอฟี สมาชิกรุ่นก่อตั้งผู้นิยมสังคมนิยมที่จับเอาหลักของอิสลามและสังคมนิยมมารวมกัน

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่าการให้ความสำคัญกับข้อมูลฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ BRN โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในทางลับซึ่งผู้เขียนไม่สามารถตรวจสอบถึงที่มาได้ โชคดีที่ไม่นานมานี้ งานวิจัยระดับปริญญาเอกของ ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช (Rungrawee Chalermsripinyorat) อาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ทำการศึกษาเบื้องลึกของขบวนการ BRN ในลักษณะเชิงลึกที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน (โดยเฉพาะการเข้าถึงการสัมภาษณ์แกนนำและเอกสารลับของขบวนการฯ) ผู้เขียนพบว่างานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกปริมาณมหาศาลที่มาจากปากคำของสมาชิก BRN เอง เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทางวิชาการ ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำข้อมูลบางส่วนในวิจัยดังกล่าวมาเผยแพร่ไว้เพื่อประโยชน์ในการเทียบเคียงข้อมูล (cross-check) กับรายงานความมั่นคงที่มีผู้เคยกล่าวถึงก่อหน้านี้

งานวิจัยของ ดร.รุ่งรวี ระบุข้อมูลที่แตกต่างไปจากเอกสารความมั่นคงไทยอยู่บ้าง เช่น ระบุว่า BRN มีสมาชิกก่อตั้งสำคัญ 2 คน คือ วันมูฮัมหมัด รอฟี (อาหมัด บง) อดีตโต๊ะครูปอเนาะพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม) และ อามีน โต๊ะมีนา อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ต่อมาจึงมีผู้เข้าร่วมก่อตั้งเพิ่มที่สำคัญ ๆ อีก 3 คน ได้แก่ อุสตาซการีม/หะยีการิม ฮะซัน เต็งกู ยาลาล นาเซร์ (อดุลย์ ณ สายบุรี) และ ยูซุป ชาปะเกีย

แต่ต่อมา เต็งกู ยาลาล นาเซร์ (เป็นสมาชิกก่อตั้งของ BNPP) และ ยูซุป ได้ตัดสินใจแยกตัวออกไปเพราะอุดมการณ์ของทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (BNPP นิยมเจ้าปัตตานี แต่ BRN เป็นสังคมนิยมและแอนตี้เจ้า) แม้จะมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่ข้อมูลของ ดร.รุ่งรวีและฝ่ายความมั่นคงของไทยมีความสอดคล้องกัน อาทิ บทบาทอย่างสำคัญของ วันมูฮัมหมัด รอฟี(อาหมัด บง) และ อามีน โต๊ะมีนา ซึ่งบุคคลหลังนี้ปัจจุบันครอบครัวของเขาได้ออกมาปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวว่าอามีนไม่เกี่ยวข้องกับ BRN แต่ข้อมูลเชิงลึกคู่ขนานระหว่างของ ดร.รุ่งรวี และฝ่ายความมั่นคงไทยได้ระบุไปในทางสอดคล้องกันยากที่จะปฏิเสธได้

นอกจากนั้น งานวิจัยของ ดร.รุ่งรวี ยังฉายภาพชัดเจนถึงพลวัตรภายในองค์การ BRN โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดทางการเมือง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของไทย (ในปัจจุบัน) ยังเชื่อว่า BRNยังคงดำเนินตามแนวคิดสังคมนิยมอิสลาม (Islamic Socialism) หรือ NASOSI อยู่ไม่เสื่อมคลาย อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงลึกในงานวิจัยชิ้นนี้กลับระบุว่าเป็นความจริงที่ BRN เคยดำเนินรอยตามอุดมการณ์ดังกล่าว เพราะกระแสในช่วงหลายสิบปีก่อนนั้น แนวคิดสังคมนิยมกำลังเป็นกระแสของโลก แม้กระทั่งประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซียก็ยังใช้แนวคิดสังคมนิยมปกครองประเทศ ซึ่ง ดร.รุ่งรวีระบุว่า ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากซูการ์โนก็คือ อุสตาซการีม สมาชิกก่อตั้ง BRN แต่แนวคิดสังคมนิยมอิสลามกลับไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนนายูทั่วไปที่ส่วนมากยังมีความคิดแบบอิสลามดั้งเดิม ทำให้ขบวนการ BRN อ่อนแอมากเพราะขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ (ตามข้อเสนอของ ดร.รุ่งรวี) ปัจจุบัน BRN ได้เปลี่ยนจากแนวทางสังคมนิยมอิสลามที่ดูสุดโต่งเกินไป มาสู่การเคลื่อนไหวที่เน้นแนวคิดและปรัชญาทางศาสนาอิสลามเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ขบวนการมากขึ้น

เมื่อผู้เขียนได้ยกข้อมูล “เชิงลึก” มาให้อ่านดังนี้แล้ว ผู้เขียนหวังใจว่าเราในฐานะประชาชนคนไทย น่าจะรู้จัก “ศัตรู” ของเรามากขึ้น และเมื่อเรารู้จักศัตรูของเรามากขึ้นว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริง วาทกรรมทำนองที่ว่า “เหตุการณ์สงบงบไม่มา” ก็ขอให้เพลา ๆ ลงบ้าง (หรือเลิกไปได้เสียก็ดี) เพราะขณะที่คนไทยหลงระเริงว่าขบวนการก่อการร้ายฯ ไม่มีจริงนั้น เราไม่มีทางรู้หรอกว่าในเวลานี้ “ศัตรูของเรา” ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองไปขนาดไหนแล้ว

อ้างอิง :

[1] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. การเมืองการปกครองและการจัดการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ (ปตานี). 2563.
[2] Rungrawee Chalermsripinyorat. Jihad for Patani : Islam and BRN’s Separatist Struggle on Southern Thailand. 2020.
[3] เอกสารลับฝ่ายความมั่นคง (2552).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า