‘เจ้าดารารัศมี’ เจ้าหญิงแห่งล้านนา ผู้สานสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างเชียงใหม่และสยาม
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า “เจ้าดารารัศมี” พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า “เจ้าน้อย” และในพระประยูรญาติว่า “เจ้าอึ่ง” ประสูติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร ผู้ครองนครเชียงใหม่ในเวลานั้น
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว
เจ้าดารารัศมี นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และยังเป็นผู้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาอีกด้วย ซึ่งการสานสัมพันธ์ของเมืองเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ในครั้งนั้น เป็นความตั้งใจแต่เดิมของพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าแม่ทิพเกสรอยู่แล้ว โดยได้ตระเตรียมการดังกล่าวมานานเป็นสิบๆ ปี
เจ้าดารารัศมีได้ทรงไว้จุกแบบเด็กตามประเพณีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พระชันษาได้เพียงหนึ่งเดือน และถือเป็นคนแรกของเมืองเชียงใหม่ที่มีการไว้จุก ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุครบ 11 พรรษา พระบิดาจึงโปรดฯ ให้มีพิธีโสกันต์ (โกนจุก) โดยในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานตุ้มหูเพชรให้แก่เจ้าดารารัศมีเพื่อรับขวัญ ดังปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขา ในปี พ.ศ. 2426 พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากร ให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร ความว่า …
“… เรื่องโกนจุกนั้น เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอยู่กรุงเทพฯ ทิพเกสรก็ได้บอกให้รู้ เรารับไว้ว่าจะทำขวัญ จึ่งได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา ให้พระยาราชสัมภารากรนำไปทำขวัญ แต่ต้องชี้แจงให้ทราบว่าธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน ทำขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี เป็นแต่เมื่อบุตรข้าราชการที่ถวายตัวทำราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก ก็พระราชทานเงินพระคลังในที่ทำขวัญบ้าง แต่บุตรข้าราชการที่ไม่ได้ทำราชการนั้น ต่อทรงพระกรุณาบิดามาก จึงได้พระราชทานบ้างมีน้อยราย แต่ก็เป็นของพระคลังข้างที่ทั้งนั้น ไม่นับว่าเป็นราชการแผ่นดิน จึงไม่ได้มีศุภอักษรส่งของขึ้นมาตามทางราชการ
การซึ่งพระยาราชสัมภารากรได้ตริตรองโยกย้ายเหนี่ยวรั้ง เพื่อไม่ให้พระเจ้านครเชียงใหม่รีบทำการโกนจุก เพราะเกรงจะเป็นธรรมเนียมกรุงเทพฯ ก็เป็นอัธยาไศรยตริตรองรอบคอบดีอยู่ แต่การโกนจุกนี้เป็นน้ำท่วมทุ่ง บางคนก็ทำมาก บางคนก็ทำน้อยตามอัธยาไศรย ไม่สู้เป็นการสลักสำคัญอันใดนัก ถึงจะทำการก็คงไม่เหมือนกรุงเทพฯ ทีเดียว ซึ่งผ่อนผันไปไม่ให้เป็นการขัดอกขัดใจกันในการไม่พอ เรื่องดังนี้เป็นการชอบแล้ว อย่าได้มีความหวาดหวั่นอันใดเลย …”
จากพระราชหัตถเลขาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความต้องการที่จะให้เจ้าดารารัศมีไว้จุกตามประเพณีแบบเดียวกับเด็กในกรุงเทพฯ จนกระทั่งมาถึงพิธีโสกันต์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานของรับขวัญนั้น มาจากความต้องการของพระเจ้าเชียงใหม่และเจ้าแม่ทิพเกสร ที่ได้เตรียมการมาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อสานสัมพันธ์กับราชสำนักสยาม และการพระราชทานตุ้มหูเพชรเพื่อเป็นการทำขวัญแก่เจ้าดารารัศมีนั้น ก็เนื่องมาจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงรับปากเจ้าแม่ทิพเกสรไว้แล้วก่อนหน้านั้น โดยเป็นการพระราชทานส่วนพระองค์ และไม่มีแบบแผนใดๆ ในทางราชการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2429 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้ตามเสด็จพระบิดามาด้วย ในครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในในฐานะเจ้าจอม และประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา
ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เจ้าดารารัศมีทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ โดยได้เชิญครูดนตรีไทยเข้าไปสอนถึงในวังและส่งคนจากตำหนักบางคน ออกไปเรียนดนตรีไทยนอกเขตพระราชฐานด้วย
เจ้าดารารัศมีทรงสนพระทัยด้านดนตรีไทยอย่างมาก แม้กระทั่งเสด็จกลับไปประทับ ณ เชียงใหม่ ยังได้โปรดให้หาครูดนตรีไทยจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปประจำที่คุ้มอีกด้วย ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดดนตรีไทยในแคว้นลานนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้เจ้าดารารัศมียังได้ทรงนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง โดยเฉพาะ “เพลงน้อยใจยา” ถือเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมาจนถึงทุกวันนี้
ระหว่างประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ จนถึงปี พ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมี ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา ทรงพระนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า วิมลนาคนพีสี” หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า “เสด็จเจ้าน้อย” และเป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดามาก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา ทว่าเป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี ก็สิ้นพระชนม์ลง ยังความเสียพระทัยแก่ในหลวงรัชกาลที่ 5 และเจ้าดารารัศมีเป็นอย่างมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ภายหลังจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดาถึงแก่พิราลัย เจ้าจอมมารดารัศมี มีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติและเพื่อถวายความเคารพพระอัฐิพระบิดาที่ถึงแก่พิราลัยจึงกราบบังคมทูลลากลับ ในปี พ.ศ. 2451 พร้อมกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ พระเชษฐาผู้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 ซึ่งเสด็จมายังกรุงเทพฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ จัดงานพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศเจ้าดารารัศมีจากเจ้าจอมมารดาขึ้นเป็น “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” โดยกระบวนเสด็จฯ สู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง “พระอัครชายาเธอ” เลยทีเดียว
ระหว่างที่เจ้าดารารัศมีเสด็จกลับมาเยี่ยมพระประยูรญาติที่เชียงใหม่ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักพระราชทานแด่เจ้าดารารัศมี ในเขตพระราชฐานชั้นในพระราชวังดุสิต โดยตำหนักเป็นอาคารก่ออิฐโบกปูน ลักษณะเป็นทรงปั้นหยา สองชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 กระทั่งแล้วเสร็จในอีกหนึ่งปีให้หลัง และทรงมีพระราชโองการให้จัดพิธีขึ้นตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 และพระราชทานชื่อตำหนักว่า “สวนฝรั่งกังไส”
แต่หลังจากที่เจ้าดารารัศมี เสด็จกลับจากเชียงใหม่ได้เพียง 10 เดือน ก็ต้องทรงประสบความเศร้าโศกอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับรวมเวลาที่เจ้าดารารัศมีได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา 23 ปีเศษ
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ เจ้าดารารัศมียังคงประทับ ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับนครเชียงใหม่ และประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์เป็นเวลานานถึง 20 ปี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยโรคปัปผาสะพิการ (โรคปอด) ซึ่งแพทย์ทั้งในและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการดูแลพระอาการและถวายการรักษา
แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง 1 สำรับ และให้จัดงานพระศพเป็นงานพิธีหลวง พระอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่กู่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งอัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ สุสานหลวง วัดราชพิธสถิตมหาสีมาราม และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด 7 วัน เพื่อเป็นเกียรติยศ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงแห่งล้านนา พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงรอบรู้และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ขนบประเพณีล้านนาให้สืบทอดต่อมา และยังทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสานความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสยาม ให้มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้