‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 8

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

ก่อนหน้าที่สยามจะเซ็นสัญญากับฮอลันดา 2 ปี

ใน ค.ศ.
1662 (พ.ศ. 2205) คณะมิชชันนารีโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศส ได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อเผยแพร่ศาสนา ทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่มีการห้ามปรามการนับถือศาสนาเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่คณะมิชชันนารีเคยเดินทางไปเผยแพร่

มองซิเออร์ เดอลามอต ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เขียนบันทึกเป็นจดหมายไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าโลกนี้จะหาเมืองไหนที่จะมีศาสนามาก และอนุญาตให้ปฏิบัติตามศาสนานั้นได้เท่ากับเมืองสยาม เห็นจะหาไม่ได้อีกแล้ว – พวกไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนาก็ดี พวกที่นับถือเข้ารีดก็ดี หรือพวกมะหะหมัดก็ดี ต่างแยกกันอยู่เป็นหมู่ ปฏิบัติศาสนากิจตามลัทธิของตนได้โดยไม่มีข้อห้ามปรามอย่างใด

พวกชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น เขมร มอญ แขกมะละกา ญวนและชาติอื่น ๆ ก็มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองสยาม”

(* ในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองท่าการค้าระดับโลก จึงปรากฏหมู่บ้านต่าง ๆ ของชาวต่างชาติขึ้นหลายแห่ง เช่น หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านจีน หมู่บ้านแขก หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านอังกฤษ หมู่บ้านฝรั่งเศส)

นั้นคือความเสรีทางศาสนา ที่มองซิเออร์ เดอลามอต ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสได้พบเห็นและเขียนไว้ ขณะเดียวกันความเสรีทางการค้า ก็มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ว่า

“ในชมพูทวีปไม่มีเมืองใดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ามากมายเท่ากับสยาม สินค้าขายได้ดีมากในสยายและการซื้อขายใช้เงินสด เมืองท่าของสยามในเวลานั้นมีอยู่หลายเมืองด้วยกัน ได้แก่ มะริด ตะนาวศรี ภูเก็ต ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และบางกอก”

บันทึกของพ่อค้าชี้ให้เห็นการเมืองการปกครองประการหนึ่งว่า ในเวลานั้น มะริด ตะนาวศรี ปัตตานี อยู่ในอำนาจของสยาม (อยุธยา) อยู่ก่อนแล้ว

หลังเซ็นสัญญากับฮอลันดาได้ 2 ปี

ใน ค.ศ
1666 (พ.ศ. 2208) สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นมาใหม่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) – หลายคนมักให้ความเห็นว่า เป็นการไปเตรียมตั้งราชธานีใหม่เพื่อป้องกันการบุกของฮอลันดา .. ซึ่งไม่น่าจะใกล้เคียงความจริง

การขึ้นไปสร้างพระราชวังที่เมืองละโว้ น่าจะเป็นความชอบส่วนพระองค์ ผู้เขียนคาดคะเนว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงได้เคยไปละโว้ (ลพบุรี) มาแล้วก่อนหน้านี้ และละโว้ในยุคสมัยนั้นต้องมีความสำคัญไม่แพ้เมืองสุพรรณบุรี ด้วยละโว้เองเคยเป็นเมืองที่มีอิทธิพลบารมีมาก่อนที่จะเกิดการตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นมา

สิ่งที่บ่งบอกถึงความชอบส่วนพระองค์ก็คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดการล่าสัตว์ การคล้องช้าง การประพาสป่า พระองค์ทรงใช้เวลาในพระราชวังใหม่แห่งนี้ไปกับการเดินป่าล่าสัตว์ และถ้าอยู่ในเมืองหลวงกรุงศรีอยุธยาพระองค์จะทรงกระทำเช่นนั้นเป็นประจำไม่ได้

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือการเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์ว่า – พระนารายณ์เสด็จมาประทับอยู่ลพบุรีเป็นเวลานาน การปรับปรุงพระราชวังมิได้สอดคล้องกับการหาที่มั่นเพื่อต้านทานการบุกของกำปั่นรบฮอลันดา อันที่จริงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาก็เป็นที่กีดขวางการเข้ามาของเรือใหญ่ที่กินน้ำลึกอยู่แล้ว

