เปิดร่องรอยหลักฐาน การก่อร่างของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ในสมัย รัชกาลที่ 4
เป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า แนวคิดเกี่ยวกับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นมาจากนักเรียนสยามกลุ่มหนึ่งในฝรั่งเศสช่วงคาบเกี่ยว พ.ศ. 2475 ซึ่งเรารู้จักพวกเขาในเวลาต่อมาว่า “คณะราษฎร” หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้น บางคนก็บอกว่าแนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากกลุ่ม กบฏ ร.ศ.130
แต่จากเอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีหลักฐานยืนยันว่า ร่องรอยความรู้ของสยามเกี่ยวกับการปกครอบระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น มีมาตั้งแต่สมัย ร.4
ในยุคนั้น แม้สยามยังใช้ระบบไพร่ทาสในการจัดระเบียบสังคม แม้ผู้คนทั่วไปจะยังไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง แต่ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวถ้าจะด่วนสรุปว่า รูปแบบการปกครองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย จะไม่มีการรับรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสังคม
มีหลักฐานระบุว่า ในหลวง ร.4 ทรงมีความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้งที่ดีพอสมควร จากการที่สยามเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากบันทึกของ Townsend Harris นักการทูตชาวอเมริกันที่เดินทางมาเจรจาสนธิสัญญากับราชสำนักสยาม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 เขาได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.4 เป็นการส่วนพระองค์พร้อมคณะ หลังการดื่มอวยพรให้แก่ประธานาธิบดี Franklin Pierce ของสหรัฐอเมริกาแล้ว ในหลวง ร.4 ทรงถามแฮร์ริสว่า …
“การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นเมื่อไหร่ [และ] เมื่อใดที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง”
คำถามเปิดบทสนทนานี้ เผยให้เห็นความรู้เบื้องต้นของพระองค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะทรงได้รับการถ่ายทอดมาจากพวกหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่ทรงคบหาฉันท์มิตรสหายอย่าง Dan Beach Bradley และ Jesse Caswell
ร่องรอยความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เริ่มปรากฏชัดขึ้นในปี พ.ศ. 2401 เมื่อขุนนางผู้ทำหน้าที่ทางตุลาการในตำแหน่ง “พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์” กับ “พระมหาราชครูมหิธร” เสียชีวิตลง ในหลวง ร.4 ทรงเกิดความคิดที่จะนำการเลือกตั้งมาใช้หาตัวบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งแทนเป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่แค่ทรงหารือเจ้านายกับเสนาบดี 5-6 คนแล้วทรงตัดสินพระทัยแต่งตั้งเลย
ในการทดลองที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ พระองค์ทรงออกประกาศให้พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบรรดาข้าราชบริพารตั้งแต่ระดับหลวงขึ้นไป ส่งชื่อบุคคลที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมกับตำแหน่งมาถวายภายใน 7 วัน เพื่อจะได้แต่งตั้งตามความต้องการของคนส่วนมาก เหตุเนื่องจาก “ทรงทราบว่า ในประเทศอื่นๆ เมื่อผู้ครองแผ่นดินจะตั้งผู้ตัดสินความ ก็ย่อมให้คนทั้งปวงเลือก แล้วจดหมายชื่อเข้ามาส่งต่อเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานสอบดูถ้ามีคนชอบใจท่านผู้ใดมาก ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ตัดสินคดีของราษฎร”
และจากการที่ทรงห่วงว่า การเลือกตั้งยังเป็นของใหม่ ในหลวง ร.4 จึงทรงอธิบายแกมกำชับในประกาศด้วยว่า …
“… มิได้บังคับว่า ให้เลือกเอาแต่ข้าราชการในพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง ถึงข้าเจ้าบ่าวข้าราชการ ถ้าเห็นว่ามี [สติปัญญา] ควรจะเป็นที่ตัดสินความโดยสัตย์โดยธรรม์ตามพระราชกำหนดกดหมายให้สิ้นสงไสยชอบใจแก่คนทั้งปวงได้ ก็ให้เขียนชื่อส่งมอบให้อาลักษณ์ผู้เอาโครงจดหมายไปถามหา … โปรดเกล้าฯ ว่า อย่าให้คิดรังเกียจสงไสยว่าจะทรงล่อล่วงล้อเลียนอย่างได้อย่างหนึ่งเลย แลอย่าได้คิดรั้งรอว่า เมื่อจะเลือกผู้นั้นๆ เข้าไปตามใจตัวจะไม่ถูกพระกระแสดอกกระมังก็ดี แลว่าจะเลือกเข้าไปแล้วจะไม่ได้เป็นดังว่า เข้าไปจะต้องอายเขาดอกกระมัง เช่นนึกอย่างเก่าๆ อย่างนี้ขอเสียเถิด นิไสยใจคนต่างๆ กัน ก็คงจะเลือกชอบใจต่างๆ …”
แม้จะเป็นการเลือกตั้งเฉพาะกิจแค่เพียงหนเดียว และไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยสำคัญ แต่การทดลองของในหลวง ร.4 ก็สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะส่วนพระองค์ เกี่ยวกับแนวคิดเบื้องต้นในการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยกระบวนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยอาศัยการเลือกตั้งในวงจำกัด
