‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 7

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

สถานการณ์ทางการค้าของฮอลันดา ดูเหมือนไม่สามารถผูกขาดการค้า “หนังกวาง” เพื่อขายให้กับญี่ปุ่นได้เพียงเจ้าเดียว แม้จะเคยมีข้อตกลงกับอยุธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททองมาแล้วก็ตาม

สถานการณ์การค้าในช่วงเวลานั้น พ่อค้าคนจีนที่อยู่ในสยามและอยู่ในจีน ได้ลักลอบค้าขายหนังกวางให้กับพ่อค้าญี่ปุ่น ขณะเดียวกันคนจีนที่มีความสามารถในการเดินเรือก็ได้ช่วยเดินเรือให้กับเรือสินค้าของนายอับดุล ราซัค หรือออกญาพิชิต เพื่อทำการค้ากับญี่ปุ่น

นั่นเป็นแค่แรงกดดันการแข่งขันหนึ่งเท่านั้นที่ฮอลันดาได้รับ แต่แรงกดดันที่หนักกว่าอยู่ที่เกาะไต้หวัน อันเป็นอาณานิคมสถานีหลักของฮอลันดาถูกยึดคืนกลับไป

ขอเล่าเรื่องเกาะไต้หวันเป็นเกร็ดเล็ก ๆ นิดหนึ่ง

ก่อนที่ฮอลันดาจะมายึดเอาเกาะไต้หวันมาเป็นของตนเอง เกาะไต้หวันแม้นจะอยู่ในเขตอิทธิพลของจีนแต่ราชสำนักจีนก็ดูไม่ใส่ใจ ปล่อยทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เอาไว้ เหตุเพราะแผ่นดินผืนใหญ่ตรงกลางของจีนยังมีปัญหามากมายที่ต้องบริหารจัดการ

เมื่อสมัยปลายราชวงศ์หมิงอ่อนแอ ชนชาวแมนจูได้พยายามเข้ามารุกรานยึดครองแผ่นดินจีน พยายามอยู่ถึง 26 ปีจึงสามารถผ่านกำแพงเมืองจีนเข้ามาได้ (ค.ศ. 1618 – ค.ศ. 1644) จากการทรยศของ “อู๋ซานกุ้ย” ที่เปิดด่านซันไฮ่กวน ให้ทัพแมนจูเข้ามา และก่อตั้งขึ้นเป็นราชวงศ์ชิงขึ้นปกครองแผ่นดินจีน

(* ช่วงเวลาที่แมนจูบุกแผ่นดินจีน ผ่านเข้าด่านซันไฮ่กวนและเข้ายึดกรุงปักกิ่ง ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)

เมื่อแมนจูก่อตั้งราชวงศ์ชิงขึ้นมา แต่ใช่ว่าจะสามารถปกครองได้อย่างสงบสุข เพราะทายาทราชวงศ์หมิงผู้หลงเหลือบางส่วนสามารถหลบหนีซ่อนตัว ยังคงสะสมกำลัง รวมถึงแม่ทัพนายกองของราชวงศ์หมิงเอง ยังมีความพยายามจะก่อการฟื้นราชวงศ์หมิงขึ้นมาใหม่อยู่ตลอด

จนถึงสมัย “จักรพรรดิคังซี” แห่งราชวงศ์ชิงขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิคังซีมีนโยบายจัดเต็มให้กวาดล้างแม่ทัพนายกองและทายาทที่ยังหลบหนีของราชวงศ์หมิงให้สิ้นซากหมดสิ้น

(* จักรพรรดิคังซีของจีน คือบุคคลร่วมสมัยเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์ของกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น)

นโยบายกวาดล้างหมิงของจักรพรรดิคังซี ได้ทำให้ “เจิ้งเจิงกง” อดีตแม่ทัพหนุ่มของราชวงศ์หมิง ซึ่งตั้งกองกำลังกู้ชาติอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ถูกรุกไล่จนไม่อาจตั้งมั่นที่เดิมได้ เจิ้งเจิงกงจึงนำทหารกว่า 25,000 นาย รวมถึงกองเรือของเขา ถอยร่นออกจากแผ่นดินใหญ่ข้ามทะเลสู่เกาะไต้หวัน

ขณะนั้นบนเกาะไต้หวัน มีกองกำลังทหารของฮอลันดายึดเอาไว้อยู่ก่อนแล้ว โดยใช้เป็นศูนย์กลางการค้าในย่านทะเลจีนใต้ ญี่ปุ่น และหมู่เกาะต่าง ๆ รอบ ๆ

ทหารจีนภายใต้การนำทัพของเจิ้งเจิงกง เปิดฉากสู้รบโดยปิดล้อมเกาะไต้หวันนานถึงกว่า 7เดือน ทำให้ฮอลันดาไม่สามารถทำการค้า จำต้องถอนสถานีการค้าออกจากเกาะไต้หวัน ด้วยที่ผ่านมานั้นฮอลันดาได้ยึดเกาะไต้หวันครองไว้เป็นอาณานิคมนานถึง 38 ปี

