เปิดประวัติ “กริช” ในราชสำนักสยาม มิติที่มากกว่าแค่อาวุธ และย้อนดูการเหน็บกริช เทรนด์ฮิตของคนไทยในอดีต
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
กริช จัดเป็นอาวุธประเภทมีด 2 คม มีทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว มีทั้งแบบใบตรงและใบคดเป็นลูกคลื่น อาจมึตั้งแต่ 3 คด ไปจนถึงหลายสิบคด อีกทั้งความวิจิตรพิสดารในการทำด้ามและฝักของกริช ซึ่งแตกต่างกันไปตามหมู่ชน และฐานะของผู้เป็นเจ้าของ ด้วยลักษณะเฉพาะของกริชนี้เอง ทำให้อาวุธชนิดนี้มีความแตกต่างกับอาวุธชนิดอื่นที่ใช้ประหัตประหารเพียงอย่างเดียว จึงทำให้กริชเป็นมากกว่าอาวุธ กล่าวคือ เป็นทั้งเครื่องประดับ เป็นเครื่องแสดงสถานะของเจ้าของ รวมถึงเป็นของขวัญหรือบรรณาการอันสูงค่าเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยหรือสยามในอดีตนั้น มีการรับรู้เรื่องกริชมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ทั้งจากภาพจิตรกรรม ภาพแกะบานประตูวัด และบันทึกต่าง ๆ การใช้กริชในราชสำนักสยามมีหลักฐานจากภาพวาดว่าคณะทูตสยามสมัยสมเด็จพระนายรายณ์มหาราชที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสต่างเหน็บกริชแทบทั้งสิ้น วัฒนธรรมกริชของสยามอาจได้รับมาจากชวา มลายู หรือ แขกจาม ซึ่งสยามในเวลานั้นได้มีความสัมพันธ์ทั้งการเมือง การค้า การสงครามกับชนชาติข้างต้นมาโดยตลอด
ในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีหลักฐานต่อมาว่ากริชได้ถูกกล่าวถึงในบทประพันธ์ อาทิ อิเหนา ซึ่งอิงกับการเล่าเรื่องแบบชวา แม้แต่ในบทประพันธ์ขุนช้างขุนแผนก็ยังเคยกล่าวถึงกริชด้วย สำหรับชาวสยามภาคใต้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้พัฒนารูปแบบด้ามและฝักของกริชที่ได้รับมาจากชวามาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนกลายเป็นกริชที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นของตัวเอง นั่นคือ กริชหัวนกพังกะ หรือ กริชสกุลช่างสงขลา-นครศรีธรรมราช ชาวมลายูในดินแดนปตานีภายใต้การปกครองของสยามเองก็ได้นำรูปแบบกริชนกพังกะของชาวสงขลา-นครศรีธรรมราช ไปพัฒนาต่อยอดจนวิจิตรพิสดารกว่าจนกลายเป็นกริชหัวนกพังกะแบบสกุลช่างปัตตานี ทั้งนี้กริชทั้ง 2 สกุลนี้พบได้ในพื้นที่ประเทศไทยและในพื้นที่มาเลเซียบางส่วนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามเท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งชาวสยามและชาวมลายูในภาคใต้นิยมพกกริชในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งนี้กริชได้ถูกจัดทำขึ้นจำนวนมากในรัชสมัยนี้ไปจนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 6 จนเกิดเป็นค่านิยมว่าการที่ผู้ชายจะไปไหนมาไหนจำเป็นต้องเหน็บกริชไปด้วย หรือการใช้กริชในพิธีแต่งงาน อาทิ เจ้าบ่าวไทยพุทธในเขตจังหวัดพัทลุง ตรัง และสงขลาในอดีต กระทั่งวัฒนธรรมการใช้กริชได้เริ่มเสื่อมความนิยมลงไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามาของอาวุธปืนซึ่งทรงประสิทธิภาพมากกว่า
