เตงกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาปัตตานีผู้ถูกบิดเบือนให้เป็นสุลต่าน
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
เมื่อกล่าวถึงเตงกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน (พระราชทินนามของสยามคือ พระยาวิชิตภักดี) เจ้าเมืองปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 5 งานวิชาการในยุคหลังมักให้ข้อมูลของบุคคลๆนี้อย่างผิดเพี้ยนจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นต้นว่า ตำราวิชาการหรือวิทยานิพนธ์บางเล่มได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า อับดุลกาเดร์ มียศเป็น ‘สุลต่าน’ (Sultan) ทั้งที่จริงแล้วเขาเป็นเพียงแค่ ‘พระยาเมือง’ ซึ่งเทียบเท่ากับ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ (Governor) ส่วนยศแบบมลายูที่เรียกกันว่า ‘รายา’ (Rajah) นั้นในบริบทของการปกครองในพื้นที่นี้ไม่ได้หมายถึง ‘กษัตริย์’ (King) แม้แต่เอกสารจากคนนอก กล่าวคืองานเขียนฝั่งอังกฤษในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งรายามักใช้เรียกเจ้าเมืองไม่ว่าจะเป็นไทยเป็นจีนเป็นแขกในคาบสมุทรมลายูแทบทั้งสิ้น อาทิ นครศรีธรรมราชและสงขลา ดังนั้น ใครศึกษาประวัติศาสตร์อย่างรอบด้านจะทราบทันทีว่ารายาที่อังกฤษกล่าวถึง คือ ‘เจ้าเมือง’ ไม่ใช่ ‘กษัตริย์’ ซึ่งรายาเหล่านี้เป็นขุนนาง-ข้าราชการส่วนภูมิภาคในระบอบการปกครองจารีตของสยามทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การพิเคราะห์ภูมิหลังของเอกสาร รวมทั้งความเข้าใจและความหมายที่ผู้จดบันทึกพยายามสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ
จริงอยู่ว่าในภาษามลายู ‘รายา’ อาจหมายถึง ‘กษัตริย์’ ได้ในบางกรณี เช่น การกล่าวถึงกษัตริย์สยาม ว่า ‘รายาเซียม’ (Rajah Siam) ในเอกสารมลายูบางชิ้น หากแต่นั้นก็ต้องดูบริบทแวดล้อมประกอบด้วย เป็นความจริงว่าแม้สถานะของนาม (nama) จะเหมือนกัน แต่ความเท่าเทียมกันระหว่างรายาสยามและรายามลายู (หรือในบางกรณี เป็นสุลต่าน) ไม่เท่ากัน [1] เพราะบางครั้งสุลต่านมลายูกลับต้องสำแดงตนว่าเป็น ‘ผู้น้อย’ รายาสยาม เรื่องนี้หากใครเคยอ่าน Hikayat Patani จะเข้าใจบริบทข้างต้นนี้เป็นอย่างดี
หากใครนำหลักฐานมาอ้างว่า ‘รายา’ แปลว่า ‘กษัตริย์’ ในทุกรณี ผู้เขียนขอย้ำเตือนไว้ว่าการเปิดพจนานุกรม (ซึ่งใครๆก็ทำได้ แม้แต่เด็กประถม) โดยละเลยหรือจงใจไม่ศึกษาเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ประกอบย่อมเป็นการศึกษาอย่างมืดบอดและไม่มีหลักวิชา
ผู้เขียนต้องย้ำอีกครั้งว่า แม้แต่ตัวอับดุลกาเดร์เองก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็น ‘สุลต่าน’ ดังมีหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นจดหมายที่เขามีไปถึงข้าหลวงใหญ่ที่สิงคโปร์ ลงวันที่ 19 สิงหาคม 1901 ในเรื่องการขอให้อังกฤษยึดปัตตานีเป็นเมืองขึ้น (ต่อมาเป็นประเด็นให้เขาถูกปลดจากการการเป็นเจ้าเมืองในอีก 1 ปีข้างหน้า) ทั้งนี้ อับดุลกาเดร์ลงชื่อและตำแหน่งของเขาชัดเจนว่า ‘รายาแห่งปตานี’ (Rajah Of Patani) [1] ดังนั้น ผู้ใดบังอาจไปแต่งตั้งให้บุคคลผู้นี้เป็น ‘สุลต่าน’ โดยที่แม้แต่เจ้าตัวก็มิเคยกล้าแอบอ้าง ผู้เขียนหวังใจว่าถ้าท่านยังมีจิตสำนึกของความเป็นนักวิชาการอยู่ก็ขอให้แก้ผิดเป็นถูกเสีย การปล่อยให้ความเท็จดำรงโดยไม่แก้ไขย่อมเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง
เมื่อยืนยันถึงสถานะอันถูกต้องของอับดุลกาเดร์แล้วว่าเป็นเพียงรายาไม่ใช่สุลต่าน ประเด็นต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจก็คือภูมิหลังของอับดุลกาเดร์ก่อนได้รับการสถาปนาจากสยามให้เป็น‘เจ้าเมือง’
แท้จริงแล้วอับดุลกาเดร์ได้เป็นเจ้าเมืองเพราะสยามแต่งตั้ง
นับเป็นความเหลวไหลหากมีงานเขียนชิ้นใดอ้างว่าอับดุลกาเดร์ได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีเพราะการสืบทอดทางสายเลือดจากราชวงศ์ปัตตานีโบราณ เพราะหลักฐานชั้นต้นทั้งมลายูและสยามระบุตรงกันว่า บรรพบุรุษของอับดุลกาเดร์นั้นหาใช่เชื้อสายดั้งเดิมของปัตตานีแต่อย่างใด หากแต่เป็นเจ้าทางฝั่งทางกลันตันที่ทำสงครามกลางเมือง (พี่น้องแย่งชิงอำนาจกัน) กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีเมตตาให้ตระกูลเจ้าเมืองต่างด้าวฝ่ายนี้ได้โยกมาเป็นเจ้าเสียใหม่ที่ปัตตานีปัจจุบัน (เพราะหากอยู่กลันตันต่อไปเห็นจะต้องฆ่ากันตายไม่เหลือ) ดังปรากฏความในเอกสารเก่าของปัตตานีเอง คือ ‘ประวัติเมืองปัตตานี’ (2471)ดังมีใจความบางส่วนว่า สุลต่านกลันตันกับตนกูบือซา (ตนกูปะสา) และพระยาจางวางได้ทะเลาะทำสงครามแก่กัน ‘….ความทรงทราบใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท [รัชกาลที่ 3] จึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกต่วนกูบะซา พร้อมด้วยสมัครพรรคพวกมาอยู่เมืองหนองจิก ส่วนพระยาจางวางให้ไปอยู่เมืองนคร….’ [2] หลังจากนั้นเมื่อตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานีว่างลง ตนกูบือซาได้รับการโปรดเกล้าเป็นเจ้าเมืองปัตตานีแทนโดยมีพระราชทินนาม ‘พระยาวิชิตภักดี’ ส่วนพระยาจางวางที่เดิมนำไปไว้ที่นครศรีธรรมราชนั้นต่อมาก็ได้ปกครองเมืองยะหริ่ง จะเห็นได้ว่าแต่ดั้งแต่เดิมแล้วสายของอับดุลกาเดร์กลับเป็น ‘ชาวกลันตัน’ หาใช่ ‘ชาวปัตตานี’ แต่อย่างใด ตระกูลของเขาได้เป็นเจ้าเมืองเพราะอำนาจของสยามล้วน ๆ ที่ ‘โยก’ พวกเขามาจากกลันตันเพื่อให้พ้นจากการถูกสุลต่านกลันตันกลาดล้าง ดังนั้น การได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองปัตตานีทุกครั้งต้องได้รับการเห็นชอบจากสยามโดยไม่มีข้อยกเว้น [3] ต่อมาเมื่อตนกูบือซาได้เสียชีวิตลง สยามได้แต่งตั้งให้เตงกูปูเต๊ะ บุตรของตนกูบือซาเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาในตำแหน่ง ‘พระยาวิชิตภักดี’ เหมือนพ่อ (ดำรงตำแหน่ง 1856-1881) และเมื่อสิ้นเตงกูปูเต๊ะ เต็งกูตีมุงบุตรของเขาได้รับตำแหน่งพระยาวิชิตภักดีสืบต่อมา (ดำรงตำแหน่ง 1881-1890)
อย่างไรก็ดี หลังจากปกครองมา 11 ปี เต็งกูตีมุงก็เสียชีวิต วิวาทะว่าใครสมควรจะมาเป็นตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานี (พระยาวิชิตภักดี) ก็เกิดขึ้น เพราะลูกของเต็งกูปูเต๊ะ (สายตรงของเต็งกูปูเต๊ะ) ล้วนยังเด็กนัก ‘ประวัติเมืองปัตตานี’ (2471) ได้เผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า เต็งกูบงสู (สุไลมาน) น้องชายของเต็งกูปูเต๊ะและเป็นอาของเต็งกูตีมุงนั้นมีความอาวุโสที่สุดอีกทั้งยังมีความขยันขันแข็งอย่างมากในการจัดทำต้นไม้เงินต้นไม้ทองส่งแก่สยาม ด้วยเหตุนี้ ทางสงขลาจึงชงเรื่องเสนอให้ทางกรุงเทพฯตั้งให้เต็งกูบงสูขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานีแทน ซึ่งทางกรุงเทพฯก็ไม่ขัดข้อง และเต็งกูบงสูผู้นี้เองก็คือบิดาของอับดุลกาเดร์ [4] จะเห็นได้ว่าเส้นทางการเป็นเจ้าเมืองปัตตานีของอับดุลกาเดร์นั้นหาใช่ ‘สายตรง’ แต่อย่างใด ขั้นที่ 1 ตระกูลของเขาหาใช่เจ้าเมืองปัตตานีเดิมในสมัยโบราณ และขั้นที่ 2 การที่เต็งกูบงสูพ่อของอับดุลกาเดร์ได้เป็นเจ้าเมืองได้นั้นเพราะเหตุผลว่าลูกของเจ้าเมืองคนเก่ายังเล็กนัก และด้วยการชงเรื่องของสงขลา เต็งกูบงสูจึงได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานี ข้อมูลอันเป็นหลักฐานชั้นต้นเหล่านี้ชี้ชัดตรงกันว่าอับดุลกาเดร์หาได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานีโดยสายเลือด หากแต่เป็นเพราะสยาม ‘ประทานให้’ ล้วน ๆ
อ้างอิง :
[1] ดูการอภิปรายอย่างละเอียดในประเด็นนี้ ใน Kobkua Suwannathat-Pian. Thai-Malay relations : traditional intra-regional relations from the Seventeenth to the early Twentieth centuries. (1988).
[2] Letter from Tengu Abdul Kadir to Sir Frank Swettenham 19 August 1901. Colonial Office Records 273/274.
[3] ประวัติเมืองปัตตานี (2471).
[4] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (เอกสารชั้นต้นยังไม่ได้รับการตีพิมพ์).
[5] ประวัติเมืองปัตตานี (2471).