เงาสะท้อน ‘โลกใบเล็ก’ บนหมู่บ้าน ‘ไผ่แดง’ อิทธิพลอุดมการณ์ของ โจวันนีโน กวาเรสกิ ที่ผูกกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผ่านวรรณกรรมสองฝั่งโลก
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการยกย่องว่า “เป็นเอตทัคคะผู้สามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นได้กับศาสตร์และศิลป์ที่นักเขียนอื่นอาจมองข้ามหรือมองไม่เห็นความเกี่ยวข้อง เช่น … การแปลวรรณกรรมต่างภาษาโดยปรับปรนให้มีความเป็นไทยและอยู่ในกรอบคิดตามแนวพุทธธรรม ตลอดจนดัดแปลงวรรณกรรมต่างชาติโดยอาศัยมโนทัศน์ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนให้มีฉากท้องเรื่องแบบไทยๆ ได้อย่างแนบสนิท” คำกล่าวนี้มิใช่คำกล่าวที่เกินเลยเมื่อพิจารณาวรรณกรรมต่างๆ ที่ “หม่อมคึกฤทธิ์” ได้ฝากลวดลายเอาไว้ในแวดวงวรรณกรรมไทย
ความแนบสนิทและสามารถดัดแปลงได้อย่างสวยงามนี้ ตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนนั้นก็คือเรื่อง “ไผ่แดง” ที่ถึงแม้เนื้อหาจะเป็นแบบไทยๆ แต่หม่อมคึกฤทธิ์ได้ปรับโครงสร้างมาจากวรรณกรรมอิตาเลียนเรื่อง “โลกใบเล็กของ ดอน คามิลโล” ที่แต่งโดย โจวันนีโน กวาเรสกิ (Giovannino Guareschi)
หลายคนอาจสงสัยว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวลอยๆ หรือไม่ แต่ในไผ่แดงที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษได้มีการระบุเอาไว้ว่า ได้รับอิทธิพลมาจากนวนิยายเรื่องนี้ ดังปรากฏว่า [1] “ในฉบับแปลภาษาอังกฤษกล่าวถึงที่มาของเรื่องว่าได้รับแบบอย่างมาจากนวนิยายของนักเขียนบาทหลวงชาวอิตาเลียน ชื่อ Giovanni Guareschi ซึ่งเขียนล้อเลียนพวกสังคมนิยม โดยใช้เค้าโครงเรื่องและการดำเนินเรื่องตลอดจนเนื้อหาบางตอน เปลี่ยนแปลงเพียงสภาพสังคมและบรรยากาศให้เป็นไทยเท่านั้น” แต่ก็จะเห็นได้ว่าหม่อมคึกฤทธิ์ ได้ทำการปรับเปลี่ยนจนไม่เหลือกลิ่นชีส กลับเหลือแต่เพียงกลิ่นต้มยำเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางวรรณศิลป์ของท่านได้เป็นอย่างดี
แต่ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหานั้น กวาเรสกิและหม่อมคึกฤทธิ์นั้นมีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก กล่าวคือ กวาเรสกิได้ใช้หนังสือพิมพ์ในการเขียนบทความและแสดงความคิดเห็น จนรัฐบาลต้องมีจดหมายสั่งเตือน กวาเรสกิจึงปรับรูปแบบโดยการแต่งเรื่องล้อเลียนเสียดสีขบขันผ่านหนังสือพิมพ์แทน จนภายหลังเขาได้ถูกจับกุมส่งเข้าค่ายกักกัน หลังจากออกมาเขาก็กลับมาทำนิตยสารรายสัปดาห์เสียดสียั่วล้อที่ชื่อ Candido เหมือนกับสยามรัฐของหม่อมคึกฤทธิ์ และกวาเรสกิเองก็ใช้ Candido เป็นสื่อกลางในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกันด้วย เพราะเขาจงรักภักดีต่อราชวงศ์อย่างสูงสุด เห็นได้จากเขาปฏิเสธกล่าวคำสาบานเพื่อแสดงความภักดีต่อฮิตเลอร์และมุสโสลินี แต่เขากลับถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์วิตตอริโอ เอมานูเอเลที่ 3 แทน
