เข้าใจรากเหง้า และที่มาของเลขไทย และเลขสากล ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากระบบเลขเดียวกัน
กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมา เมื่อคุณ สฤณี อาชวานันทกุล โพสต์สนับสนุนให้มีการเลิกใช้เลขไทย [1] ซึ่งก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกลายเป็นข้อถกเถียงขึ้นมา และมีการโยงว่า เลขไทยนั้นยืมมาจากเขมรโบราญอีกที [2]
ก่อนที่เราจะกล่าวถึงที่มา เราจะย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของตัวเลข และวิชาคณิตศาสตร์กันก่อน โดยวิชาคณิตศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่มนุษย์เราสร้างขึ้นเพื่อการนับและการคำนวณถึงจำนวนของสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการ โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมเช่น จำนวนของก้อนหิน ไปจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่าง น้ำหนักของวัตถุ แรงตกกระทบ หรือจำนวนอะตอมนั่นเอง
โดยตัวเลขคือสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสาร ไม่ว่าจะตัวเลขของชาวอียิปต์โบราณที่วาดภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ แทนจำนวน เมื่อ 3 พันปีก่อนคริสตกาล [3] หรือระบบเลขอารบิก ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายคนกลายเป็นเลขสากลในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ระบบตัวเลขแทบจะทุกระบบในโลก เป็นเลขในระบบ “เลขฐานสิบ (Decimal)” ซึ่งเป็นระบบตัวเลขที่มีตัวเลข 10 ตัว ในขณะที่เลขฐานอื่นที่ยังมีใช้ในปัจจุบันคือ เลขฐานสอง และ เลขฐานสิบหก ซึ่งใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ นั้นเอง
สำหรับเลขไทยนั้น หากบอกว่ามีความคล้ายคลึงกับเลขของเขมร และเลขลาวนั้น เนื่องจากทั้ง 3 ชาตินี้ เป็นชาติที่มีมีความสัมพันธ์ระหว่างกันมาแต่โบราณกาล โดยเขมรเคยมีระดับอารยธรรมที่สูงกว่าทั้งไทยและลาว ในยุคจักรวรรดิเขมร (ค.ศ. 802–ค.ศ. 1431) ดังนั้น ความคล้ายคลึงดังกล่าวนี้ ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเลย
นอกจากนี้ วัฒนธรรมของจักรวรรดิเขมรนี้ รับช่วงมาจากวัฒนธรรมฮินดูอีกที ดังนั้น ระบบตัวเลขของเขมรนี้ รับเอาระบบตัวเลขฮินดู เข้ามาใช้ด้วยเช่นกัน [4]
ซึ่งระบบเลขฮินดู-อารบิกนี้เอง คือระบบตัวเลขที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของเลขฮินดู และวิชาคณิตศาสตร์อินเดียนั้นถูกพัฒนาขึ้นในช่วง 1200 ปีก่อนคริสตกาล [5] ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์อินเดียนั้น ไม่เพียงพัฒนาระบบตัวเลข แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานในปัจจุบันหลายวิชา อาทิเช่น เลขศูนย์, จำนวนลบ, พีชคณิต [5] อีกด้วย
วิชาคณิตศาสตร์และระบบตัวเลขฮินดู แพร่หลายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยทางตะวันตก ชาวอาหรับได้รับเอาตัวเลขฮินดูเข้าไปใช้และพัฒนาต่อจนแพร่หลายในโลกมุสลิม ก่อนที่จะส่งต่อถึงชาวยุโรป ผ่านการมีปฎิสัมพันธ์กันระหว่างสเปนและแอฟริกาเหนือ
