เปิดข้อเท็จจริง กฎ Must-have และ Must-carry กีดกันสิทธิของประชาชนจริงหรือ ?
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2555 ที่คนไทยได้เผชิญกับปัญหาที่กระทบกับการรับชมการถ่ายทอดสดกีฬานัดสำคัญของโลก ปัญหาที่ว่านี้ก็คือการไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านช่องทีวีสาธารณะ (ฟรีทีวี) ได้ นอกเหนือจากช่องทางของแกรมมี่เพียงรายเดียวซึ่งเป็นช่องสื่อสารมวลชนที่เอกชนเป็นเจ้าของผู้ให้บริการ
เหตุการณ์ดังกล่าวรู้จักกันในสมัยนั้นว่าเหตุการณ์ “จอดำ” ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดในครั้งนั้นได้นอกเสียจากต้องเสียเงินเพื่อซื้อบริการสื่อทีวีเอกชนเพิ่มเติมซึ่งเป็นการที่ต้องทำให้ประชาชนมีต้นทุนมากขึ้นในชีวิตประจำวัน
เหตุนี้ทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้หารือและถกเถียงในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคและการกีดกันทางการค้า พร้อมทั้งได้พยายามหาทางออกจากประเด็นปัญหาดังกล่าว จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าภาครัฐควรจะต้องแบกรับภาระในการเช่าซื้อสัญญาณในการถ่ายทอดสดเสียเอง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้อย่างเท่าเทียม
เบื้องต้น กสทช. ได้ออกกฎ “Must-carry” เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนคนไทยจะสามารถรับชมบริการโทรทัศน์ที่เป็นทั่วไป (ฟรีทีวี) ไม่ว่าจะรับชมผ่านเทคโนโลยี อุปกรณ์ หรือช่องทางใดๆ ก็ตามโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือทำซ้ำ และเพื่อแก้ไขปัญหา “จอดำ” ดังกล่าว กสทช. ได้ออกกฎอีกข้อหนึ่งออกมาในช่วงเดียวกันด้วยคือกฎ “Must-have” โดยมีจุดประสงค์ในการตั้งขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์แบบถ่ายทอดสด 7 รายการสำคัญโดยเฉพาะรายการกีฬาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมผ่านทางบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป
ประเด็นนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่าเป็นการที่รัฐลงทุนโดยเปล่าประโยชน์ สวนทางกับโลกเสรีนิยมโดยทั่วไปที่รัฐมักจะให้อิสระและทางเลือกแก่ประชาชนมากกว่าที่จะดำเนินกิจการทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้น รัฐจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องแบกรับภาระหรือการให้บริการสาธารณะที่ไม่จำเป็น เพราะถ้าหากประชาชนคนไทยต้องการจะชมการถ่ายทอดสด ก็ควรจะออกเงินซื้อช่องการเข้าชมเองกว่าจะพึ่งเงินหลวงของรัฐ
แต่ถ้าหากมองอย่างใจเป็นธรรมแล้ว แม้แต่ในต่างประเทศก็มีกฎ/ระเบียบที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ด้วย นอกจากนั้นการถ่ายทอดรายการกีฬาเองก็ถูกจัดอยู่ในรายการที่ถูกกำหนดให้เผยแพร่เพราะสามารถสร้างความกลมเกลียวของคนในประเทศได้ และอีกแง่หนึ่งยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะผู้คนจะจับจ่ายใช้สอยในการเชียร์ฟุตบอลหน้าจอ เช่น การซื้อเครื่องดื่มต่างๆ หรือกระทั่งการไปนั่งเชียร์ที่ร้านอาหารพร้อมกลุ่มเพื่อนก็ย่อมเป็นการผลักให้เม็ดเงินไหลเวียนไปยังท้องที่ด้วย ดังที่มีรายงานการประมาณการว่าการถ่ายสดฟุตบอลโลกจะสร้างเม็ดเงินในประเทศไทยราว 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวหมายรวมถึงการจับจ่ายใช้สอยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลบอลโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกของประเทศไทยก็ได้มีการใช้กฎ “Must-have” ในการถ่ายทอดสด ซึ่งการมีอยู่ของกฎข้อนี้ ในอดีตศาลปกครองเคยพิพากษาไว้ส่วนหนึ่งว่ากฎดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์ซึ่งอยู่ภายในอำนาจของ กสทช. เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนสามารถรับชมได้โดยไม่ต้องผ่านช่องทางของเอกชนใดเอกชนหนึ่งเท่านั้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยทั่วหน้า กรณีเช่นนี้สามารถเทียบได้กับการอุดหนุนให้ประชาชนไม่ต้องการจ่ายโดยตรงอื่น ๆ อาทิ การประกันราคาสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น และเมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎ “Must-have” แล้วจะเห็นได้ว่า กฎข้อนี้มีไว้เพื่อรักษาสิทธิ์ของประชาชนซึ่งปฏิบัติภายใต้หลักผลประโยชน์มหาชนนั่นเอง มิใช่กีดกันสิทธิ์ของประชาชนอย่างที่สื่อบางสำนักกล่าวอ้างแต่อย่างใด
จึงกล่าวได้ว่าบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ในการออกกฎ “Must-have” ดังกล่าวกระทำไปเพื่อเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนคนไทยอย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการตัดสินใจเข้าแทรกแซงเอกชนของกฎ “Must-have” ภายในการควบคุมดูแลของ กสทช. อาจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย เป็นต้นว่า การเข้าถึงบริการช่องทางสื่อเอกชนเริ่มถูกลงและมีการขยายการให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น (อาจเป็นเพราะการแข่งขันทางตลาด) ทำให้นโยบายในการแทรกแซงของรัฐต่อเอกชนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ดังนั้น การปรับปรุงแก้แกให้กฎดังกล่าวมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาร่วมมีส่วนร่วม น่าจะเป็นทางออกที่น่าพึงพอใจในอนาคต
อ้างอิง :
[1] เมื่อ “จอดำ” ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นสิทธิและการแข่งขันที่เป็นธรรม
[2] ศักดิพัฒน์ ธานี, “การกําหนดการเผยแพร่รายการโทรทัศน์ตามหลักเกณฑ์ Must-carry Rule และ Must-have Rule: ศึกษากรณีการถ่ายทอดรายการกีฬาในประเทศไทย,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559). หน้า 45.
[3] Live broadcast of football World Cup ‘would increase money circulation in economy’