นอกจากนี้ กวาเรสกิยังต่อต้านปัญญาชนและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดมาร์กซ์ และเขายังแสดงความเกลียดชังต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านการ์ตูนล้อเลียนอีกด้วย โดยเขาให้เหตุผลว่า “สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ยอมปฏิบัติตามความต้องการของผู้นำและมวลชนอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยปฏิเสธสิทธิในการคิดด้วยตนเองในฐานะปัจเจกบุคคล ทั้งๆ ที่สิทธิดังกล่าวเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่มวลมนุษย์” ต่อมาเขาได้แต่งเรื่อง โลกใบเล็กขึ้น ซึ่งภายหลังได้รับความนิยมอย่างสูง และยังใช้นามปากกของเขาเป็นอาวุธในการโจมตีการทำงานของรัฐและประณามทุกคนไม่ว่าจะใครก็ตามโดยไม่เกรงว่าภัยจะมาถึงตัว ซึ่งหม่อมคึกฤทธิ์เองก็ได้ฟาดกับรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยถึงขนาดที่เคยโดนฟ้องมาแล้ว และสยามรัฐเองก็มีวัตุประสงค์เพื่อต่อต้านเผด็จการและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ดังนั้นทั้งกวาเรสกิและหม่อมคึกฤทธิ์จึงเปรียบเสมือนเงาสะท้อนที่มาจากอีกฟากโลก
เรื่องราวของไผ่แดงนั้นถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ไทยต้องเผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์ โดยเรื่องนี้นำเสนอภาพสังคมในหมู่บ้านชนบทที่ชื่อไผ่แดงโดยมี “สมภารกร่าง” เป็นตัวแทนของพุทธศาสนาและชาวบ้านในการดำเนินชีวิตและฝ่าฟันวิกฤตในชุมชน ต่อมาคือ “นายแกว่น” ผู้รับเอาแนวคิดเสมอภาคทางชนชั้นเข้ามาเพื่อเผยแพร่ในหมู่บ้าน โดยหวังให้หมู่บ้านไผ่แดงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ “กำนันเจิม” ผู้นำตำบลที่ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐช่วยเหลือชาวบ้านในยามเดือดร้อน โดยโครงเรื่องบางฉากบางตอนได้ไปพ้องกับวรรณกรรมโลกใบเล็กซึ่งนำเสนอเรื่องราวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีความคล้ายหลายตอนดังนี้
ความเหมือนอย่างแรกที่อาจจะสำคัญที่สุดคือ ทั้งสองเรื่องแสดงแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ผ่านการใช้แนวเขียนเชิงเสียดสี ผ่านการถ่ายทอดการปะทะกันของชุดความคิดของสองขั้วของตัวละครหลัก ซึ่งเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันในยุคนั้น คือฝ่ายที่สนับสนุนศาสนาที่เป็นแรงศรัทธาที่ฝังรากลึกมานานในสังคม (สมภารกร่างและดอน คามิลโล) กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ชูความเสมอภาคในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ (สหายแกว่นและเป็ปโปเน) แต่ความแตกต่างทั้งสองฟากโลกทำให้ทั้งสองเรื่องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแม้จะมีเค้าโครงที่คล้ายกันก็ตาม
คนอิตาเลียนในยุคนั้นมีไม่น้อยที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์เพราะเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนและทำลายระบอบอภิสิทธิ์ลงไปได้ โดยกวาเรสกิได้นำเสนอเรื่องราวโลกใบเล็กด้วยสำนวนที่ง่ายและเล่าด้วยอารมณ์ขันเสียดสีแต่ไม่ถูกใจบรรดานักวิจารณ์วรรณกรรม ในขณะที่ไผ่แดงนั้นจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมที่ดีของไทยกำลังถูกแทรกแซงด้วยแนวคิดอื่นที่เข้ามา ซึ่งออกไปในแนวทางความวิตกกังวลมากกว่า เพราะทางอิตาลีนั้นคอมมิวนิสต์ดำรงอยู่จริงในสถานะพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ดังนั้นในไผ่แดงจึงไม่ได้เป็นการต่อสู้ในสถานะพรรคการเมืองแบบที่ปรากฏในเรื่องโลกใบเล็ก แต่ไผ่แดงได้ยกแนวคิดพุทธศาสนาให้อยู่เหนือแนวคิดคอมมิวนิสต์ขึ้นไปอีก เห็นได้จากตอน “พระเบี้ยว” ซึ่งกล่าวถึงว่า สมภารกร่างต้องการกำจัดทิ้งเพราะไม่น่าชม เช่นเดียวกับตอน Operazione Sababila (ปฏิบัติการออเน ซาน บาบิลา) ในโลกใบเล็กที่รูปปั้นซานบาบิลาขวางหูขวางตา ไม่สวยงามจนถูกนำไปกำจัดทิ้งลงในแม่น้ำ ทว่าเรื่องราวของไผ่แดงนั้นหม่อมคึกฤทธิ์ ได้ปรับสาระใหม่ คือให้พระพุทธรูปที่น่าเกลียดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระเบี้ยวนี้ เมื่อถูกทำลายแล้วกลับมีพระพุทธรูปนาคองค์งามภายใน กล่าวคือปูนที่หุ้มรอบนอกและดูน่าเกลียดนั้นกลับมีความงามอายุกว่าสามร้อยปีอยู่ข้างใน และเป็นไปได้ว่าหม่อมคึกฤทธิ์ น่าจะดัดแปลงจากตอน La Madonna Brutta (พระแม่อัปลักษณ์) เพิ่มเติม กล่าวคือเป็นรูปปั้นพระแม่มาเรียที่ทำจากดินเผาและมีการทาสีอย่างอัปลักษณ์ บาทหลวงคิดกำจัดโดยให้รถบรรทุกแห่รอบเมืองผ่านเส้นทางที่ขรุขระ ซึ่งรูปปั้นพระแม่ก็ได้แตกกระจายแต่ภายใต้ดินเผานี้มีพระแม่องค์งามภายใน ซึ่งเหมือนกับพระเบี้ยวที่ปูนภายนอกคือสิ่งที่ปกป้องพระองค์งามให้พ้นจากหมู่โจร
การยกย่องสังคมเก่าอันดีงามของหม่อมคึกฤทธิ์ ยังเห็นได้จากตอน “เสียงระฆัง” ที่ชาวบ้านไผ่แดงเผชิญกับอุทกภัยอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน สมภารปรึกษากับนายแกว่นเพื่อหาวิธีป้องกันน้ำท่วม สมภารได้รับการตอบกลับมาว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกอำนาจ ช่วยใครไม่ได้ ถ้าเป็นปัญหาสังคมก็ว่าไปอีกอย่างหนึ่ง สมภารกร่างจึงต้องแก้ปัญหาเพียงคนเดียว ด้วยการให้กำนันเจิมประกาศให้ชาวบ้านเก็บของขึ้นที่สูง โดยที่สมภารไม่ทิ้งวัดไปไหนแม้ว่าน้ำจะท่วมกุฏิแล้วก็ตาม โดยมีการบรรยายว่า
“เสียงระฆังนั้นเป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระ นึกถึงคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา นึกถึงชีวิตส่วนรวมของบางไผ่แดงที่เคยรวมกันโดยใกล้ชิด… เป็นเครื่องปลอบใจในยามที่บังเกิดภัยอันตรายเป็นส่วนรวม เป็นเครื่องหมายแสดงว่าตราบใดที่เสียงระฆังที่วัดไผ่แดงนั้นยังดังอยู่ บางไผ่แดงนั้นเองก็ยังไม่สิ้น… เพราะตราบใดที่สมภารกร่างยังไม่ทิ้งวัด ชีวิตของไผ่แดงก็จะยังคงดำเนินไปในลักษณะที่มีดุลยภาพ มีความดีเป็นเครื่องถ่วงความชั่ว มีความมั่นคงในทางใจอันเกิดจากศรัทธาและความรู้สึกบาปบุญคุณโทษ”
