‘สวนปทุมวนานุรักษ์’ พื้นที่สีเขียวท่ามกลางย่านธุรกิจ โดย สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อคนกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ กล่าวคือมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ประชาชนบางรายใช้สิทธิรุกล้ำเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในขณะที่พื้นที่บริเวณดังกล่าว ได้มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะสำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นั่นคือ “สวนปทุมวนานุรักษ์”
โดยผู้ที่เคยอยู่อาศัยพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทั้งผู้มีสิทธิอาศัยถูกต้องและผู้รุกล้ำเข้าอาศัยอย่างไม่ถูกต้อง ต่างได้รับเงินชดเชยและจัดที่อยู่อาศัยแห่งใหม่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มานานเกือบสิบปีแล้วเกือบทุกราย เหลือเพียงผู้รุกล้ำ 3 ครอบครัวสุดท้ายนี้เท่านั้น
เมื่อผู้รุกล้ำ 3 รายนี้ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและย้ายออกไปแล้ว คาดว่าสวนปทุมวนานุรักษ์น่าจะพร้อมให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ในเร็ววัน
สวนปทุมวนานุรักษ์ เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลในอดีต วางแผนให้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ โดยมีการเตรียมการถึงขั้นแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาวัดปทุมวนารามและคณะกรรมการอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ แล้ว
พื้นที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ หรือสวนปทุมวนานุรักษ์ในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยทั้งที่มีสัญญาเช่าถูกต้อง และบางส่วนก็อยู่อาศัยโดยบุกรุก รัฐบาลร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้มีการเจรจากับผู้อยู่อาศัย โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านเหล่านี้ และจัดหาที่พักอาศัยให้ใหม่ (มีการสร้างอาคารแฟลต 3 หลัง ในบริเวณพื้นที่เดิม)
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ได้เคยพระราชทานพระราชดำริให้นำพระที่นั่งทรงธรรม พระที่นั่งกาญจนาภิเษก อาคารประกอบพระราชพิธีและศาลาข้าราชการ จากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรราบรมราชชนนี และงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ถวายให้วัดปทุมวัน จึงนำมาประดิษฐานไว้ในพื้นที่โครงการ แต่เนื่องจากระยะเวลาการดำเนินการที่ล่าช้า สภาพของพระที่นั่งฯ และอาคารต่างๆ มีความทรุดโทรมอย่างมาก ยากที่จะรักษาในสภาพดีดังเดิมได้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงได้เสนอการจัดการผังการใช้ที่ดินใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ 3 ส่วนคือ
- พื้นที่วัดปทุมวนาราม
- พื้นที่สร้างโรงเรียนวัดปทุมวนาราม
- พื้นที่ก่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติ
ในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้น้อมนำพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสนอรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ โดยรัฐบาลได้รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ในการพัฒนาพื้นที่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ และเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อปี 2539 โดยใช้พื้นที่บริเวณข้างศูนย์การค้าสยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิร์ด ภายใต้ความร่วมมือของกรุงเทพมหานครกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการจัดตั้ง “มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์” เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการสวนสาธารณะแห่งนี้ และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานชื่อสวนสาธารณะว่า “สวนปทุมวนานุรักษ์”
(มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ยื่นจดทะเบียนโดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทุนจดทะเบียน 200,000 บาท โดยได้รับอนุญาตจัดตั้ง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 เลขทะเบียนที่ กท1774 )
นอกจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ริเริ่มและร่วมลงทุนในการจัดสร้างสวนปทุมวนานุรักษ์นี้แล้ว แม้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่ดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ และได้มีการจ่ายค่าเช่าให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ค่าเช่าในแต่ละปีดังกล่าวสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้มอบให้แก่มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ เพื่อนำมาใช้พัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สวนปทุมวนานุรักษ์ มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นสวนแห่งแรกของประเทศไทยที่รวบรวมพันธุ์ไม้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงปลูก หรือทรงปลูกพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้ระดับสูง (Tall Plants) ให้ร่มเงาและมีระบบรากที่ไม่ชอนไชทำลายอาคาร รวมทั้งรวบรวมดินจากพื้นที่ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดทำประติมากรรมเป็นแนวกำแพงดินในสวนปทุมวนานุรักษ์ โดยกำแพงดิน แสดงถึงความจงรักภักดีของประชาชนทั้งแผ่นดิน โดยรวบรวมดินเผามาตำบลละ 9 ก้อน ซึ่งหากนำอิฐทุกก้อนมาจัดเรียงสีและก่อให้เป็นภาพจะได้กำแพงดิน
สวนปทุมวานุรักษ์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ
- สวนส่วนที่หนึ่ง เนื้อที่ 7 ไร่ ดำเนินการปลูกต้นไม้ และปล่อยให้ต้นไม้โตตามธรรมชาติให้เป็นลักษณะสวนป่า
- สวนส่วนที่สอง เนื้อที่ 18 ไร่ จัดทำสวนตามแนวคิดของพ่อ แบ่งออกเป็นพื้นที่รับมอบคืนจาก CPAC มิถุนายน 2559 เนื้อที่ 6 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
– พื้นที่บำบัดน้ำ ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่บำบัดน้ำทางธรรมชาติ
– ลานอัฒจันทร์ เป็นพื้นที่สำหรับชมการแสดงริมน้ำ
– ป่าของเมือง เป็นทางเดินสู่อาคารหลักแสดงเรื่องความสัมพันธ์ของต้นไม้และเมือง
– พื้นที่พักผ่อน
- สวนส่วนที่สาม เนื้อที่ 12 ไร่ เป็นพื้นที่ชุมชน และอาคารแฟลต 3 หลัง
ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุดของ สวนปทุมวนานุรักษ์ ป่าสีเขียวใจกลางเมืองที่ได้รับการพัฒนาอย่างสอดรับกับพื้นที่เศรษฐกิจแบบครบวงจร ซึ่งจะกลายเป็นปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ และให้ประชาชนทุกคนได้เข้าใช้งานกันอย่างทั่วถึงต่อไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook Fanpage Bangkok Pulse By Pisut Jarintippitack
อ้างอิง :
[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนที่ 79ง หน้า 28 วันที่ 16 กรกฎาคม 2552