เปิดลายพระหัตถ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หลักฐานยืนยันว่าท่านไม่เคยคิดยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) เป็นพระราชโอรสของในหลวง ร.5 ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง หลังประสูติได้ 11 วัน พระมารดาก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงรับไว้ในอุปการะ โดยทรงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งมีพระชันษาใกล้เคียงกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เหมือนกับพระราชโอรสของพระองค์เอง
กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นผู้มีความสามารถในด้านเภสัชกรรมสมัยใหม่ โดยทรงเข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญคือ อธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรกของประเทศไทย ในสมัย ร.6 และยังทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาวิชา “เภสัชกรรม” ในปัจจุบันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ใช้นโยบาย “เหวี่ยงแห” กำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างไม่เลือกหน้า ตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเหยื่อทางการเมืองของคณะราษฎร มีตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา พ่อค้า นักการเมือง คณะราษฎรด้วยกันเอง ข้าราชการ ขุนนางผู้มีความสามารถในระบอบเก่า รวมถึงเจ้านายชั้นสูงบางพระองค์ด้วย
และหนึ่งในบรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ตกเป็นเหยื่อการเมืองของคณะราษฎร คือ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ซึ่งถูกปรักปรำในข้อหา “กระทำความผิดฐานกบฏเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยใช้กำลังบังคับ”
กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ถูกรัฐบาลจับกุมตัวในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ขณะทรงรถไฟด่วนกลับกรุงเทพฯ หลังจากเสด็จเชียงใหม่และลำปาง พระองค์ถูกคุมตัวที่สำนักตำรวจพระราชวัง และเมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทราบข่าวเข้าก็ตกพระทัยและทรงพยายามนำเอาทรัพย์สินต่างๆ มาเป็นหลักประกันให้กรมพระยาชัยนาทนเรนทร แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะรัฐบาลคณะราษฎรยืนกรานที่จะคุมขังพระองค์อย่างเด็ดขาด
เหตุการณ์นี้ทำให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า …
“เขา (รัฐบาลคณะราษฎร) จะแกล้งฉันให้ตาย ฉันไม่รู้ว่าฉันจะอยู่ไปทำไม ลูกตายไม่ได้น้อยใจช้ำใจเหมือนครั้งนี้เลยเพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว”
สำหรับการพิจารณาคดีกรมพระยาชัยนาทนเรนทรนั้น มีการใช้ “ศาลพิเศษ” ซึ่งเป็นศาลการเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้มีทนายในการต่อสู้คดี เหมือนกับอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด โดยผู้ที่เป็นต้นคิดอยู่เบื้องหลังศาลพิเศษนี้ก็คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง
ส่วนหลักฐานที่ถูกนำมาใช้ปรักปรำกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ก็มีมากมายตามแต่คณะราษฎรจะสรรหามา ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่า การที่กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงจัดงานเลี้ยงบ่อยๆ ที่วังวิทยุของพระองค์นั้น ก็เพื่อเป็นการ “หาแนวร่วมในการวางแผนก่อกบฏ” หรือการที่กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เสด็จต่างประเทศบ่อยๆ ในเวลานั้น ก็เพื่อเป็นการติดต่อประสานงาน ระหว่างเครือข่ายต่อต้านคณะราษฎรในประเทศ กับเจ้านายไทยบางพระองค์ที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลคณะราษฎร มีความหวาดระแวงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ประทับอยู่เกาะชวา อาณานิคมของดัชต์มากที่สุด
แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ การกล่าวว่ากรมพระยาชัยนาทนเรนทร ต้องการทูลเชิญให้ในหลวง ร.7 ซึ่งในเวลานั้นทรงสละราชสมบัติไปแล้วและประทับอยู่ที่อังกฤษ ให้กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้ง