นับจากนั้น เจิ้งเจิงกง ได้ใช้เกาะไต้หวันเป็นฐานตั้งมั่นสะสมกำลังและทรัพยากรเพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงของพวกแมนจู โดยริเริ่มคำขวัญว่า “โค่นชิง กู้หมิง”

คำปลุกใจ “โค่นชิง กู้หมิง” จึงกลายเป็นสโลแกนนับจากนั้น มันถูกใช้ปลุกระดมความเป็นชาวฮั่นมาถึง 270 ปี จนเกิดปฏิกิริยารักชาติครั้งใหญ่ขึ้นในรัชสมัยของซูสีไทเฮา และก่อให้เกิดการปฏิวัติใหญ่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน

….

ที่เขียนเล่ามา เพื่อฉายให้เห็นภาพกว้างว่า ฮอลันดาถูกสถานการณ์แวดล้อมหลาย ๆ อย่าง ทำให้สูญเสียรายได้และโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะเกาะไต้หวันถูกยึดกลับคืนไป

ที่สำคัญคือเมื่อเกาะไต้หวันตกอยู่ในการปกครองของแม่ทัพเจิ้งเจิงกง ซึ่งตั้งหลักปักฐานบนเกาะแห่งนี้ ก็ได้หันมาหารายได้ด้วยการทำการค้า โดยพักเรื่องสงครามอันบอบช้ำเอาไว้ก่อน

เจิ้งเจิงกงแห่งเกาะไต้หวัน หันมาทำการค้าโดยตรงกับกรุงศรีอยุธยา เพราะในอาณาเขตรอบ ๆ ทะเลจีนใต้จรดยาวไปถึงฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ในช่วงเวลานั้นมีเพียงกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นที่เป็น “สถานีเมืองท่าโลก” แหล่งของการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างซีกโลกตะวันออกกับซีกโลกตะวันตก

การที่ไต้หวันหันมาทำการค้าโดยตรงกับกรุงศรีอยุธยาโดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้บริษัท VOC ของฮอลันดา เกิดความไม่พอใจมากกว่าเดิม – ผสมกับเหตุการณ์ที่ฮอลันดาบุกค้นจับเรือสินค้าที่น่าสงสัย แล้วพบว่ามีเรือสินค้าของขุนนางอยุธยาแอบค้าขายหนังกวางกับญี่ปุ่น แต่ได้ชักธงชาติโปรตุเกสเอาไว้ตรงหัวเรือเพื่อปกปิดร่องรอยการกระทำผิด

ทำให้ฮอลันดาเดือดดาล จนเอาเรือรบมาปิดอ่าวไทย เพื่อไม่ให้เรืออยุธยาออกทะเลไปค้าขายกับจีนและญี่ปุ่น และไม่ให้เรือสินค้าจีนหรือญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าแลกเปลี่ยนกับอยุธยา

ด้านสมเด็จพระนารายณ์เมื่อเสร็จศึกจากการตีเชียงใหม่และพม่า ทรงทราบว่าอ่าวไทยถูกปิดจึงค่อนข้างวิตกยิ่งนัก เมื่อได้สอบสวนทวนความ เห็นว่าสาเหตุหนึ่งนั้นเกิดจากการที่ขุนนางของอยุธยาทำการค้าซะเอง พระองค์จึงได้ปลดออกญาพิชิต หรือนายอับดุล ราซัค หัวหน้ากลุ่มมุสลิมที่เคยช่วยเหลือพระองค์เมื่อคราวบุกชิงบัลลังก์ ออกจากตำแหน่งกรมท่าที่ดูแลการค้า

จากนัั้นทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งตัวแทนไปขอประนีประนอมกับทางบริษัท VOC (บริษัทอินเดียตะวันออกแห่งฮอลันดา) ซึ่งมีเรือรบปิดอ่าวไทยอยู่ ทางบริษัทฮอลันดาจึงถือโอกาสนี้เรียกร้องให้มีการเซ็นสัญญาระหว่างสยามกับบริษัท VOC ขึ้นมา

สมเด็จพระนารายณ์ตระหนักดีถึงกองกำลังรบทางเรือของสยามว่า ไม่มีความสามารถที่จะชนะฝ่ายฮอลันดาได้ถ้าคิดจะเปิดศึกทางทะเลเพื่อเปิดน่านน้ำอ่าวไทย พระองค์จึงยอมตกลงในสัญญาร่วมฉบับนั้น

สัญญาระหว่างกรุงศรีอยุธยากับบริษัท VOC ฮอลันดา ลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1664 (หรือ พ.ศ. 2207) อันมีสาระหลัก ๆ ในสัญญา ดังนี้