“Codex Vigilanus” เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นใน ค.ศ. 976 คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่เพียงเป็นเอกสารทางยุโรปฉบับแรกที่กล่าวถึงเลขอารบิกเท่านั้น แต่ยังอธิบายถึงการเข้ามาของเลขอารบิกในช่วง ค.ศ. 900 นั่นเอง
ในช่วงต้นของการเผยแพร่ระบบตัวเลขอารบิก พระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2 และ ลีโอนาโด ฟิโอนาชี นักคณิตศาสตร์แห่งสาธารณรัฐปิซ่า คือหัวแรงสำคัญในการเพยแพร่ แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเลขอารบิกแพร่หลายในยุโรป จวบจนปัจจุบันคือการเข้ามาของเทคโนโลยีการพิมพ์
สำหรับ ญี่ปุ่น, เกาหลี และเวียดนาม ทั้ง 3 ชาตินี้ รับเอาระบบตัวเลขสืบต่อมาจากทางจีนอีกที ซึ่งจีนนั้น แต่เดิมใช้ระบบ “เส้นขีด” ซึ่งถึงแม้ว่าในยุคโบราณนั้น ระบบตัวเลขอารบิกจะเข้ามาในจีนบ้างแล้ว ผ่านชาวหุย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนที่นับถืออิสลาม ช่วงยุคราชวงศ์หมิง [6] [7] แต่ผู้ที่มีอิทธิพลในการเพยแพร่ระบบตัวเลขอารบิกในจีน จนเข้ามาทดแทนระบบตัวเลขแบบเดิมได้ กลับเป็นกลุ่มมิชชันนารีชาวโปรตุเกส [6][7]
ดังนั้น จะเห็นได้เลยว่า ไม่เพียงเลขไทย และเลขเขมรเท่านั้นที่มีความคล้ายคลึงกัน หากแต่อีกหลายระบบตัวเลขในโลกก็มีความคล้ายคลึงกันด้วย
ซึ่งนี่เพราะ ล้วนแต่มีจุดกำเนิดมาจากระบบตัวเลขฮินดูของอินเดีย ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ระบบตัวเลขฮินดู-อารบิก” เหมือนกัน [8]
สุดท้ายนี้ ทุก ๆ วัฒนธรรมล้วนแต่มีพัฒนาการขึ้นมาจากสิ่งที่สังคมในแต่ละยุคสมัยนั้นเห็นว่าดีงาม ซึ่งนี่รวมไปถึงเลขไทยและเลขเขมรด้วยเช่นกัน
สำหรับเลขไทย ณ จุดเริ่มต้น ไทยรับเอามาจากเขมร แต่ก็มีการพัฒนารูปแบบของตัวเลขมาตามยุคสมัย [9] อีกทั้งเนื่องด้วยภายหลัง ราชสำนักอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มีอิทธิพลเหนือกว่าราชสำนักเขมร ทำให้ตัวเลขเขมรยุคหลัง ได้รับอิทธิพลจากไทยมากกว่านั่นเอง [10]
นอกจากนี้ วัฒนธรรม ไม่เพียงเป็นสมบัติสาธารณะของชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติอีกด้วย เพราะวัฒนธรรม คือภาพสะท้อนวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดและความเป็นไปของมนุษย์แต่ละกลุ่ม [11]
มันไม่สำคัญว่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นจะมีจำนวนเท่าไร
ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ที่ปัจจุบันมีเหลือเพียงไม่กี่หมื่นคนในโลก เราก็ควรจะให้เกียรติวิถีของพวกเขา ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และเราควรช่วยเหลือส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมของพวกเขา ให้ยืนยงอยู่คู่โลกของเรา ตลอดไป
อ้างอิง :
[1] เลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการได้ไหม ?
[2] ชาวเน็ตโต้ดราม่า ชี้ “เลขไทย” ไม่ใช่ของไทยจริงๆ ยืมมาจาก “เขมรโบราณ” อีกที
[3] Egyptian numerals
[4] Khmer numerals
[5] Indian mathematics
[6] Arabic numerals
[7] Historical use of numerals in China
[8] Hindu–Arabic numeral system
[9] เลขไทย
[10] เรื่องเลขไทยยังไม่จบง่ายๆ เพราะลากเขมรมายุ่งด้วย
[11] 21 Reasons Culture is Important