ข้อกล่าวหาโดยศาลพิเศษของคณะราษฎรนี้ เป็นการกล่าวหาที่ชั่วร้ายที่สุด เพราะเท่ากับเป็นการหาว่ากรมพระยาชัยนาทนเรนทร ต้องการที่จะปลดในหลวง ร.8 ซึ่งเป็นพระราชนัดดาที่กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงสนิทสนมและให้ความเคารพอย่างสูงออกจากการเป็นยุวกษัตริย์ และคืนพระราชบัลลังก์ให้แก่ในหลวง ร.7 แทน ทั้งที่ข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย
ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ศาลพิเศษได้ตัดสินว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มีความผิดจริง และได้กำหนดโทษประหารชีวิต แต่ด้วยคุณงามความดีที่ผ่านมา ศาลจึงลดหย่อนโทษให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต และถอดจากฐานันดรศักดิ์ จากเจ้านายเป็น “นักโทษชายรังสิต” แทน และให้นำตัวไปกักขังไว้ที่คุกบางขวาง
ซึ่งในขณะที่ถูกคุมขังนี้เอง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรได้มีลายพระหัตถ์ไปถึงหม่อมหลวงแต๋ว สนิทวงศ์ โดยทรงเผยความในพระทัยว่า …
“… แต่วันนี้ไปศาลก็นอนไม่ได้มักจะรู้สึกง่วงๆ มึนๆ แต่พอสายก็หาย แล้วบ่ายไม่ง่วง แต่วันนี้ง่วงทั้งเช้าทั้งบ่าย เป็นเพราะเบื่อด้วยฟังพยานพูดเรื่องซ้ำๆ บ้าง เรื่องไม่อยากฟังไม่สนใจไม่ชอบบ้าง ฟังเทศน์ทางศาสนาดีกว่ามาก จับใจน่าฟังได้ประโยชน์เพลินดี แต่ฟังเรื่องการเมืองยุ่งๆ ที่แล้วมา เบื่อเหลือทน ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยอยากรู้ด้วย …”
จากข้อความลายพระหัตถ์ข้างต้น เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่า โดยแท้จริงแล้ว กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงไม่โปรด และไม่เคยคิดยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองเลย ดังนั้น การที่ทรงถูกปรักปรำว่า พยายามเล่นการเมืองด้วยการคิดวางแผนล้มรัฐบาลคณะราษฎรนั้น จึงเป็นเรื่องที่ “ไม่น่าเชื่อถือ” อย่างยิ่ง พูดง่ายๆ คือเป็นการโกหกหลอกลวง เพื่อกระชับอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรล้วนๆ
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษการเมืองทั้งหลาย กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จึงได้ถูกปล่อยตัวในเวลานั้น และได้พระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์กลับมาตามเดิม ในปี พ.ศ. 2487
กรมพระยาชัยนาทนเรนทร คือเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ผู้สร้างคุณูปการต่างๆ มากมายให้กับประเทศ และไม่เคยคิดยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย แต่กลับถูกใส่ร้ายปรักปรำ ด้วยคำกล่าวหาที่ชั่วร้ายของศาลพิเศษคณะราษฎร ซึ่งในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ไทยผู้มีชื่อเสียง อาทิ วรชาติ มีชูบท, แถมสุข นุ่มนนท์ และ ม.ล.ชัยนิมิต นวรัตน ต่างก็ยอมรับว่า ศาลพิเศษของคณะราษฎร เป็นศาลการเมืองที่ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ ทั้งสิ้น และจัดตั้งขึ้นมาเพื่อจำกัดผู้เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น
และแม้กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ในปัจจุบันท่านยังถูกนำมากล่าวอ้างและใส่ร้ายโดยนักวิชาการเลี้ยงแกะ ด้วยการบิดเบือนข้อมูลอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ของตน จนทำให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดความเกลียดชัง สร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ล่วงลับ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องน่าละอาย และเป็นจุดด่างพร้อยที่สุดในแวดวงวิชาการ
อ้างอิง :
[1] หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต, เกิดวังไม้. (กรุงเทพฯ : 2556) อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซชิ่ง จำกัด.
[2] หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต (เรียบเรียง). ไปเมืองนอกครั้งแรก : พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร. (กรุงเทพฯ : 2548) อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ จำกัด.