‘กษัตริย์ปัตตานีพระองค์แรกเป็นเจ้าชายสยาม’ เปิดเอกสาร ‘ราชสำนักมะละกา’ โต้ข้อบิดเบือนว่าทางใต้กับสยาม ‘ไม่เคยเกี่ยวกัน’
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัตตานีสมัยใหม่ มักเป็นที่เข้าใจกันว่าการเกิดขึ้นของอาณาจักรปัตตานีที่คาบสมุทรทางใต้กับอาณาจักรอยุธยาในลุ่มภาคกลางของสยามนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นคนละเมืองกันและต่างชาติกำเนิดด้วยกัน
อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่จากงานเขียนของนักชาตินิยมนายูในยุคหลังอันใกล้ [1] และหากเรากลับไปสำรวจงานเขียนหรืองานประพันธ์ในลักษณะพงศาวดารหรือตำนานของราชสำนักมลายูต่าง ๆ อาทิ ฮิกายัต (Hikayat) หรือ เซอจาระห์ (Sejarah) ความเข้าใจของคนยุคปัจจุบันที่ว่าสยามกับปัตตานีเป็น ‘คนอื่นไกล’ ที่แตกต่างกันในทุกด้านจนเรียกได้ว่าไม่ใช่ญาติพี่น้องนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นความจริงเสียเลย กลับกัน เอกสารโบราณของมลายูหลายชิ้นยืนยันว่าสยามและปัตตานีนั้นเป็น ‘พระญาติใกล้ชิด’ กัน เอกสารบางชิ้นถึงกับถือว่าเจ้าเมืองปัตตานีที่เข้ารับอิสลามคนแรกเป็น ‘เจ้าชายสยาม’ เลยทีเดียว
บทความนี้เพื่อให้ปลอดจากทัศนคติของงานเขียนฝั่งไทย ผู้เขียนจึงประสงค์จะเล่าความเข้าใจ (perception) ข้างต้น ผ่านมุมมองของชาวมลายูผ่านเอกสารที่ชาวมลายูจดบันทึกและเขียนขึ้นอย่างเดียว และพยายามจะไม่ใช้เอกสารของสยาม/ไทยในการนำมาเขียนเลยเพื่อให้ปลอดจากข้อครหาจากพวกนักชาตินิยมนายูว่าละเลยหลักฐานจากปากคำของชาวมลายู ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จึงเป็นเรื่องของปากคำของชาวมลายูล้วน ๆ ดังจะกล่าวต่อไป
พระราชพงศาวดารมะละกา หรือ เซอจาระห์ มลายู (Sejarah Melayu) เป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดในโลกมลายู [2] เนื่องจากเป็นแบบแผนของการเขียนราชพงศาวดารของโลกมลายูทั่วไป ไม่ว่าจะทั้งราชสำนักกลันตัน ปัตตานี ไทรบุรี หรือเดลี เชื่อกันว่าเอกสารชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงก่อนหรือหลังเหตุการณ์มะละกาแตกเล็กน้อย (เพราะการโจมตีของโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1511 ตรงกับสมัยต้นอยุธยาของไทย) เอกสารชิ้นนี้จึงมีความน่าเชื่อถือพอสมควรทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเอกสารประเภทตำนาน/พงศาวดารมลายูที่เก่าแก่ที่สุด จึงทำให้เหตุการณ์ร่วมสมัย (contemporary) ที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้มีความน่าเชื่อถืออย่างสูง เพราะยังไม่ได้ถูกเจือปนด้วยทัศนคติหรือความเห็นของคนสมัยหลัง
กรณีการก่อตั้งปัตตานีนั้น เซอจาระห์ มลายู ได้กล่าวถึงไว้อย่างพอประมาณ และที่น่าสนใจคือราชสำนักมะละกาถือว่าเจ้าศรีวังสา (Chau Sri Bangsa) กษัตริย์ปัตตานีที่เข้ารับอิสลามคนแรกเป็นเจ้าชายชาวสยาม (Siamese prince) สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้ สามารถจับใจความได้ว่า
“เจ้าศรีวังสา ซึ่งเป็นเจ้าชายสยาม ได้วางแผนเข้าโจมตีเมืองโกตามหลิฆัยหรือปัตตานี กษัตริย์ของโกตามหลิฆัยในเวลานั้นคือรายาสุไลมาน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนั้น เจ้าศรีวังสาได้ให้คำมั่นต่อคนของพระองค์ว่า หากพระองค์มีชัยเหนือรายาสุไลมานแล้วไซร้ จะทรงเปลี่ยนมานับถืออิสลาม และท้ายที่สุดรายาสุไลมานแห่งโกตามหลิฆัยก็ได้พ่ายแพ้แก่เจ้าศรีวังสาตามประสงค์ ต่อมาพระองค์ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามที่ทรงได้ให้สัตย์ไว้ และเปลี่ยนพระนามมาเป็นสุลต่าน ศรี อะหมัด ชาห์” [3]
เรื่องเล่าในเซอจาระห์ มลายู ที่ว่าเจ้าศรีวังสาเป็นเจ้าชายสยามนี้ เอกสารของราชสำนักปัตตานี ได้แก่ ฮิกายัตปัตตานี (Hikayat Patani) ก็ยอมรับความสัมพันธ์ที่ว่านี้ไว้ด้วยแม้จะไม่ได้กล่าวถึงอย่างตรง ๆ ก็ตาม ในตอนต้นของฮิกายัตปัตตานีนั้นระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บรรพบุรุษแห่งกษัตริย์แห่งโกตามหลิฆัยพระองค์หนึ่ง ได้ขึ้นไปช่วยสร้างเมืองอยุธยาพร้อมด้วยข้าบริวารจำนวนหนึ่ง [4] โดยเอกสารของปัตตานีเรียกอาณาจักรอยุธยาว่า ‘กากาติบูย่า’ [5] และที่สำคัญ สุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ แห่งปัตตานี ถึงกับตรัสออกจากพระโอษฐ์ขณะถามขุนนางว่า
