เผยเบื้องหลังการตัดสินใจเอามลายู เป็นอาณานิคมของอังกฤษ

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ก่อนที่บรรดารัฐต่าง ๆ ในมาเลเซีย จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยสมบูรณ์ ย้อนกลับไปในช่วงรัชกาลที่ 5 ของสยาม อังกฤษในฐานะ “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” (The Empire which the sun never sets) ไม่ได้สนใจดินแดนมลายูเท่าใดนัก เนื่องจากมองว่าการปกครองในเขตปีนังและจังหวัดเวลส์เวลเล่ (Province Wellesley) ที่ยึดมาจากสุลต่านไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 รวมถึงดินแดนเสตรตแซทเทิลเมนต์ (Strait Settlement) หรือเกาะสิงคโปร์ ก็น่าจะเพียงพอต่อการรักษาผลประโยชน์ทางการค้า รวมถึงการกีดกันช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรในเขตคาบสมุทร การเข้าไปแทรกแซงกิจการของบรรดาสุลต่านหรือรายามาเลย์ท้องถิ่น อาจเป็นภาระที่ไม่จำเป็นต่ออังกฤษ

อย่างไรก็ดี มลายูก่อนการปกครองของอังกฤษ เป็นรัฐที่ปกครองด้วยระบอบสุลต่าน (Sultanate) ที่อำนาจสูงสุดเป็นขององค์สุลต่านหรือรายาผู้ปกครองเมือง แต่อำนาจที่แท้จริงกลับตกอยู่ในมือบรรดาขุนนางหรือเจ้าองค์อื่น ๆ ที่โดยมากแล้วต่างมีเขตปกครองเป็นเอกเทศของตัวเอง แต่ก็รวมกันได้เพราะอาศัยพระนามของสุลต่าน ในฐานะผู้ได้รับอำนาจชอบธรรมจากกษัตริย์ในการปกครองพื้นที่ดังกล่าว กล่าวได้ว่า สุลต่านเป็นกษัตริย์เพียงแต่ในนาม อำนาจที่แท้จริงทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การเก็บภาษีล้วนอยู่ในมือบรรดาขุนนางท้องถิ่น เราเรียกระบบจารีตมลายูเช่นนี้ว่า “เกอราจาอาน” (Kerajaan)

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 บรรดารัฐมลายูที่เขตแดนติดกับพื้นที่ที่อังกฤษปกครองอยู่ เริ่มสร้างปัญหาต่อความมั่นคงทางการค้าและความปลอดภัยของ “สัปเยคอังกฤษ” (บุคคลใต้บังคับของอังกฤษ) โดยเฉพาะปัญหาโจรสลัดที่ระบาดแถบคาบสมุทรมลายูตะวันตก พวกโจรสลัดจากเปรัค (Perak) และสลังงอร์ (Selangor) สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ต่อการค้าระหว่างปีนังและสิงคโปร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมักทำการปล้นฆ่าเรือสินค้าภายใต้บังคับอังกฤษ

เอกสารของอังกฤษระบุตรงกันว่า โจรสลัดที่ก่อความวุ่นวายต่อคนในบังคับของอังกฤษ โดยมากแล้วเป็นโจรสลัดมลายูที่มีความเกี่ยวข้องกับบรรดาเจ้าท้องถิ่นต่าง ๆ โดยบรรดาลูก ๆ ของสุลต่านบางคน ทางอังกฤษสืบทราบแน่ชัดว่าเป็นหัวหน้าโจรเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นที่เข้าใจกันดีว่าต่อให้ร้องเรียนไปยังสุลต่านเหล่านั้น พระองค์ย่อมทำอะไรไม่ได้ เพราะระบอบการปกครองแบบมลายูจารีต สุลต่านทรงอ่อนแออย่างมาก