ดังนั้นผู้เขียนมองว่า เหตุผลของการบอกว่า การไปสร้างพระราชวังที่ลพบุรีเพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่อาจเกิดสงครามกับฮอลันดา จึงเป็นเหตุผลที่เบาเกินไป

เพราะถ้าฮอลันดาจะบุกมายึดสยามจริง การเข้ามายึดเอากรุงศรีอยุธยาก็เท่ากับยึดสยามได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องบุกขึ้นไปยึดถึงลพบุรี เพราะที่่กรุงศรีอยุธยาคือศูนย์กลางของประเทศ เป็นศูนย์การทำงานการสั่งการ ทั้งหน่วยราชการและหน่วยงานเอกชนบริษัทต่าง ๆ ส่วนที่พระราชวังลพบุรีมีเพียงพระมหากษัตริย์ ทหารอาสา และข้าราชบริพารส่วนพระองค์เท่านั้น

สำหรับสมเด็จพระนารายณ์ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ได้สร้างลักษณะความรู้สึกว่า เป็นมิตรกับพระองค์มากกว่านครหลวงอย่างกรุงศรีอยุธยา – ความรู้สึกเป็นมิตรเกิดจากความรู้สึกถึงความมีเสรี ห่างไกลจากการประจบ ห่างใจจากความหวาดระแวง ห่างไกลจากเหล่าขุนนาง ห่างไกลจากเกมการแย่งชิงอำนาจตลอดเวลา

คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสเมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอตั้งโรงเรียนและโบสถ์ขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และหลังจากกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงอนุญาตให้ตามที่ขอ คณะมิชชันนารีจึงได้มีจดหมายไปถึงประเทศของตนขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระราชสาส์นมาส่งกลับมายังกษัตริย์สยามเพื่อจะได้เป็นไมตรีอย่างเป็นทางการ

ครั้งต่อมาพระสังฆราชของฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ และได้เล่าเรื่องประเทศฝรั่งเศสให้ฟัง รวมถึงเรื่องสงครามที่ฝรั่งเศสสามารถชนะพวกฮอลันดาในอินเดีย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทราบถึงความเป็นมหาอำนาจตะวันตกของชาติฝรั่งเศส จึงรู้สึกชื่นชมยินดี

การชื่นชมยินดีและการมีไมตรีของสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทำให้คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสคิดว่าสามารถเปลี่ยนพระองค์หันมานับถือศาสนาคริสต์ของตนได้

สมเด็จพระนารายณ์ก็หวังให้คนฝรั่งเศสเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเพื่อทำการค้าแข่งกับฮอลันดา ทั้งสองต่างเป็นชาติตะวันตกด้วยกันและยังเคยรบ รู้ตื้นลึกหนาบางกันมาก่อน ยังไงก็ต้องสามารถคานอำนาจกันได้ – เพียงแต่พระองค์ไม่สามารถลงไปเล่นเกมนี้ได้อย่างเต็มตัว พระองค์จำเป็นต้องหาตัวแทน

แล้วชายหนุ่มชาวกรีกที่ชื่อว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็เข้ามาได้ถูกจังหวะพอดี

คอนสแตนติน ฟอลคอน มีประวัติในอดีตที่น่าสนใจ พอ ๆ กับลักษณะการขี้โม้โอ้อวดจนเป็นที่หมั่นไส้ของคนหลายคน

ฟอลคอน เป็นคนชนชาติกรีก ออกจากบ้านตั้งแต่เด็กประมาณ 10 ขวบ ไปทำงานเป็นลูกเรือให้กับบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ (East India Company) อยู่หลายปี จนสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงได้ทำการเช่าเรือเป็นการส่วนตัวเพื่อทำการค้าด้วยตนเอง