“…ท่านคิดอ่านอย่างไรหากเราจะไปเยือนอยุธยา กษัตริย์อยุธยากับเราหาใช่คนอื่นไกล และทั้ง 2 ราชอาณาจักรก็ได้จำเริญขึ้นนับแต่นี้…” [6]
โดยใน ฮิกายัตปัตตานีฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 (2471) นั้น สุลต่านได้เรียกขนานนามกษัตริย์อยุธยาว่า ‘บาร์จู’ (Prachua) ซึ่งเพี้ยนมาจากคำไทยว่า ‘พระเจ้า (พี่)’
และยังระบุต่อไปด้วยว่า สุลต่านมูซัฟฟาร์นั้นถือว่าพระองค์เป็นพระญาติสนิทกับกษัตริย์อยุธยาเนื่องจาก ‘บาร์จูเกี่ยวดองเป็นญาติกับเราด้วย’ [7] แนวคิดการนับดองกษัตริย์อยุธยาเป็นพระญาตินี้สืบเนื่องมาถึงสุลต่านมันโซร์ชาห์ ก็ทรงถือเช่นกันว่ากษัตริย์อยุธยาคือพระญาติของพระองค์ (‘ข้ามีความยินดีเหมือนได้เห็นญาติเราที่กรุงสยาม’)
แนวคิดเรื่องความเป็นญาติเกี่ยวดองกันระหว่างสยาม (อยุธยา) และปัตตานีนี้ ได้รับการตอกย้ำจากเอกสารของมลายูอีกชิ้นหนึ่งด้วย นั่นก็คือ Hikayat Merong Mahawangsa หรือพระราชพงศาวดารของราชสำนักไทรบุรี ที่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ากษัตริย์ไทรบุรี อยุธยา และปัตตานี สืบเชื้อสายมาจากปฐมราชวงศ์เดียวกัน [8] ดังนั้น ในความเห็นของราชสำนักมลายูทั้งปัตตานี มะละกา และไทรบุรี ราชวงศ์ปัตตานีนั้นเป็นญาติสนิทของกษัตริย์ในอยุธยาอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้ว่าราชวงศ์ปัตตานีศรีวังสาอาจจะเป็นชาวสยามแต่ดั้งเดิมก่อนเปลี่ยนมาเข้ารีตมลายูภายหลังมีความสนิทสนมกับมะละกาด้วย
จะเห็นได้ว่าหากเรากลับมาใช้เอกสารมลายูเพื่อสำรวจตรวจสอบความเข้าใจและการรับรู้ของโลกมลายูต่อปัตตานี เอกสาระสำคัญของโลกมลายูเหล่านี้ทุกชิ้นชี้ไปในทางเดียวกันว่า ราชวงศ์ศรีวังสาปัตตานีนั้นมีความสัมพันธ์กับอยุธยาอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น เอกสารของราชสำนักมะละกาที่ถือว่าเป็น ‘มลายู’ อย่างที่สุด (เพราะมะละกาคือรัฐที่ประกาศว่าเป็นรัฐมลายูรัฐแรกบนโลกและส่งออกแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวออกไปยังปัตตานีและไทรบุรี) ก็กล่าวอย่างชัดเจนว่าเจ้าศรีวังสา กษัตริย์ปัตตานีพระองค์แรกที่รับอิสลามคือ ‘เจ้าชายสยาม’
การปฏิเสธข้อมูลชุดนี้จึงกระทำได้ยาก เพราะเท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธข้อมูลที่มาจากเอกสารชั้นต้นจากปากคำของชาวมลายูเอง คงเป็นเรื่องแปลกที่นักชาตินิยมนายูบางคนจะเลือกหยิบแต่ประเด็นปลีกย่อยที่ไม่ได้เป็นเนื้อหาสำคัญจากเอกสารชั้นต้นเหล่านี้ และปฏิเสธเนื้อหาอันเป็นแก่นแกนหลักของเรื่องเล่า ด้วยเหตุนี้ การยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากต้องการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เราก็จำจะต้องรับความจริงตรงนี้ให้ได้
อ้างอิง :
[1] โปรดดู อารีฟีน บินจิและคณะ. ปาตานี : ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. 2550.
[2] Muhammad Haji Salleh. Ayudhya in The Sejarah Melayu. in Ayudhya and Asia (Proceeding for the international workshop. 18-20 December 1995.
[3] Muhammad Haji Salleh. Ayudhya in The Sejarah Melayu. in Ayudhya and Asia (Proceeding for the international workshop. 18-20 December 1995. Pp. 130 – 131.
[4] A. Teeuw and David K. Wyatt. Hikayat Patani : the story of Patani. Pp. 147.
[5] ประวัติเมืองปัตตานี หรือ ฮิกายัตปัตตานีฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 (2471).
[6] A. Teeuw and David K. Wyatt. Hikayat Patani : the story of Patani. Pp. 155.
[7] ประวัติเมืองปัตตานี หรือ ฮิกายัตปัตตานีฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 (2471).
[8] ไทรบุรีเรียกว่า ‘สยามรัฐ’ โปรดดู ตำนานเมืองไทรบุรีและเมืองปัตตานี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวิจิตร นะมาตร์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 17 กุมภาพันธ์ 2509. หน้า 31.