นอกจากปัญหาโจรสลัด ทางปีนังยังเกิดปัญหาคนจีน ที่โดยมากเป็นแรงงานอพยพเพื่อมาทำเหมืองบริเวณเปรัคและสลังงอร์ ได้เกิดการวิวาทแตกออกเป็น 2 พวก ได้แก่ ไฮซาน (Hai san) กับงี่หิน (Ghee hin) ที่มีการจัดตั้งองค์กรลับเพื่อล้างแค้นและก่อความวุ่นวายระหว่างกัน การกระทำเป็นอั้งยี่ในปีนัง ยังแพร่มาถึงเมืองภูเก็ตและระนองในสยาม ช่วงเวลาเดียวกับที่อังกฤษเผชิญอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาเจ้ามลายูท้องถิ่นก็ใช้ประโยชน์จากอั้งยี่จีนในการรักษาผลประโยชน์ของตน อาทิ สงครามแห่งลารุต (Larut) เขตพื้นที่เหมืองแร่ดีบุกอันอุดมในเปรัค ซึ่ง “มนตรีแห่งลารุต” – เงาะห์ อับบราฮิม (Ngah Ibrahim) ที่ปกครองดินแดนแถบนั้นภายใต้พระนามของสุลต่าน ได้ให้การสนับสนุนอั้งยี่กลุ่มไฮซานเพื่อทำศึกกับพวกงี่หิน

ปลายคริสต์วรรษที่ 19 (ราว ๆ ปี 1860 – 70) สถานการณ์ความวุ่นวาย สงครามกลางเมืองในดินแดนมลายู นอกการปกครองของอังกฤษ การรบราฆ่าฟันระหว่างมลายูกับมลายู หรือจีนกับจีน รวมถึงการปล้นของพวกโจรสลัดที่ได้รับการสนับสนุนโดยเจ้ามลายูท้องถิ่น โดยเฉพาะในเปรัคเริ่มรุนแรงเกินกว่าที่รัฐบาลอาณานิคมที่สิงคโปร์จะรับได้ ทำให้อังกฤษเห็นว่าดินแดนมลายูตกอยู่ในสถานะ “อนาธิปไตย” ที่อาจส่งผลกระทบมายังดินแดนในปกครองพวกเขา

เมื่อมีการร้องเรียนจากบรรดาพ่อค้าในดินแดนปีนัง-สิงคโปร์ใต้ปกครองอังกฤษ ถึงความวุ่นวาย ทั้งการกระทำอันเป็นโจรสลัด ทั้งอั้งยี่ (ซ่องโจร) ในเขตเหมืองแร่ มาก ๆ เข้า ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์จึงเกิดความไม่สบายใจ เซอร์ เฮนรี่ ออร์ด (Sir Henry Ord) ผู้ว่าราชการแห่งเสตรตแซทเทิลเมนต์ระหว่าง ค.ศ. 1867-1873 พยายามที่จะรักษาและป้องกันผลประโยชน์ของอังกฤษอย่างเต็มที่ เบื้องต้นได้มีการแต่งตั้งให้เจ้ามลายูบางคนทำหน้าที่เป็นตัวกลาง และสื่อแทนอำนาจของอังกฤษในรัฐสลังงอร์ ที่เกิดปัญหาสงครามกลางเมืองและโจรสลัด

ก่อนที่จะทำอะไรได้มากกว่านั้น รัฐบาลกลางในอังกฤษก็มีนโยบายไม่สนับสนุนการล่าอาณานิคมเพิ่มเติม รวมถึงการแทรกแซงกิจการของคนพื้นเมือง ดังที่ เซอร์ เฮช แคลเล็ตต (Sir H. Kellett) รองผู้บังคับบัญชาทหารเรือในฐานะผู้บัญชาการในเขตเมืองจีน ย้ำนโยบายของรัฐบาลแก่บรรดาเจ้าหน้าที่อังกฤษในสิงคโปร์และเสตรตแซทเทิลเมนต์ ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1871 ความว่า …

“… ฯพณฯ ผู้บัญชาการฯ ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้ามาแจ้งให้ท่านทราบและทำความเข้าใจเสียด้วยว่า นี่เป็นการขัดขืนต่อแนวรัฐประศาสนโยบายและความประสงค์ของรัฐบาลในสมเด็จพระราชินีนาถ ด้วยการแทรกแซงกิจการของรัฐในคาบสมุทรมลายู ดังนั้น การกระทำใด ๆ ต่อแต่นี้ ขอให้งดเสีย …”

แม้รัฐบาลกลางของอังกฤษไม่ต้องการแทรกแซงกิจการของรัฐมลายู แต่ก็มีข้อยกเว้นเดียวที่หากเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้มีเหตุผลในการแทรกแซงกิจการชาวพื้นเมือง ดังที่ เจมส์ ดับเบิ้ลยู. ดับเบิลยู. เบิร์ช (James W. W. Birch) เจ้าหน้าที่อังกฤษในสิงคโปร์ ได้ชี้แจงแก่รัฐบาลอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1872 ความว่า …

“… และในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามรัฐประศาสนโยบาย และความประสงค์ของรัฐบาลในสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเคร่งครัด ในการที่จะไม่แทรกแซงกิจการของดินแดนเหล่านี้ เว้นเสียแต่เกิดเป็นเหตุจำเป็นขึ้น อาทิ การเข้าระงับการกระทำอันเป็นโจรสลัด หรือการลงโทษต่อความก้าวร้าวจองหองที่ (พวกเขา) ได้กระทำต่อคนหรือเขตแดนของเรา …”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐบาลอังกฤษในสิงคโปร์และเสตรตแซทเทิลเมนต์ ไม่สามารถหาหนทางระงับเหตุวุ่นวายในดินแดนมลายูนอกการปกครองของพวกเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเปรัคที่มีปัญหาสั่งสมมาก ทั้งสงครามในเขตลารุต และปัญหาแย่งชิงราชสมบัติของราชวงศ์เปรัค ท้ายที่สุด เซอร์ แอนดรูว์ คลาร์ก (Andrew Clarke) ผู้ว่าราชการแห่งเสตรตแซทเทิลเมนต์ที่เข้ารับตำแหน่งแทนเซอร์ เฮนรี่ ออร์ด ในปี ค.ศ. 1873 ได้ตัดสินใจระงับปัญหาต่าง ๆ ด้วยการเชิญบรรดาสุลต่าน รายา ข้าราชการ ผู้นำชาวจีนอั้งยี่คณะต่าง ๆ ร่วมกันทำข้อตกลง “สนธิสัญญาปังกอร์” (Pangkor Treaty 1874) ในเดือนมกราคม ค.ศ.1874 เพื่อระงับข้อปัญหาต่าง ๆ ในเปรัค เช่น การตั้งสุลต่านพระองค์ใหม่ให้มีความชอบธรรมมากที่สุด โดยให้ผ่านความเห็นของบรรดาสมาชิกราชวงศ์และขุนนาง ท้ายที่สุด รายามูดาอับดุลเลาะห์ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากอังกฤษให้เป็นสุลต่านแห่งเปรัค ผ่านความเห็นชอบจากราชสำนักเปรัค ซึ่งเป็นการยืนยันอำนาจของมนตรีในเขตของเขาว่า ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสุลต่านและอังกฤษ ในการไกล่เกลี่ยและยุติปัญหาระหว่างคณะจีนอั้งยี่

แต่เนื้อหาสำคัญที่สุดในสนธิสัญญาฉบับนี้คือ การที่สุลต่านและบรรดาชนชั้นนำของเปรัค “ยอมรับ” อำนาจของอังกฤษ ด้วยการเห็นชอบให้มี “ผู้สำเร็จราชการ” หรือ“เรสิเดนต์” (Resident) เป็น “คนอังกฤษ” ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดินโดยทั่วไป โดยผู้รับตำแหน่งเป็นคนแรกก็คือ เจมส์ ดับเบิลยู. ดับเบิลยู. เบิร์ช (ที่ต่อมาถูกสังหารด้วยหอกจากผู้นำมลายูที่ต่อต้านเขา) ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้อังกฤษ เข้ามาแสวงหาดินแดนอาณานิคมใหม่ในดินแดนมลายาก็ว่าได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ดินแดนมลายูไม่ใช่เป้าหมายในการยึดครองของอังกฤษเลย

อ้างอิง :

[1] C. Northcote Parkinson. British Intervention in Malaya 1867-1877. (Singapore : University of Malaya Press) 1960.
[2] C.D. Cowan. Nineteenth-century Malaya. (London : Oxford University Press) 1961.
[3] Barbara and Leonard Andaya. A history of Malaysia. 1982.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า