ฟอลคอน ได้เล่าเรื่องของตนเองให้กับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสฟังว่า “ตอนเช่าเรือทำการค้า เรือเกิดแตกทำให้ฟอลคอนต้องว่ายน้ำหนีขึ้นบก นอนริมชายหาดแล้วหลับฝันไป ในฝันเห็นคนคนหนึ่ง ท่าทางสง่าผ่าเผยยืนหัวเราะอยู่ แล้วพูดกับฟอลคอนว่า กลับเกิด กลับไปตามทางเดิมที่มานั้นเถิด”

เมื่อตื่นขึ้นมา ฟอลคอนเดินไปมาอยู่ริมชายทะเลกำลังครุ่นคิดว่าจะกลับไปยังสยาม ตามทางที่เคยมานั้นดีหรือไม่ ? แล้วก็หันไปมองเห็นคน ๆ หนึ่ง ตัวเปียกน้ำชุ่มโชก หน้าตาเศร้าหมอง เดินเข้ามาหา – นับเป็นโชคชะตาอัศจรรย์มาก เพราะคนที่เปียกน้ำคนนั้นเป็นราชทูตของพระเจ้ากรุงสยาม ที่เดินทางกลับจากเปอร์เซียและเรือมาแตกตรงที่นี้เหมือนกัน

แล้วทั้งสองคน ราชทูตสยามและฟอลคอนจึงได้ปรึกษากัน โดยฟอลคอนเอาเงินที่ยังเหลืออยู่ 10,000 แฟรงค์ ซื้อเรือลำเล็ก ๆ และซื้อเสื้อผ้า เสบียงอาหาร แล้วแล่นเรือมุ่งสู่เมืองสยาม – จากนั้นราชทูตจึงได้นำฟอลคอนเข้าถวายตัวกับพระเจ้าแผ่นดินสยาม จนสามารถทำงานรับราชการได้ดิบได้ดีจนทุกวันนี้

นั้นคือเรื่องเล่า ที่ฟอลคอนเล่าให้บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาฟัง เล่าในช่วงเวลาที่ฟอลคอนมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีใหญ่แล้ว ดังนั้นในคำบอกเล่าเมื่อคราวมีอำนาจย่อมเจือปนไปด้วยคำโอ้อวด

แต่ก็นับได้ว่า ฟอลคอนเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาได้ถูกจังหวะ ด้วยการรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส อีกทั้งยังคุ้นเคยกับการค้าการเดินเรือ จึงสามารถทำหน้าที่เริ่มต้นเป็นล่ามทางการค้าได้ดี จากนั้นค่อย ๆ ขยับสู่อำนาจใหญ่ดูแลการค้าทั้งหมด

การปรากฏตัวของฟอลคอน ที่มาพร้อมกับความสามารถในการค้าการเจรจา มาในจังหวะที่ฝรั่งเศสส่งคณะมิชชันนารีเข้ามาในอยุธยา ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ที่กำลังมองหา “ตัวหมาก” เพื่อใช้เป็นตัวแทนในการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศอยู่นั้น พลันถูกจังหวะอย่างพอเหมาะพอเจาะ

ฟอลคอนเองหรือจะไม่รู้ว่า ตัวเองเป็นหมากของเกมการเมืองระหว่างประเทศ ผสมเข้ากับเกมการชิงอำนาจของขุนนางในราชสำนักสยาม เพียงแต่โอกาสเช่นนี้ไม่มีให้อีกแล้วในชีิวิต จึงคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเล่นมัน

ฟอลคอนเองก็มองสมเด็จพระนารายณ์เป็นหมากตัวหนึ่งเช่นกัน ถ้าฟอลคอนเป็นหมากตัวเบี้ย แล้วสมเด็จพระนารายณ์เป็นหมากตัวขุน หมากตัวขุนดังพระมหากษัตริย์นี้จะต้องคอยปกป้องเบี้ยตัวนี้ไม่ให้ถูกหมากอื่นกิน เพราะถ้าเบี้ยตัวนี้ถูกหมากของคู่แข่งกินไป หมากตัวขุนก็ตกอยู่ในสภาวะอันตรายเช่นกัน

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า