เข้าใจแก่นของ “โพชฌังคปริตร” และการฟื้นฟูใจกายเพื่อให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย
“โพชฌังคปริตร” คือบทสวดมนต์ที่ชาวพุทธชาวไทยหลายคนเชื่อว่าเป็นบทสวดมนต์ที่จะช่วยให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย และมักสวดให้แก่ผู้ป่วย หรือสวดเอง อีกทั้งยังเป็น 1 ในบทสวด 12 ตำนาน ที่นิยมสวดกันในพิธีขึ้นบ้านใหม่ เพื่ออวยพรให้ผู้อยู่อาศัยปลอดภัยไร้โรคา
อย่างไรก็ตาม แกนหลักของ “โพชฌังคปริตร” คือ “โพชฌงค์ ทั้ง 7” หมายถึง “ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ทั้ง 7” อันประกอบด้วย
- สติ – ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่
- ธัมมวิจยะ – ความสอดส่องสืบค้นธรรม
- วิริยะ – ความเพียร
- ปีติ – ความอิ่มใจ
- ปัสสัทธิ – ความสงบกายสงบใจ
- สมาธิ – ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
- อุเบกขา – ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง
แต่คำสอนว่า การสวดโพชฌงค์ 7 แล้วจะหายป่วยนั้น ไม่มีในพระไตรปิฎก อีกทั้งในพระไตรปิฎก หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์ ผู้ถวายการรักษาพระอาการอาพาธของทั้งพระพุทธองค์ และพระสงฆ์สาวกของพระองค์ ด้วยวิชาการแพทย์ รวมไปถึงการมีพุทธบัญญัติถึง มาตรการด้านสุขอนามัยของทั้งภิกษุอาพาธ และผู้ดูแลอีกด้วย
“โพชฌังคปริตร” เป็นพระสูตรที่บูรพาจารย์รุ่นหลังแต่งขึ้น โดยอ้างอิงจากพระสูตรในพระไตรปิฎก 3 พระสูตรคือ ปฐมคิลานสูตร, คิลานสูตรที่ ๒ และ คิลานสูตรที่ ๓
ซึ่งคำ “คิลาน” แปลว่า “คนไข้” หรือ “ภิกษุอาพาธ” ซึ่งคิลานสูตรทั้ง 3 กล่าวถึงการป่วยไข้ของ พระมหากัสสปะ, พระมหาโมคคัลลานะ และพระพุทธองค์เองตามลำดับ
ใน “ปฐมคิลานสูตร” เล่าว่า พระมหากัสสปะอาพาธ เป็นไข้หนัก อยู่ที่ปิปผลิคูหา เขตกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมพร้อมตรัสถามอาการ พระมหากัสสปะ ทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ไม่สบาย จะอยู่ไม่ได้ มีแต่จะกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย”
พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาโพชฌัง 7 โดยย่อ ซึ่งหลังพระมหากัสสปะได้ฟังจนจบ เกิดความปีติยินดีจนหายอาพาธโดยพลัน
ใน คิลานสูตรที่ ๒ พระมหาโมคคัลลานะอาพาธเป็นไข้หนัก อยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมพร้อมตรัสถามอาการ พระมหาโมคคัลลานะทูลตอบว่า ข้าพระองค์ทนไม่ได้ อาการกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย
พระพุทธองค์จึงทรงเทศนาโพชฌัง 7 โดยย่อ ซึ่งหลังพระมหาโมคคัลลานะได้ฟังจนจบ เกิดความปลาบปลื้มใจจนหายอาพาธโดยพลัน
และใน คิลานสูตรที่ ๓ พระพุทธเจ้าทรงประชวร ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์
พระมหาจุนทะเข้าไปเยี่ยมพระอาการ พระพุทธองค์จึงทรงกับพระมหาจุนทะว่า “ดูกรจุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกับเธอ”
พระมหาจุนทะจึงกล่าวสรรเสริญโพชฌงคธรรม นำมาซึ่งความพอพระทัยแก่พระพุทธองค์ จนทรงหายประชวรในทันที
—
นอกจากโพชฌงค์ ในพระไตรปิฎก ยังมีการกล่าวถึงความอาพาธของพระภิกษุอื่น และหายอาพาธได้ด้วยการแสดงธรรมอื่นด้วยเช่นกัน ดังปรากฏใน “อาพาธสูตร” ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพุทธโองการให้พระอานนท์ แสดงธรรมเรื่อง “สัญญา 10” แก่พระคิริมานนท์ ซึ่งอาพาธอยู่ โดยพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์โดยละเอียด ยาวกว่าในคิลานสูตรทั้ง 3 มาก
ซึ่งหลังพระอานนท์แสดงธรรมตามพุทธโองการเสร็จ อาการของพระคิริมานนท์กลับสงบระงับ หายอาพาธได้โดยพลันเช่นกัน
—
จากคิลานสูตรทั้ง 3 และ อาพาธสูตร จะเห็นได้ว่า อานิสงส์ของการสวดมนต์แสดงธรรมต่อผู้ป่วยนั้น ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความปีติยินดี จิตใจสงบ มีกำลังใจดี จนสุขภาพแข็งแรง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแพทย์สมัยปัจจุบัน ที่เชื่อว่าสุขภาพใจและสุขภาพกายนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ โพชฌังคปริตร ซึ่งเป็น 1 ในบทสวด 12 ตำนาน นั้น เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ในคิลานสูตรทั้ง 3 โดยย่อ และคำอวยพรให้ผู้ป่วยได้หายป่วย มีความสุขสวัสดี
การสวดมนต์ จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการฝึกสมาธิแบบชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) และเป็นการเพาะสร้างอนุสติ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 40 กองกรรมฐาน ช่วยให้ผู้สวดได้เจริญสติภาวนา
นอกจากนี้ สำหรับผู้ฟัง หากเข้าใจในความหมาย และมีจิตศรัทธาที่มั่นคงในพระรัตนตรัย ย่อมเกิดความปีติยินดี ปลาบปลื้มใจ ทำให้สภาพจิตใจฟื้นฟูแข็งแรง อันจะส่งผลต่อสุขภาพกายได้ฟื้นฟูจนหายดี ดั่งที่ปรากฏในคิลานสูตรทั้ง 3 และอาพาธสูตรนั่นเอง
อ้างอิง :
[1] บริษัท สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด, “รวมบทสวด 12 ตำนาน: โพชฌังคปริตร พิชิตโรคภัย (ตำนานที่ 10)”
[2] 84000.org, “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้)”
[3] 84000.org, “ปฐมคิลานสูตร”
[4] 84000.org, “คิลานสูตรที่ ๒”
[5] 84000.org, “อาพาธสูตร”
[6] โพสต์ทูเดย์, “บทสวด-คำแปล “โพชฌังคปริตร” ที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯมีพระดำรัสถึง”