บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล
เจ้าแสนสุรินทร์ไมตรี เป็นผู้ถือสารจากเจ้าเมืองเชียงใหม่มาให้กรุงศรีอยุธยารีบขึ้นไปช่วยเหลือเมืองเชียงใหม่ ครั้นพอสมเด็จพระนารายณ์และกองทัพยกไปได้เพียงครึ่งทาง เจ้าแสนสุรินทร์ไมตรีคนถือสารของเชียงใหม่แอบหนีหายไป
เมื่อส่งทหารสอดแนมไปดู จึงรู้ว่าเจ้าแสนสุรินทร์ไมตรีได้รับจดหมายลับจากเชียงใหม่ ให้กลับมาไม่ต้องไปขอความช่วยเหลือจากอยุธยาอีกแล้ว เพราะทัพจีนฮ่อได้ถอยกลับไปแล้ว
“จีนฮ่อ” เรามักจะได้ยินคำนี้อยู่หลายครั้ง … เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดสงครามปราบฮ่อ – พอไปภาคเหนือ ขึ้นเขาไปจะพบหมู่บ้านจีนฮ่อ ทั้งเชียงใหม่และเชียงราย
จีนฮ่อ ในเอกสารหลายชิ้นบอกว่าเป็นจีนมุสลิมที่ลงมาจากประเทศจีน ถือว่าไม่ถูกต้องเลยทีเดียว เพราะคนจีนที่ลงมาอาศัยบนภูเขาในภาคเหนือของไทยนั้น มีทั้งมุสลิมและจีนยูนนาน .. ส่วนที่ขายขาหมูหมั่นโถวกันเต็มไปหมด ล้วนเป็นจีนจากยูนนาน ทั้งสิ้น
จีนฮ่อ เป็นแค่คำเรียกรวม ด้วยความไม่รู้ว่าคือจีนอะไร ? ในสมัยก่อนแมนจูก็ถือว่าจีน ชาวฮั่นก็ถือว่าจีน ชาวซินเจียงก็ถือว่าจีน
ดังนั้นจะขออธิบายพอสังเขป ไม่ลงลึกในเรื่องแผ่นดินจีนมากไป
จีนฮ่อ ที่ยกลงมาในคราวราว พ.ศ. 2203 จนทำให้เชียงใหม่ตกใจนั้น จนต้องมาขอกำลังจากสมเด็จพระนารายณ์นั้น ก็คือจีนจากกองทัพ “อู๋ซานกุ้ย” ซึ่งไล่ล่าการหลบหนีของ “จูโหย่วหวาง” หรือฮ่องเต้หย่งลี่ เชื้อพระวงศ์ราชวงศ์หมิงที่หลงเหลือจากการโค่นล้มของชนชาติแมนจู
อู๋ซานกุ้ย ถูกสถานการณ์บีบให้ทรยศราชวงศ์หมิงเข้าด้วยกับพวกแมนจู และได้รับคำสั่งให้จับเอาเชื้อพระวงศ์หมิงที่หลบหนีนั้นกลับมา – ฮ่องเต้หย่งลี่ได้หลบหนีลงใต้มาเรื่อย ๆ จนถึงมณฑลยูนนานและเข้ามาอยู่ในเขตอังวะของพม่า กองทัพของอู๋ซานกุ้ยจึงไล่ตามมาเพื่อจะจับกลับไป
ฝ่ายพม่าเมื่อเห็นทัพใหญ่จากจีน พระเจ้ากรุงอังวะจึงได้ดึงเอากำลังส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพื่อไปรับศึกกับจีน และทำให้ทหารในเชียงใหม่มีน้อย เจ้าเมืองเชียงใหม่หวาดกลัวว่าทัพจีนจะรุกรบลงมาจนถึงเมืองเชียงใหม่ จึงได้แสดงตนเป็นพวก “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” ด้วยการรีบไปขอกำลังจากกรุงศรีอยุธยามาช่วยเหลือ
พอเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทราบจากกรุงอังวะว่า กองทัพอู๋ซานกุ้ยได้ถอยกลับไป จึงรีบบอกให้นายแสนสุรินทร์ไมตรีผู้ถือสารขอความช่วยเหลือ แอบหนีกลับมา ทิ้งให้ทางกรุงศรีอยุธยาถูกหลอกให้เดินทัพอย่างเสียเที่ยว
นั้นคือจีนฮ่อ ที่ถูกเขียนเป็นคำเรียก อันหมายถึงทัพจีนของอู๋ซานกุ้ย