เรื่องราวในตอนนี้จะดัดแปลงมาจากตอน Come pioveva (ฝนช่างตกหนัก) ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่และคนต้องอพยพหนี คามิลโลได้สั่งให้ทุกคนยกของขึ้นที่สูง และคามิลโลนั้นไม่ทิ้งโบสถ์และพระผู้เป็นเจ้าไปไหน ในฉากหนึ่งเมื่อเขานึกได้ว่าเป็นวันอาทิตย์ เขาจึงตีระฆังเพื่อให้ชาวบ้านทราบเวลาที่ต้องประกอบพิธีมิสซา จากนั้นผู้หญิงก็นำมือมาประสานกัน ส่วนผู้ชายก็ถอดหมวกออก ทั้งสองตอนนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะศาสนาพุทธหรือคริสต์ต่างก็มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์อย่างเหลือคณา ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออยู่ในฐานะใด และช่วยบรรเทาทุกข์ให้คนได้เสมอ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ศาสนาจะยังคงอยู่กับมวลมนุษย์ไม่มีเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าคิดอีกว่า ในไผ่แดงนั้นได้กล่าวถึงการท่องจำแต่ทฤษฎีโดยไม่เข้าใจว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ นายแกว่นถูกนำเสนอภาพให้เป็นตัวละครที่ยึดมั่นในหลักการมากจนไม่ปรับตัว ดังปรากฏว่าเมื่อลูกชายของเขาถูกตะปูตำเท้าจนเป็นบาดทะยัก แม้ว่าจะเจ็บหนักแต่นายแกว่นก็ไม่คิดจะพาลูกไปโรงพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าหมู่บ้านไผ่แดงไม่มีโรงพยาบาล ที่ที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ในอำเภอที่ไกลออกไป แกว่นเอาแต่พร่ำเพ้อว่าไม่มีความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำรังแกคนยากจน ทั้งยังประกาศว่าตนยอมเสียลูกดีกว่าเสียเกียรติภูมิของตน กล่าวคือหนักแน่นต่ออุดมการณ์จนละทิ้งหน้าที่ของพ่อ ซึ่งเป็นการเสียดสีขยายภาพผู้หลงใหลในลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ในที่สุดลูกชายเขาก็ได้รับการรักษาเพราะสมภารกร่างเป็นผู้พาไปรักษาเอง
ทั้งนี้แม้ว่าไผ่แดงจะมีความคล้ายกับเรื่องโลกใบเล็ก แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้กล่าวว่า แม้มีนักวิจารณ์หลายท่านกล่าวว่างานของหม่อมคึกฤทธิ์นั้นไม่มีความเป็นดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้งานวรรณกรรมมีลักษณะแบบสหบท (Intertextuality) หรือเป็นงานที่มีลักษณะแบบประกอบสร้างขึ้นจากงานเดิมให้เข้ากับบริบทใหม่ [2] ดังนั้นแล้ว บทพิสูจน์ความเก่งกาจอีกอย่างหนึ่งของผู้สร้างงานวรรณกรรมก็คือ ความสามารถในการประกบสิ่งที่มีจากภายนอก ให้เข้าสู่ภายในอย่างไร้รอยต่อ แบบที่หม่อมคึกฤทธิ์ ได้ทำนั่นเอง
อ้างอิง :
[1] สรุปข้อมูลจาก วิลาสินีย์ แฝงยงค์, “อิทธิพลของโลกใบเล็กของ ดอน คามิลโล ที่มีต่อ ไผ่แดง: การเปรียบเทียบนวนิยายทั้งสอง,” วารสารยุโรปศึกษา ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2564): 43-81.
[2] Elaine Martin, “Intertextuality: An Introduction,” The Comparatist Volume 35 (May 2011): 148-151.