ทัศนคติในเชิงบวกของพระองค์ ยังสอดคล้องกับความคิดเห็นที่พระองค์ทรงแสดงออกผ่านเอกสาร ที่ทรงเขียนขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 นั่นคือ “พระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแสดงความขอบคุณต่อทางสหรัฐอเมริกา ที่ได้ส่งของขวัญหลายชิ้นมาถวายตามธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนสิ่งของบรรณาการระหว่างประมุขแห่งรัฐ โดยมีถ้อยความตอนหนึ่งในพระราชสาส์น ที่ยกย่องวิธีการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างตรงไปตรงมา ความว่า …
“และซึ่งในแผ่นดินยุไนติศเตศอเมริกา มีขนบธรรมเนียมตั้งไว้และสืบมาแต่ครั้งปริไสเดนต์ ยอดวัดชิงตัน (George Washington) ให้ราษฎรทั้งแผ่นดินพร้อมใจกันเลีอกสรรบุคคลที่ควรจัดไว้เป็นชั้น และตั้งให้เป็นปริไสเดนต์ใหญ่และปริไสเดนต์รอง … เป็นคราวกำหนดเพียง 4 ปี และ 8 ปี และให้ธรรมเนียมนี้ยั่งยื่นอยู่ได้ ไม่มีการขัดขวางแก่งแย่งแก่กันด้วยผู้นั้นๆ จะช่วงชิงอิศริยยศกันเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดังเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นอยู่เนืองๆ นั้นได้ ก็เห็นว่าเป็นการอัศจรรย์ยิ่งนัก เป็นขนบธรรมเนียมที่ควรจะสรรเสิญอยู่แล้ว”
แม้ว่าเนื้อหาที่ยกย่องระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาอาจเป็นเพียง “ภาษาทางการทูต” ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้เกียรติ โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายเป็นชาติมหาอำนาจที่เจริญกว่ามาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังแสดงให้เห็นถึงร่องรอยความคิดในการยอมรับความเป็นไปได้ของระบบการเลือกตั้ง ที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นในยุคของในหลวง ร.4
และกรณีที่น่าสนใจที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นการเผยแพร่ความรู้เรื่องการเมืองการปกครองผ่านทาง “หนังสือจดหมายเหตุฯ” หรือ “เดอะบางกอกรีคอร์ดเดอร์” (The Bangkok Recorder) หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ แดน บีช แบรดลีย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสยามมาเกือบ 3 ทศวรรษ
หมอบรัดเลย์ เริ่มต้นแปลรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา แล้วทยอยนำลงตีพิมพ์ใน “หนังสือจดหมายเหตุฯ” ซึ่งแน่นอนว่า เนื้อหาย่อมมีการพูดถึงระบบการเลือกตั้ง ไม่เฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น แต่รวมถึงตำแหน่งผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกด้วย แถมครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียง ไปจนถึงการเลือกตั้งซ่อมอีกด้วย
โดย “หนังสือจดหมายเหตุฯ” นี้มีผู้สมัครเป็นสมาชิกมากมาย ทั้งที่เป็นเจ้านายและขุนนาง เช่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม, หม่อมราโชทัย, พระยาอภัยสงคราม, หลวงภาษีวิเศษ, หลวงนาวาเกณิกร ฯลฯ รวมถึงสามัญชนอีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี การพิจารณาร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ไม่ได้เป็นการกล่าวสรุปว่า ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ร.4 เนื่องจากสภาพการปกครองและระบบสังคมยังไม่ได้เป็นเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง แต่ในทางกลับกัน เรากำลังพิจารณาร่องรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยในฐานะผู้ปกครอง มีความคิด วิสัยทัศน์ หรือมีความรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โลกตะวันตกอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิจารณาร่องรอยเหล่านี้ จะเป็นจุดชี้วัดว่าในช่วงเวลาต่อมา ผู้ปกครองสยามมีท่าทีอย่างไรต่อระบบสังคม การเมือง และวัฒนธรรม
ซึ่งหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มเผยแพร่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับแปลของหมอบรัดเลย์ มาถึงท่าทีของในหลวง ร.4 ต่อคณะทูต ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งตั้งขุนนางผู้ทำหน้าที่ทางตุลาการ ล้วนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า แนวคิดเรื่องการเลือกตั้งในสังคมสยามอันเป็นหนึ่งในรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย ได้เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาแล้วตั้งแต่ยุคสมัยของในหลวง ร.4
ที่มา :
[1] Harris, T. (1930). The complete journal of Townsend Harris, first American consul and minister to Japan. New York: Double, Doran & Company.
[2] Algie, J. et al. (2014). Americans in Thailand. Singapore: Editions Didier Millet.
[3] หอสมุดแห่งชาติ (หสช.), จดหมายเหตุ ร. 4 เลขที่ 63 (จ.ศ. 1220).
[4] Moffat, A. L. (1968). Mongkut, the king of Siam. Ithaca: Cornell University Press.
[5] National Archives and Records Administration, United States (NARA), 6923531
[6] จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ (2521). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
[7] อัศศิริ ธรรมโชติ (ตุลาคม 2524). “สมาชิก ‘บางกอกรีคอร์เดอร์’ หนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์.” ศิลปวัฒนธรรม.