เบื้องหลังเส้นทางของ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ ที่เริ่มต้นและจบลงด้วยน้ำมือของ ปรีดี พนมยงค์

เมื่อเราพูดถึงจุดจบของ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเหตุการณ์กบฏวังหลวง ที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการ ซึ่งดำเนินการถึงขั้นยึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ และประกาศจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายปรีดีฯ เอาเวลาไหนไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือมิเช่นนั้นนายปรีดีฯ ก็ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเสียเอง

เหตุการณ์ก่อกบฏในครั้งนี้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และคล้อยหลังอีกสามปี ก็ถึงจุดจบของ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยกเลิก “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ด้วยเหตุผลทางการเมือง

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวความคิดที่จะให้เป็นตลาดวิชา เฉกเช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความฉุกละหุกจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ทำให้แผนเค้าโครงการจัดหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาตรีสามารถจัดการเรียนการสอนได้เพียงหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต โดยการ “ก๊อปปี้” โครงสร้างหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นต้นแบบ และมีการบรรจุเค้าโครงการหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ไว้อย่างคร่าวๆ 4 สาขาวิชา คือ ปริญญาในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต

ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อยกระดับการเรียนการสอนในระดับปริญญา ได้จัดตั้งหลักสูตรต่างๆ ในระดับประกาศนียบัตรก่อน โดยจัดตั้งขึ้น 4 คณะ คือ คณะแพทย์ศาสตร์ คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2459 ต่อมาเมื่อมีการโอนโรงเรียนกฎหมายมาขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เปลี่ยนชื่อ คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ เป็น คณะรัฐศาสตร์ และตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้มีการโอนโรงเรียนเพาะช่างมาสมทบ และจัดตั้งเป็นแผนกอิสระ คือแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ต่อมายกฐานะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็น “ตลาดวิชา” อย่างแท้จริง เพราะมีสาขาให้เลือกศึกษาตามความสนใจของนิสิตอย่างหลากหลาย

โดยในระยะแรก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเฉพาะสาขาวิชาแพทย์ก่อน แล้วจากนั้นจึงขยายไปยังสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นมหาวิทยาลัยปิด โดยในปีแรกสุดมีการรับสมัครนิสิตแพทยศาสตร์บัณฑิต เพียง 25 คน แต่ว่านิสิตรุ่นแรกก็สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2472 มากถึง 18 คน

ในขณะที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีการรับสมัครนิสิต ซึ่งมีผู้สมัครนับพันคน ทว่าสำเร็จการศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2480 เพียง 19 คน แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเปิดหรือมหาวิทยาลัยปิด ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญที่แตกต่างกัน เพราะถึงจะรับนักศึกษาเข้ามามาก แต่จำนวนผู้สำเร็จการศึกษากลับพอๆ กัน

ด้วยความไม่พร้อมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาตรีสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม ทำให้ตลอดระยะเวลา 18 ปี มหาวิทยาลัยจึงมีเพียงคณะเดียว คือ คณะมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีคณบดีเพียง 2 คน คือ ศ.ดร.แอล ดูปลาตร์ และ ศ.ดร.เดือน บุนนาค

เนื่องจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อตั้งขึ้นเพราะปัจจัยของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำทางการเมือง เพื่อลดทอนบทบาทของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งเพื่อต้องการควบคุมความรู้และความคิดทางการเมืองของประชาชน รัฐบาลจึงต้องยุบทิ้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วโอนทรัพย์สินและงบประมาณทั้งหมดให้กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

และเพื่อให้สะดวกในการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงถูกออกแบบให้เป็นองค์การมหาชนที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐ ส่งผลให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบแห่งแรก เพราะไม่ต้องจัดตั้งงบประมาณแบบหน่วยงานราชการทั่วไป หากแต่รัฐจะจัดเงินอุดหนุนรายปีให้ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ มาตรา 7 (1)

โดยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะมีตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดคือ “ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย” ซึ่งก็คือตัวนายปรีดี พนมยงค์ เอง

นอกจากนี้ นายปรีดีฯ ยังได้จัดวางให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ การแต่งตั้งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยจะอยู่ภายใต้อำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีการกล่าวถึงการสิ้นสุดวาระของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยไว้เลย จึงทำให้รัฐสภามีอำนาจแต่งตั้งได้อย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจถอดถอน

ความพิเศษของตำแหน่ง ผู้ประศาสน์การ คือ มีการกำหนดคุณสมบัติในด้านคุณวุฒิ ตามมาตรา 16 ว่า จะต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาเอกในด้านวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือได้สอนในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนชั้นสูงในไทย ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติขั้นสูงเช่นนี้ ผู้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ก็มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

การวางกลไกอันซับซ้อนของนายปรีดีฯ นี้เอง ที่เป็นการขีดชะตาชีวิตของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลาต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” ขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 จนทำให้นายปรีดีฯ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ มาตรา 18 ได้ให้อำนาจการบริหารจัดการอย่างกว้างขวางไว้กับ “ผู้ประศาสน์การ” เพียงผู้เดียว แม้แต่เลขาธิการมหาวิทยาลัย พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ มาตรา 17 ยังได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เป็นแค่ผู้ช่วยงานธุรการ ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงเลขานุการประจำตัวของผู้ประศาสน์การเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อนายปรีดีฯ ลี้ภัยออกนอกประเทศทั้งๆ ที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย จึงส่งผลให้ผู้รักษาการแทนผู้ประศาสน์การต้องเผชิญกับข้อจำกัดของการบริหารมหาวิทยาลัยมากมายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อีกทั้งไม่มีหนทางใดเลยที่จะทำให้นายปรีดีฯ พ้นจากตำแหน่งไปได้ หากนายปรีดีฯ ไม่ยอมลาออกไปเอง ประกอบกับคุณภาพทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยก็ถือได้ว่ามีปัญหา เนื่องจากมหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ. 2495 แต่ยังคงจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีได้เพียงหลักสูตรเดียว และมหาวิทยาลัยก็มีเพียงคณะเดียว

ทางรอดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงมีอยู่หนทางเดียว คือ ใช้กลไกอำนาจนิติบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ ฉบับเดิมทั้งฉบับ แล้วตราพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ นั่นคือ “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2495 อันถือเป็นการปิดฉาก 18 ปี ในนามมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น กล่าวกันว่า ดร.เดือน บุนนาค เองมีความคิดจะเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร” เลยด้วยซ้ำ และตั้งใจจะรวมมหาวิทยาลัย 3 แห่ง เข้าด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) แต่เนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีความเห็นว่าควรจะรักษาชื่อเดิมเอาไว้ จึงทำให้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ มีชื่อว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2495 เพื่อที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาตลาดวิชา จึงได้แบ่งการจัดการเป็น 4 คณะ คือ คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ และมีการยกระบบมหาวิทยาลัยใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งโอนให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทำให้ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินในฐานะหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงพัฒนาอย่างก้าวหน้า เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในเวลานั้น

กาลอวสานของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงไม่เกี่ยวข้องกับการที่นายปรีดีฯ ก่อกบฏอันเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่มาจากการวางโครงสร้างที่ซับซ้อนของนายปรีดีฯ รวมถึงปัญหาคุณภาพทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยเองด้วย อีกทั้งยังไม่เกี่ยวกับการตัดคำว่า “วิชา” และ “การเมือง” ออกไปจากชื่อมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาเลิกสนใจการเมือง เนื่องจากว่าในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ ฉบับใหม่ ได้มีการตั้งคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านการเมืองการปกครองอย่างเข้มข้นเสียยิ่งกว่าสมัยที่เป็นหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตที่เน้นการเรียนกฎหมายเสียอีก

อ้างอิง :

[1] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476
[2] ประกาศ ตั้งคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (แอล ดูปลาตร์)
[3] ประกาศมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เรื่อง ตั้งคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (เดือน บุนนาค)
[4] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕
[5] พระบรมราชโองการ ประกาศ โอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
[6] ประกาศ เรื่อง ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ
[7] 26 กุมภาพันธ์ 2492 กบฏวังหลวง, “ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย”. สารคดีทางดีเอ็นเอ็น : 20 พฤศจิกายน 2554
[8] ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวง กับสถานะของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊ค, พ.ศ. 2551

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า