ส่วนจีนฮ่อที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 .. คือคนจีนที่เป็นพรรคพวกกบฏไท่ผิง หลบหนีจากปราบปรามในยุคราชวงศ์ชิง รัชสมัยของพระนางซูสีไทเฮา ซึ่งกลุ่มกบฏไท่ผิงเหล่านี้หลบนี้ผ่านเข้ามาทางเวียดนามและลาว เข้ามาก่อกวนที่ “เมืองสิบสองปันนา” และ “เมืองพวน” และ “เมืองหลวงพระบาง” – ซึ่งทั้งสามเมืองดังกล่าวเป็นอาณาเขตของฝ่ายไทย (ก่อนที่จะถูกฝรั่งเศส อ้างและยึดเอาไป)
ส่วนจีนฮ่อที่เราเรียกในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายนั้น ที่จริงคือจีนในมณฑลยูนนานที่มีอาณาเขตติดกับพม่า ลาว เวียดนาม ได้อพยพหนีภัยการสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ของ เหมาเจ๋อตุง กับพรรคก๊กมินตั๋งของ เจียงไคเช็ค
และเมื่อเจียงไคเช็คแพ้ให้กับเหมาเจ๋อตุง กองพลต่าง ๆ ที่หลงเหลือตกค้างของก๊กมินตั๋งจึงได้หนีข้ามมาอาศัยบนภูเขาทางภาคเหนือของไทยเพื่อตั้งรกรากชีวิตใหม่
นั่นคือเรื่องราวของจีนฮ่อซึ่งต่างเวลาต่างเรื่องราว แต่เอกสารต่าง ๆ มักจะเขียนเป็นคำรวมคำเดียว
….
เมื่อทัพสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบว่า ที่แท้กรุงศรีอยุธยาแค่ถูกหลอกให้มาช่วยเหลือ โดยที่เชียงใหม่ไม่มีความจริงใจมอบให้ต่อกัน พระองค์ทรงเคืองพระทัย ครั้นจะยกทัพตีเชียงใหม่ในฐานลวงล่อหลอกใช้ กำลังทัพของกรุงศรีอยุธยาที่ยกมาก็ยังไม่พร้อมหรือมีมากพอ พระองค์จึงได้ยกทัพเสด็จกลับไป
ถัดมาอีกปีหนึ่ง ชนชาวมอญที่ถูกพม่ากดขี่ข่มเหงได้ลุกฮือขึ้นจับเอา มังนันทมิตร (เป็นอาของพระเจ้าอังวะ) ที่คุมเมืองเมาะตะมะ ฆ่าทิ้งและเผาเมือง แล้วหลบหนีเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี เพื่อพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้รับเอาไว้ดูแล และให้ไปตั้งบ้านเรือนชาวมอญอยู่ที่บ้านสามโคก (อยู่ในจังหวัดปทุมธานี)
พอปีถัดไป พ.ศ. 2205 ทางพม่าเกิดเรื่อง โดยพระเจ้าเมืองแปรได้เข้ามาสังหารพระเจ้าเมืองอังวะแล้วยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ คราวนี้เมืองเชียงใหม่ที่เคยขึ้นกับอังวะก็เคว้งคว้าง ไม่รู้จะเอายังไงดี จะขึ้นกับใครดี – สมเด็จพระนารายณ์เห็นว่านี้คือจังหวะโอกาสที่พม่ากำลังวุ่นวาย เหมาะแก่การจะตีเอาเชียงใหม่มาเป็นของกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่พระเจ้าเมืองแปรจะยกทัพบุกมาตีเอาเมืองเชียงใหม่ไปอีก
กองทัพอยุธยาจึงเดินทางขึ้นเหนือเป็นครั้งที่ 2 .. โดยสมเด็จพระนารายณ์ได้จัดกองกำลังไว้ถึง 40,000 คน ให้แม่ทัพหนุ่มซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กเป็นแม่ทัพใหญ่เป็นผู้คุมทัพ นั้นคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เดินทัพหน้าล่วงไปก่อน สมเด็จพระนารายณ์จะออกศึกนำทัพหลวงอีกจำนวนกว่า 20,000 คน ตามไปเสริม
ทางด้านเมืองอยุธยาอันเป็นราชธานี ได้มอบหมายให้เพื่อนอีก 2 คน เฝ้ารักษาดูแล – เพื่อนทั้งสองคนนั้นคือ นายปาน (ต่อมาคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี ปาน) และนายทองคำ (ต่อมาคือ พระเพทราชา)
แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระนารายณ์มีความไว้วางใจต่อนายปานและนายทองคำ ให้ร่วมกันปกป้องราชบัลลังก์ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์การแย่งชิงราชบัลลังก์ต่างเกิดจากคนใกล้ตัว ได้เกิดขึ้นติดต่อกันมาหลายสมัย คาวเลือดแห่งอำนาจยังไม่ทันจางหายไปจากความทรงจำของผู้คน
[* สาเหตุหลักที่สมเด็จพระนารายณ์ไว้ใจพระสหายทั้ง 3 คน เพราะเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นกษัตริย์ พระราชเทวี (ตำแหน่งมเหสีองค์หนึ่ง) ได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคฝีดาษ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงต้องหาคนมาดูแลพระราชโอรสที่ยังเด็ก
พระองค์นึกขึ้นได้ว่า มีญาติห่าง ๆ อยู่คนหนึ่ง เขามีภรรยาอยู่ 2 คน จึงได้เดินทางไปหาและพบว่าญาติได้เสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่ภรรยาม่ายทั้งสองคน คนหนึ่งชื่อว่า “บัว” อีกคนหนึ่ง “เปรม” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงได้ให้มาเป็นแม่นมช่วยเลี้ยงพระโอรส
นางบัว กลายเป็นแม่นมเอก ซึ่งต่อมาได้รับการกล่าวขานชื่อว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” เป็นเพราะได้รับพระราชทานตำหนักให้ตั้งอยู่ริมวัดดุสิดาราม – นางบัวหรือเจ้าแม่วัดดุสิต มีบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน
บุตรชายคนโต ชื่อว่า เหล็ก (เจ้าพระยาโกษาธิบดี) , บุตรสาวคนที่ 2 ชื่อว่า แช่ม (ท้าวศรีจุฬาลักษณ์) , บุตรชายคนที่ 3 ชื่อว่า ปาน (เจ้าพระยาโกษาธิบดี)
ส่วนนางเปรม ได้เข้ามาอยู่ในวังพร้อมกับนางบัว มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อว่า ทองคำ (ต่อมาคือ พระเพทราชา)
ทั้งเหล็ก ปาน ทองคำ และพระนารายณ์ เติบโตและเรียนหนังสือ เรียนวิชาการต่อสู้ ร่วมกันมาตั้งแต่เด็ก , พระนารายณ์ได้รับน้ำนมจากนางบัวผู้เป็นแม่นม เช่นเดียวกับลูกชายลูกสาวของนาง]
…
กองทัพของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เคลื่อนทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งตรงเข้าตีเอาเมืองลำปาง เมืองลำพูน พอไปถึงเชียงใหม่ก็ยังไม่เข้าตีทันที หยุดพักกองทัพให้หายเหนื่อย แล้วล้อมเชียงใหม่เพื่อรอทัพหลวง ระหว่างการรอเมื่อหายเหนื่อยก็เข้าตีเมืองเชียงใหม่เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กองทัพ และเขย่าความเสียขวัญให้กับคู่ต่อสู้
รอจนทัพหลวงของสมเด็จพระนารายณ์มาถึง จึงได้ตีเข้าพร้อม ๆ กันในทุกด้าน ไม่นานทัพเมืองเชียงใหม่ก็แตกพ่าย เจ้าเมืองเชียงใหม่ถูกจับ
สมเด็จพระนารายณ์ทรงประทับอยู่ที่เชียงใหม่ 15 วัน เพื่อจัดการการปกครองเสียใหม่ จากนั้นในขากลับได้อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” กลับลงมาที่กรุงศรีอยุธยา