สำหรับเรื่องราวของกับกริชที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ กริช ได้ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของตราอาร์มหรือตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรก โดยปรากฏเป็นกริชไขว้คู่กัน 2 เล่มหมายแทนหัวเมืองมลายูในการปกครองของสยาม และนอกเหนือจากนี้เป็นการค้นพบจากข้อเขียนและภาพถ่ายต่างวาระและเวลา จากเท่าที่สืบค้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอเรื่องราวของกริชที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและราชสำนักสยาม ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยทราบและไม่คาดคิดว่าจะเกี่ยวข้องกันได้
พระราชนิพนธ์ของในหลวงจุฬาลงกรณ์เกี่ยวกับกริช
ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน ร.ศ.115 พระองค์ได้ทรงบันทึกตั้งแต่ วัน เวลา สถานที่ สภาพภูมิศาสตร์ กิจกรรม ผู้คน รวมถึงวัตถุสิ่งของในช่วงประพาสชวาครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด โดยทรงบรรยายถึงกริช ว่า …
“กฤชนี้นับเปนปุศบากะ อย่างหนึ่ง… กฤชที่สำคัญ ๆ ผู้อื่นจะชำระไม่ได้สุลต่านต้องชำระเอง ใครจะอยู่ด้วยที่นั่นไม่ได้ กฤชแต่ละเล่ม ๆ มักมีเรื่องราวพงศาวดารยืดยาว…มีปาฏิหาริย์ต่าง ๆ เช่นกับชักออกต้องกินเลือดเปนต้น… ฟังดูตามที่พูดนั้น ว่ากฤชได้เกิดใช้ขึ้นเมื่อครั้งยังเปนปันหยีสุริยอมิเสสาวงศเมงดังกามูลัง ศักราชชวา 1000 ปีเศษ … กฤชครั้งนั้นเรียกว่ากฤชฮินดูมักจะใช้ด้ามเปนเทวรูป กฤชชวาชั้นถือสาสนามหหมัด ก็ใช้ด้ามเลียนแบบเทวรูปนั้นเอง แต่ยักให้รูปร่างไม่เปนเรื่องเช่นกับหุ่นหรือหนังเพราะสาสนาห้าม…”
จากนั้นพระองค์ได้ทรงบรรยายถึงตำนานและการเข้ามาของศาสนาอิสลามในชวาอันทำให้ช่างกริชที่ไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูไปเป็นอิสลามต้องอพยพลี้ภัยไปเกาะบาหลีซึ่งตั้งห่างออกไป จะเห็นได้ว่านอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสนพระทัยประวัติและตำนานของกริชแล้ว ทรงได้แทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับหลักการไม่นับถือรูปเคารพของชาวมุสลิมด้วย อีกทั้งได้ทรงพูดถึงประวัติศาสตร์ของชวาโบราณก่อนสมัยอาณานิคมซึ่งคาดกันว่าพระองค์คงได้รับการซึมซับการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้มาจากบทประพันธ์ที่ได้รับอิทธิพลจากชวา-มลายู อาทิ อิเหนาหรือปันหยีซึ่งแพร่หลายในสังคมสยามมาเป็นเวลานานแล้ว สำหรับวิธีการชำระล้างใบกริชนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบรรยายต่อมาขณะแวะพักที่เมืองกลันตันในคาบสมุทรมลายู ว่า …
“ดูกฤชที่มีอยู่อันหนึ่งว่างามนัก ถูกแดดเปนรัศมีต่าง ๆ พระยาเดชารักนักเหน็บไม่ขาดแต่บอกให้เรา เราบอกเอาไว้เถิดไม่ต้องการ แล้วสนทนากันถึงเรื่องชำระกฤชเขาว่าให้เอามนาวถูเสียก่อนจนสนิมหมดแล้วให้เอาสารหนูกับน้ำมนาวต้มพอให้เดือดแล้วทาลูบไปด้วยมือจนกว่าจะเข้าเนื้อสัก 5 ชั่วโมงหรือ 6 ชั่วโมงแล้วล้างด้วยน้ำมะพร้าวหรือน้ำท่าก็ได้แต่ห้ามไม่ให้ถูกแดดถูกลม ถ้าจะชำระให้ชำระเวลาเช้า ถ้าถูกแดดถูกลมมักจะแห้งเร็วทำให้ด่างดำพร้อยขึ้น…”
การใช้กริชเป็นเครื่องแสดงสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในจุฬาลงกรณ์สมัย
