อ.ไชยันต์ ซัดสื่อระดับโลก บิดเบือนข้อมูลใส่ร้ายรัชกาลที่ 9 ในเหตุการณ์ 14 ตุลา
จากบทความบนเว็บไซต์ของ BBC Thai เรื่อง 14 ตุลา 2516 : เปิดรายงานลับทูตอังกฤษว่าด้วย “การปฏิวัติเดือนตุลาคม” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 เป็นการรายงานเกี่ยวกับบันทึกเอกสารของเซอร์อาเธอร์ เดอ ลา แมร์ (Sir Arthur James de la Mare) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยในขณะนั้น ที่ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในกรุงลอนดอน
โดยเอกสารฉบับนั้นกล่าวถึงชนวนเหตุ และการยุติของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตามมุมมองของ เดอ ลา แมร์
แต่ปรากฏว่าทาง BBC Thai ได้ยกเพียงบางส่วนจากเอกสารของ เดอ ลา แมร์ แล้วสรุปเป็นเชิงชี้นำว่า การเข้ามายุติความขัดแย้งของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมือง ต่อมาทางเพจ ทะลุฟ้า ได้นำบทความดังกล่าวไปใส่ข้อความเพิ่มเติมให้เกิดความเข้าใจผิดอีกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 แทรกแซงทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง
ซึ่งต่อมา อ. ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อเท็จจริงโต้แย้งว่า บทความของ BBC Thai เป็นข้อมูลบิดเบือนที่จงใจกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9
โดยรายงานของ เดอ ลา แมร์ ได้วิเคราะห์ชนวนเหตุของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไว้ว่า สาเหตุใหญ่เกิดจากความไม่พอใจต่อรัฐบาล ในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพและการควบคุมค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาลในขณะนั้น และเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงได้ยุติลง พร้อมกับการโค่นล้มระบอบคณาธิปไตยของกลุ่มทหารที่ปกครองประเทศมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี เมื่อนักศึกษาได้รับรู้ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร หนีออกนอกประเทศไปแล้ว
อีกทั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงออกมายุติความขัดแย้ง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของนิสิตนักศึกษาและประชาชน แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ก็ตาม
ซึ่งในส่วนท้ายของบทความนี้เอง ที่ทาง BBC Thai ได้นำเพียงบางส่วนจากเอกสารของ เดอ ลา แมร์ มาตีความให้เกิดการเข้าใจผิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ละเมิดรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมือง ดังข้อความต่อไปนี้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีถึงความต้องการของประเทศ และทรงมีพระบารมีในการเป็นผู้นำในระหว่างเหตุการณ์ 14 ต.ค. พระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนจากประชาชนในการที่พระองค์ได้ทรงแสดงถึงความเป็นผู้นำในการเข้าแทรกแซง (intervention) เพื่อยุติความวุ่นวาย แต่เดอ ลา แมร์ เล่าว่า เขาได้รับทราบจากแหล่งข่าวภายในที่เชื่อถือได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดง ‘ความตกใจ’ ในการที่พระองค์ได้ถลำตัวลึกออกพ้นไปจากแนวคิดที่เคร่งครัดทางรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง…
…พระองค์ทรงขับไล่สามทรราช และเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และบางคนก็บอกว่าทรงเลือกคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง ทั้งหมดนี้ทำให้พระองค์ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองอีกต่อไป พระองค์จะถูกตำหนิ หากรัฐบาลใหม่มีข้อบกพร่องหรือล้มเหลว”
และต่อมาทางเพจ ทะลุฟ้า ได้นำบทความดังกล่าวไปใส่ข้อความเพิ่มเติม และโพสต์ลงในเพจเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 โดยทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่าเป็นคำกล่าวของ เดอ ลา แมร์ ดังนี้
“ในประเด็นที่เดอ ลา แมร์ ประหลาดใจประเด็นแรกคือ การล่มสลายที่ง่ายดายเกินไปของรัฐบาลถนอม และเขาก็ได้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะสถาบันกษัตริย์นั้นได้คาดการณ์แล้วว่า รัฐบาลจอมพลถนอมนั้นจะไปไม่รอด ก็เลยเลือกที่จะเข้าข้างกลุ่มนักศึกษาเพื่อรักษาฐานเสียงที่มีมากกว่าเพื่อความสร้างความดีความชอบต่อประชาชน…
…แต่อย่างไรก็ตาม เดอ ลา แมร์ ก็ได้พูดถึง ‘อำนาจที่เร้นลับของกษัตริย์’ (the mystic power of the crown) ไว้ด้วยเช่นกัน เพราะกษัตริย์นั้นดูเหมือนจะพยายามซื้อใจประชาชนด้วยการทำตัวเป็นฮีโร่ด้วยการแทรกแซงเพื่อยุติความรุนแรง และนั่นก็อาจจะเป็นการวางแผนดึงประชาชนให้กลับมาอยู่ในพระบารมีตนเองอีกครั้ง และผลลัพธ์นั้นก็ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นที่ยกย่องของประชาชนในฐานะผู้ยุติความรุนแรง”
ทั้งหมดนี้ เป็นการจงใจบิดเบือนข้อมูล ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการสร้าง “ความเท็จ” และกล่าวหาว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง
ซึ่งต่อมา อ. ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อเท็จจริงโต้แย้งเกี่ยวกับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ว่าสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปใน บทความของ BBC Thai นั่นคือ ข้อความบางตอนในเอกสารหมายเลข 10 ของ เดอ ลา แมร์ ที่กล่าวว่า
“…ข้าพเจ้า (เซอร์ อาเธอร์ เดอ ลา แมร์) ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า พระองค์ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงตระหนักอย่างยิ่งในความต้องการของประเทศ และทรงมีพระเกียรติยศและพระบารมีที่จะใช้ความเป็นผู้นำ ในสถานการณ์ที่พระองค์ทรงต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงทางมโนธรรม ที่ห้ามไม่ให้พระองค์แสดงบทบาทที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงก็คือ เมื่อพระองค์ถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์กลางเดือนตุลาคม พระองค์ได้ทรงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และทรงสามารถรับมือกับภาวะที่อันตรายฉุกเฉินได้ และพระองค์สมควรที่จะได้รับการยกย่องในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำลงไป…”
เดอ ลา แมร์ ได้เน้นย้ำปิดท้ายข้อความนี้ ด้วยประโยคภาษาฝรั่งเศสว่า “Faut-il opter ? Je suis peuple” ซึ่งหากตีความจากที่มาของประโยคนี้จะหมายถึง “การเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง”
เห็นได้ชัดว่า เดอ ลา แมร์ ต้องการสื่อถึงสถานการณ์ร้ายแรงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องเผชิญอยู่ในขณะนั้น นั่นคือ ระหว่างการเลือกเพิกเฉยต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอันตราย เพื่อความปลอดภัยของสถานะพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ กับ การเลือกตัดสินใจยืนอยู่ข้างประชาชน
พระองค์ทรงไม่ลังเลที่จะเลือกอย่างหลัง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของนิสิตนักศึกษาและประชาชน
และนี่คือสิ่งที่ BBC Thai ไม่ได้นำเสนอให้ครบถ้วน หากแต่พยายามบิดเบือนด้วยถ้อยคำ ที่ชักนำไปสู่การกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9
ในส่วนของการ “โกหก” ของเพจ ทะลุฟ้า นั้น เมื่อดูจากข้อความในเอกสารของ เดอ ลา แมร์ แล้ว ไม่มีข้อความภาษาอังกฤษส่วนใดของ เดอ ลา แมร์ ที่จะแปลหรือสื่อความตามที่เพจ ทะลุฟ้า ยกมากล่าวอ้างเลย
โดย เดอ ลา แมร์ เขียนว่า สาเหตุที่บ้านเมืองสงบลงได้อย่างรวดเร็วเป็นเพราะ
“จากการทราบข่าวว่า จอมพลถนอม-ประภาส และพันเอกณรงค์ ได้ออกไปจากประเทศ และ การลงมาอยู่ข้างนักศึกษาและประชาชนของกษัตริย์เป็นปัจจัยตัดสินสำคัญเด็ดขาด (decisive)”
เดอ ลา แมร์ ยังได้กล่าวไว้อีกในหัวข้อที่ 3 ว่า
“อะไรที่เป็นสาเหตุให้ยุติความรุนแรงอย่างฉับพลัน? สาเหตุได้แก่ ข่าวที่ออกมาว่า บุคคลที่เป็นที่รังเกียจทั้งสามได้ออกนอกประเทศไปแล้ว และวิถีแบบไทยที่น่าพิศวง และเหนือสิ่งอื่นใด คือ การลงมาของกษัตริย์”
และเขาได้ขยายความต่อมาในหัวข้อที่ 6 ว่า
“ทำไมการจลาจลของผู้คนจำนวนมหาศาล มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งตอนเย็นของวันที่ 15 ตุลาคม กลับยุติลงด้วยความสงบอย่างฉับพลันหลังสองชั่วโมงต่อมา? แน่นอนว่า การทราบข่าวที่ประกาศว่า คนทั้งสาม (จอมพลถนอม-ประภาส และพันเอกณรงค์) กำลังออกจากประเทศมีส่วนให้ทุกอย่างสงบลง…
…แต่เหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าคิดว่า เราต้องยอมรับพระราชอำนาจอันเร้นลับ (mystic- อาจอนุโลมแปลว่า ศักดิ์สิทธิ์) ของกษัตริย์ที่ทำให้ทุกอย่างจบลงได้อย่างพิเศษ…จริง ๆ แล้วบุคคลเดียวที่ข้าพเจ้ารู้ ที่คาดการณ์ล่วงหน้าถึงความรุนแรงของสถานการณ์คือ พระมหากษัตริย์ เมื่อ มิสเตอร์ Royle เข้าเฝ้าพระองค์ในวันที่ 10 ตุลาคม การทำกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงของนักศึกษายังไม่มีความรุนแรงอะไรและยังสงบสันติ แต่พระองค์ทรงตรัสว่า พระองค์ทรงวิตกอย่างยิ่งว่าจะเกิดการนองเลือด พระองค์ทรงวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักที่ไปจับกุมตัวสิบสองนักศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยเหตุผลที่ใช้ในการจับกุม…
…ทั้งตัวพระองค์เอง และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรัฐธรรมนูญ และนักศึกษามีสิทธิ์เต็มที่ในการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างสงบสันติ”
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีส่วนใดเลยที่แปลหรือสื่อความหมายว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พยายามซื้อใจประชาชน ด้วยการทำตัวเป็นฮีโร่ ด้วยการเข้าแทรกแซงเพื่อยุติความรุนแรง ตามที่เพจ ทะลุฟ้า กล่าวหา
ดังนั้น การเผยแพร่บทความของเว็บไซต์ BBC Thai และข้อความของเพจ ทะลุฟ้า จึงถือเป็นการ “บิดเบือน” ข้อมูลและส่งต่อ “ความเท็จ” เพื่อมุ่งโจมตีในหลวงรัชกาลที่ 9 และจงใจสร้างความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ที่มา :
[1] 14 ตุลา 2516 : เปิดรายงานลับทูตอังกฤษว่าด้วย “การปฏิวัติเดือนตุลาคม”
[2] เปิดบันทึกทูตอังกฤษ: การแทรกแซงของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
[3] สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปใน บทความเรื่อง “48 ปี 14 ตุลา เปิดรายงานลับทูตอังกฤษที่ส่งกลับลอนดอน” ของ BBC Thai : ไชยันต์ ไชยพร 15 ตุลาคม 2564
[4] ข้อโต้แย้งกรณี “เปิดบันทึกทูตอังกฤษ: การแทรกแซงของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516” : ไชยันต์ ไชยพร 15 ตุลาคม 2564