  1. ฮอลันดาสามารถทำการค้ากับสยามได้โดยเสรี ไม่มีข้อจำกัดในสินค้า (หมายถึงไม่มีการกีดกันว่าเป็นสินค้าชนิดใด แม้จะเป็นสินค้าต้องห้ามเฉพาะของกรุงศรีอยุธยาก็ตาม เช่น ช้าง งาช้าง ฯลฯ)
  2. การจะจัดส่งหนังกวางและหนังโคออกจากประเทศสยาม ให้เป็นการผูกขาดของบริษัทฮอลันดาเพียงผู้เดียว
  3. สยามต้องห้ามจ้างคนจีน คนญี่ปุ่น หรือคนญวน ให้มาทำงานในเรือสำเภาของอยุธยา ถ้าพบว่าบนเรือสำเภามีคนดังกล่าวอยู่ ฮอลันดาจะยึดเอาไว้เสีย
  4. และถ้าคนของบริษัทฮอลันดากระทำความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง กษัตริย์กรุงสยามไม่มีสิทธิพิจารณาพิพากษา ต้องส่งตัวให้หัวหน้าของบริษัทฮอลันดาลงโทษตามกฎหมายของฮอลันดา

ข้อที่ระบุว่า ห้ามสยามลงโทษคนที่กระทำผิดของฮอลันดา ต้องส่งตัวให้ฝ่ายฮอลันดาตัดสินพิจารณาเองเท่านั้น นับเป็นการ “เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตครั้งแรก” ของสยาม

 (* เพียงแต่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและกฎหมาย ในคราวนั้นเกิดขึ้นไม่นาน พอหลังจากสมเด็จพระเพทราชาขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้มีการยกเลิกข้อตกลงกับชาวต่างชาติทั้งหมด

– การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยจริง ๆ มีจุดเริ่มต้นจากสนธิสัญญาเบาริ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2398 ซึ่งยาวนานมาถึง 83 ปี กว่าไทยจะสามารถยกเลิกสนธิสัญญาต่าง ๆ กับหลาย ๆ ชาติได้หมดสิ้น ก็ในปี พ.ศ. 2481)

….

เหตุการณ์การปิดอ่าว จนเกิดการทำสัญญาระหว่างกรุงศรีอยุธยากับบริษัท VOC ของฮอลันดา ย่อมทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงตระหนักดีว่า ฮอลันดามีความดุดันที่จะมุ่งมั่นทำการค้ามากกว่าชาติโปรตุเกส ในเวลานั้นบริษัทฮอลันดาเป็นชาติเดียวที่ไม่สนใจเรื่องการเผยแพร่ศาสนาใด ๆ ในขณะที่ชาติโปรตุเกสยังมีกิจกรรมด้านการเผยแพร่ศาสนาควบคู่กับการค้าไปด้วย

ส่วนทางด้านอังกฤษ แม้จะเข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาในระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางการค้า อีกทั้งสถานีการค้าหลักของอังกฤษที่ตั้งขึ้นในประเทศอินเดีย (บริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน : British East India Company) ก็เกิดปัญหาการทุจริต ทำให้บทบาทการค้าของอังกฤษในกรุงศรีอยุธยาสู้ฮอลันดาไม่ได้

จังหวะเดียวกันนั้น ได้มีคณะมิชชันนารีของฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันที่ 22สิงหาคม ค.ศ. 1662 (พ.ศ. 2205) – หรือ 2 ปีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์กองเรือฮอลันดาปิดอ่าวไทย – คณะมิชชันนารีของฝรั่งเศสที่เดินทางไปทั่วโลก โดยอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ประจวบกับชายหนุ่มชาวกรีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า คอนสแตนติน ฟอลคอล ได้เข้ามามีบทบาทในราชสำนักอยุธยาอย่างพอเหมาะพอเจาะ

แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เพิ่งผ่านจากการเปลี่ยนราชบัลลังก์มาไม่นาน แล้วขึ้นไปปราบเมืองเชียงใหม่ จากนั้นเข้าตีพม่าเพื่อประกาศความเข้มแข็งของสยาม จนเกิดเหตุการค้าระหว่างสยามกับฮอลันดา ซึ่งล้วนแต่เป็นภารกิจที่ต้องแก้ปัญหาทั้งสิ้น

ทำให้ในปี พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์ทรงไปสร้างพระราชวังใหม่ขึ้นที่ละโว้ (ลพบุรี) เพื่อใช้เป็นที่พักส่วนพระองค์ หลีกหนีจากความขัดแย้งแย่งชิงและความหวาดระแวงในราชธานีกรุงศรีอยุธยา

ถึงแม้นจะย้ายไปอยู่พระราชวังที่ละโว้ แต่เกมความขัดแย้งและการถ่วงดุลอำนาจ ก็เดินทางไปถึงโดยไม่อาจหลีกหนีหลบเลี่ยงไปได้

และได้ก่อเกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับฝรั่งเศส โดยมีคอนสแตนติน ฟอลคอล เป็นแกนกลางของเกมนี้

โปรดติดตามต่อ ในตอนที่ 8

….

ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า