กริชได้ถูกจัดเป็นเครื่องราชบรรณาการหรือสิ่งของที่พระมหากษัตริย์สยามได้พระราชทานไปยังต่างประเทศหลายครั้ง ซึ่งในสมัยก่อนในหลวงจุฬาลงกรณ์นั้นปรากฎหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เป็นพระราชบิดาได้ทรงเคยพระราชทานกริชไปยังควีนส์วิคตอเรียแห่งอังกฤษ และประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ของสหรัฐอเมริกา ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ไม่พบหลักฐานว่ามีการพระราชทานกริชไปยังประเทศอื่นในฐานะเครื่องบรรณาการอีกต่อไป แต่ปรากฎหลักฐานว่ามีการพระราชทานกริชแก่จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ในวาระเยือนประเทศสยาม พ.ศ.2434 กริชเล่มนี้เป็นกริชอย่างมลายู ใบมี 7 คด ด้ามและฝักบุด้วยทองคำสลักดุนลายอย่างไทยสวยงาม
การใช้กริชประกอบพระราชพิธีโสกันต์พระราชนัดดาของในหลวงจุฬาลงกรณ์
สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าในสยามนั้น เมื่อถึงแก่พระชันษาที่เหมาะสมแก่การเข้าพิธีโสกันต์ หรือ ประเพณีโกนจุกของเจ้าฟ้า มักจะประกอบพิธีอย่างใหญ่โตมีเครื่องทรงองค์ประกอบมากมายเหตุเพราะเป็นพระราชเพณีที่สำคัญมากซึ่งปรากฎมิติของศาสนาและความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่พบหลักฐานยืนยันการใช้กริชประกอบพระราชพิธีโสกันต์ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 และแม้กระทั่งพระราชโอรสของในหลวงจุฬาลงกรณ์ทั้ง 2 พระองค์ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ปรากฏการนำกริชมาเป็นองค์ประกอบในพระราชพิธีนี้ ถึงกระนั้นผู้เขียนกลับพบว่าในพิธีโสกันต์ของพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างน้อย 2 พระองค์ได้นำกริชมาเป็นองค์ประกอบในพิธีนี้ นั่น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจีรศักดิ์สุประภาต และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยกริชทั้ง 2 เล่มเป็นกริชอย่างสกุลช่างมลายูคาบสมุทรตอนเหนือ
สรุป
จากเดิมที่หลายคนเคยเข้าใจมาตลอดว่า กริช เป็นอาวุธที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชวา-มลายู หรือ อิสลามเท่านั้น แต่บทความนี้ได้นำเสนอเรื่องราวอีกแง่ของกริชที่เกี่ยวข้องกับสังคมสยามตั้งแต่ในราชสำนักไปจนถึงชาวบ้านธรรมดาสามัญ จะเห็นได้ว่ากริชได้ถูกนำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ๆ มากมาย ตั้งแต่ในพระราชพิธี พระราชนิพนธ์ เครื่องราชบรรณาการ ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของตราอาร์มแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 บทความนี้ได้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กริช ได้ถูกรับรู้ไม่ใช่ในฐานะของอาวุธที่ใช้ประหัตประหารอีกต่อไป แต่ในฐานะวัตถุมีค่า มีความสวยงาม มีตำนานและที่มา หรือกระทั่งเป็นสัญลักษณ์แทนหัวเมืองมลายูภายใต้การปกครองของสยามในเวลานั้น ดังนั้นเมื่อเรามีโอกาสพบเห็นกริชตามพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ อาทิ วังหน้า หรือพื้นที่จัดแสดงใต้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ไม่แน่กริชเหล่านั้นอาจเคยปรากฏใช้ในพิธีสำคัญ ๆ หรือถูกใช้โดยคนสำคัญ ๆ ในราชสำนักก็เป็นได้
อ้างอิง :
[1] สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์และคณะ ใน กะเทาะสนิมกริช : แลวิถีชีวิตภาคใต้ตอนล่าง
[2] สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิถีศาสตรา : ปริศนา ศรัทธา และอาคมแห่งอาวุธไทย หน้า 123
[3] ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 115
[4] ทวีศักดิ์ เผือกสม วงศาวิทยาของอิเหนา