ครั้นเสร็จสิ้นจากการตีเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาที่การเมืองภายในของพม่าก็ยังไม่นิ่ง สมเด็จพระนารายณ์จึงถือโอกาสที่ทหารกรุงศรีอยุธยายังสด มีรับสั่งให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เคลื่อนทัพบุกเข้าไปตีถึงเมืองตองอู เมืองแปร เพื่อเป็นการสั่งสอนหรือแสดงความสามารถของทหารกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
การบุกตีพม่าของสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ได้มุ่งหวังเอาชนะ เพราะกองกำลังที่ยกมาก็แค่หวังตีเพียงเมืองเชียงใหม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจเท่านั้น .. ถ้าจะก่อสงครามกับพม่าจริง ๆ พระองค์ต้องยกทัพเสริมตามมาอีกจำนวนมาก – การเข้าไปตีพม่าแล้วกลับออกมาในครั้งนี้ เป็นเหมือนประกาศศักยภาพที่่เข้มแข็งของสยาม ทำให้พม่าไม่ได้เดินทัพมาเปิดศึกกับสยามอีกเลยหลายรัชสมัย จวบกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2
ในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ทรงยุ่งอยู่กับสงครามภาคเหนือและตีพม่า เหตุการณ์ทางกรุงศรีอยุธยาก็เกิดเรื่องขึ้น โดยเรือของบริษัท VOC ฮอลันดาบุกเข้ายึดเรือสินค้าของกรุงศรีอยุธยา บริเวณทะเลจีนใต้แถวเกาะไหหลำ
เรือสินค้าอยุธยาลำที่ถูกยึดเป็นของนายอับดุล ราซัค หรือออกญาพิชิต โดยเรือดังกล่าวได้ชักธงชาติโปรตุเกสเพื่อทำการซื้อขายสินค้าจากจีนและญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่โปรตุเกสกับฮอลันดาต่างเป็นศัตรูกัน เมื่อฮอลันดาเห็นธงของเรือศัตรูวิ่งทับเส้นทางของตนจึงเข้าบุกจับ .. สุดท้ายที่แท้ก็เป็นเรือของขุนนางอยุธยาใช้ธงโปรตุเกส
ในเวลานั้นทั้งทางราชสำนักอยุธยาและทางขุนนางอยุธยาต่างมีเรือสำเภาสินค้าของตน ต่างคนต่างค้าขาย ราชสำนักใคร่ค้า-ค้า , ขุนนางใคร่ขาย-ขาย .. อะไรที่สามารถปกปิดฉ้อราษฎรบังหลวงได้ ก็ทำกันไป
ทั้งราชสำนักอยุธยาและขุนนางบางกลุ่มบางพวก ใช้ความได้เปรียบความเป็นเจ้าของแผ่นดินนำเอาสินค้าที่เป็นหนังกวางและฝางมาขายให้กับญี่ปุ่น ส่วนเครื่องเทศอื่น ๆ ก็ไปขายให้จีนเอง ทั้ง ๆ ที่บริษัท VOC ได้มีข้อตกลงผูกขาดการขายหนังกวางกับญี่ปุ่นเพียงเจ้าเดียวมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เมื่อถูกเจ้าบ้านแย่งลูกค้า ฮอลันดาจึงไม่พอใจ ประจวบกับเหตุการณ์ทางฝั่งจีนและทางฝั่งเกาะไต้หวัน บีบคั้นให้ฮอลันดาไม่สามารถค้าขายได้ ความไม่พอใจในหลาย ๆ เรื่องถูกผสมผสานเข้ามา
ทำให้ฮอลันดาประกาศยึดเอาเรือต่าง ๆ ในท้องทะเล และถึงขั้นปิดอ่าวไทย บีบสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงยอมเซ็นสัญญาข้อตกลง
โปรดติดตามในตอนที่ 7
….
ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่
อ้างอิง :
[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง