‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 4

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

งาน “พิธีตะเซยัต” เป็นงานพิธีของมุสลิมนิกายชีอะห์ เวลานั้นมุสลิมนิกายชีอะห์เข้ามาอยู่ในอยุธยากันมาก หรือที่เรียกกันว่า แขกมัวร์ คือมุสลิมที่มาจากแถบเปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย – บ้างมาค้าขายแลกเปลี่ยน บ้างมารับจ้างเดินเรือ และส่วนหนึ่งมาเป็นทหารกองอาสาให้กับกษัตริย์หรือเจ้านาย

พระนารายณ์ ทรงได้ทหารอาสาแขกมัวร์เป็นกองกำลังสำคัญไว้ในบังคับบัญชา นับเป็นจุดสำคัญในการชิงอำนาจครั้งนี้ เพราะถ้าเป็นทหารที่มาจากไพร่หลวง ข่าวการก่อการอาจรั่วไหลออกไป

อีกทั้งกำลังขุนนางและไพร่หลวงในระยะเปลี่ยนผ่านตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเรื่อยมา ล้วนอ่อนแอยากจะไว้วางใจ หลายครั้งที่เมื่อแสดงตนว่าอยู่ด้วยกับฝ่ายหนึ่ง แล้วจู่ ๆ ก็ทรยศหักหลังไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์ ต้องขจัดขุนนางสองหน้าและไพร่หลวงสองราง ออกจากราชสำนัก เพื่อรักษาสถานะกษัตริย์ให้มั่นคง ทำให้ขุนนางเก่ง ๆ มีน้อยลง

ชาวเปอร์เซียที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาไม่แน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่สมัยใด อาจจะเข้ามาในยุคแรกของการก่อตั้งสถาปนาเมืองอยุธยาเลยก็ได้ แต่ที่ปรากฏเป็นชื่อเสียงขึ้นก็เมื่อรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คือ “เฉกอะหมัด” ผู้เป็นต้นสกุลบุนนาค – และพิธีตะเซยัต คงเกิดขึ้นบนแผ่นดินอยุธยาตามจำนวนชาวเปอร์เซียที่เข้ามากันเยอะ และมีมาอย่างต่อเนื่องโดยได้รับพระราชอนุญาติให้มีงานเฉลิมฉลองเป็นประเพณีเช่นนี้ทุกปี

งานครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้หัวหน้าชุมชนชาวมุสลิมไปขออนุญาตสำนักพระราชวังเหมือนทุก ๆ ปี ให้มีการเดินขบวนพิธีเฉลิมฉลอง โดยจุดสุดท้ายการจบของขบวนพิธีจะไปหยุดตรงหน้าพระราชวัง เพื่อส่งตัวแทนเข้าไปแสดงความเคารพต่อกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา

งานเริ่มเมื่อดวงอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตก หลังเวลาบ่ายโมงกว่า ๆ หรือบ่ายสองโมงกว่า ๆ – ขบวนพิธีแห่ออกจากสถานที่ตั้งไปตามถนน แขกมัวร์หรือคนเปอร์เซียทั้งที่เป็นทหารอาสา อิหม่าม พ่อค้า จนถึงประชาชนมุสลิมธรรมดา ต่างพากันมาร่วมขบวนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีใครรู้เลยว่าในขบวนพิธีมีกองทหารอาสาแขกในสังกัดของพระนารายณ์ร่วมขบวนไปด้วย

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้เขียนเหตุการณ์ในช่วงนี้ไว้ค่อนข้างยาว ขอคัดย่อและเรียบเรียงมาส่วนหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพ

 “ในวันพฤหัสบดี เดือน 12 ขึ้น 10 ค่ำ เพลาชายแล้ว 5 นาฬิกาเศษ, สมเด็จบรมบพิตรพระเป็นเจ้า (พระนารายณ์) แต่งพระองค์สรัพ (สรัพ หมายถึง สรรพ = ความพร้อม) สำหรับการพิชัยยุทธ์ .. จึงทรงพระทักษิโณทกอธิฐาน (กรวดน้ำอธิฐาน) แล้วก็เสด็จช้างต้นพลายมงคลไอยรา ตรัสให้พระเทพเดชาเป็นกลางช้างพระที่นั่ง ให้พระอินทราชาผู้เป็นพระอนุชา ทรงช้างต้นพังกระพัดทอง ฯลฯ

ครั้งได้ศุภวารมหุดิฤกษ์เพลาอันประเสริฐ ก็เสด็จกรีธาพลพยุหยาตรา ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ ให้พระยาเสนาภิมุข พระยาไชยาสุระ คุมยี่ปุ่น (ญี่ปุ่น) 40 คน มากราบถวายบังคมทูลขออาสาราชการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทางชีกุน (ชีกุน คือถนนและสะพาน จังหวัดอยุธยา) .. ฯลฯ”

จากข้อความพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ข้างต้น จะพบว่า นอกจากทหารอาสาแขกมัวร์ที่เดินทางล่วงหน้าไปพร้อมขบวนแห่พิธีตะเซยัต ในทัพของพระนารายณ์ยังมีกองทหารอาสาชาวญี่ปุ่นอีกด้วย

….

ขบวนพิธีตะเซยัต เมื่อไปถึงหน้าพระราชวัง คนเปอร์เซียฝ่ายพระนารายณ์ก็แสดงตัวออกมา ด้วยการเข้าปิดล้อมบริเวณต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อรอทัพพระนารายณ์ที่เคลื่อนตามมาด้านหลัง

กองกำลังพระนารายณ์มาถึงก็เย็นย่ำค่ำลงแล้ว ฝ่ายสมเด็จพระศรีสุธรรมราชารู้ตัวว่าถูกล้อม ต่างฝ่ายต่างรบพุ่งกันตั้งแต่ค่ำจนรุ่งเช้า – พอสาย ๆ ของอีกวัน พระนารายณ์สั่งให้เอาปืนใหญ่ 3 กระบอก ตั้ง ณ ท้องสนาม ยิงเข้าไปในพระราชวังหลายนัด .. กระสุนตกลงคราใด ควันเพลิงโชยขึ้นข้างในครานั้น พระนารายณ์ทรงช้างต้นพระที่นั่ง สั่งแม่ทัพต่าง ๆ บุกเข้าไป

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ทรงช้างออกมายืนอยู่หลังศาลาลูกขุน พระนารายณ์เห็นจึงขับช้างพระที่นั่งตรงไปหา ทหารอาสาฝ่ายพระนารายณ์ยิงปืนนกสับ ไปถูกพระพาหุสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช (พาหุ = ต้นแขน)

ขณะเดียวกันทหารฝ่ายสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ก็ได้ยิงปืนนกสับสวนออกมา เฉียดพระบาทพระนารายณ์ – แล้วสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจึงหันกลับเข้าไปข้างใน ไพร่พลแตกซ่านเซ็นหนีเข้าไปข้างในเช่นกัน

ทหารฝ่ายพระนารายณ์บุกค้นในรอบพระราชวัง พบว่าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแอบอยู่ที่วังหลัง จึ่งถูกจับไปสำเร็จโทษ ณ โคกพระยา ตามราชประเพณี

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ครองราชย์ได้เพียง 2 เดือน 20 วัน .. กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ใหม่อีกครั้ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์

ยุคสมัยแห่งการท้าทายของสมเด็จพระนารายณ์ เริ่มต้นขึ้นแล้ว

พระองค์ครองราชย์เมื่อพระชมน์ 25 พรรษา นับว่าเป็นกษัตริย์หนุ่ม ครองราชย์ท่ามกลางความขัดแย้งของอำนาจขุนนางรุ่นกลาง ขุนนางรุ่นเก่า ที่ยังมีซ่อนอยู่เต็มราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

ขุนนางหลายคน เคยเป็นข้าเก่าในรัชกาลก่อน, บางคนเคยได้รับบุญคุณจากขุนนางรุ่นก่อน ขุนนางข้าราชการหลายคนที่ทำราชการมานาน ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันและหวังมีอำนาจเพื่อมารักษาหรือคุ้มครองผลประโยชน์ที่ตนมีนั้นไม่ให้หลุดหายไป

ขุนนางที่มีกำลังและบารมี กลายเป็นขุมอำนาจใหม่ขึ้นมาในระบบ ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องระมัดระวัง จะปราบให้หมด ก็ไม่มีคนทำงานให้ – จะใช้งานคนเหล่านี้ ก็ต้องระมัดระวัง อย่าเปิดช่อง

การค้ากับต่างชาติต่างประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับจากรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ก็พุ่งทะยานขึ้นสุดขีดในยุคนี้

การค้าย่อมมาพร้อมการแข่งขัน และการแข่งขันย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์

การแย่งชิงทางการค้าของโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ที่ต่างต้องการอภิสิทธิ์ข้อยกเว้น และขอผูกขาดสินค้าแต่เพียงชาติเดียว กดดันให้อยุธยาต้องวางตัววางระเบียบการค้าให้ถูก แถมผู้คนมากหน้าหลายตาทั้งแขก ลาว เขมร จีน ญี่ปุ่น พากันอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามา ด้วยต่างมีจุดมุ่งหมายขุดทองบนแผ่นดินทองแห่งนี้

เรื่องราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นเรื่องราวคลาสสิค มีเสน่ห์และมีแง่มุมมากมายให้ผู้คนค้นหา จนสามารถผสมจินตนาการลงไปในช่องว่างของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ทำให้ยุคสมัยพระนารายณ์สามารถหยิบมาแต่งเขียนเป็นนิยายได้มากมาย

….

สมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ได้แค่ 2 เดือน ก็มีกบฏเกิดขึ้น เป็นกบฏน้องชายต่างมารดา

อำแดงแก่น (อำแดง เป็นคำนามเรียกแทนผู้หญิง : แก่น เป็นชื่อ) ซึ่งเป็นข้ารับใช้พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ได้ยุยงและโกหกสร้างเรื่องให้พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ฟังว่า .. ได้ยินข้าหลวงที่อยู่ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์พูดกันว่า ตอนศึกรบกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเมื่อเดือนก่อน พวกเขาเห็นพระไตรภูวนาทิตยวงศ์เข้าช่วยพระศรีสุธรรมราชารบพุ่งกับฝ่ายนี้ ต่อเมื่อพระศรีสุธรรมราชามีแววพ่ายแพ้ปราชัย จึงหันมาเข้าด้วยกับสมเด็จพระนารายณ์

ข้ารับใช้กล่าวประมาณว่า ทางฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์อาจจะระแวงสงสัย ควรที่พระไตรภูวนาทิตยวงศ์จงเตรียมพร้อม (* พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเช่นเดียวกับพระนารายณ์, พระมารดาของพระนารายณ์มีตำแหน่งพระมเหสี ส่วนพระมารดาของพระไตยภูวนาทิตยวงศ์มีตำแหน่งพระสนมเอก .. พ่อเดียวกัน แต่คนละแม่)

พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “วังหลัง” จากสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อจบศึกชิงบัลลังก์ที่ผ่านมา วังหลังมีอำนาจรองจากวังหน้า ก็คือสมเด็จพระนารายณ์ [ตลอดรัชกาลของพระนารายณ์ไม่ปรากฏการแต่งตั้งวังหน้าขึ้น พระองค์เป็นทั้งกษัตริย์และเป็นทั้งวังหน้า]

เกือบทุกค่ำคืน ณ วังหลัง มักจะมีการเคลื่อนไหว มีการนัดแนะขุนนางต่าง ๆ มาพูดคุยหารือและได้สะสมกำลังคนเอาไว้ .. ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มิอาจรอดหูตาของฝ่ายเฝ้าจับจ้อง ข้าหลวงได้นำมาทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ได้ทราบ แต่พระองค์ไม่ทรงกระทำการใดลงไปก่อนจะแน่ชัด เพียงสั่งให้ข้าหลวงไปฟังข่าวให้แม่นมั่น และทรงแนะนำว่าให้ข้าหลวงทำอุบายหันไปเข้าด้วยกับพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ เพื่อเป็นสายลับ

ผ่านไประยะหนึ่ง พระยาจักรีและพระยาคลัง ก็ได้มากราบบังคมทูลว่า สืบทราบพระไตรภูวนาทิตยวงศ์คิดร้ายเป็นแน่ อันสอดคล้องกับมหาดเล็กได้ไปสืบมาก่อนหน้า สมเด็จพระนารายณ์ทรงเสียพระทัยเมื่อทราบข่าวเช่นนี้ ทรงดำริว่าองค์พระไตรภูวนาทิตยวงศ์เป็นอนุชาที่เราไว้พระทัยสนิทเสน่หานัก

การข่าวคาดคะเนถึงแผนการว่า จะมีการลงมือกับสมเด็จพระนารายณ์ในงาน “พระราชพิธีตรียัมปวาย” ที่จะมาถึง

สมเด็จพระนารายณ์เคยใช้โอกาสในงานพิธีตะเซยัตของมุสลิม ลงมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา / หรือพระไตรภูวนาทิตยวงศ์จะใช้แผนลงมือในลักษณะเดียวกัน ด้วยใช้โอกาสงานพระราชพิธีตรียัมปวาย ซึ่งกษัตริย์ต้องไปร่วมงานทุกปี

 (* พิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีกรรมของพราหมณ์-ฮินดู หรือเรียกกันอีกชื่อว่า พิธีโล้ชิงช้า เป็นพิธีที่เปิดรับให้พระอิศวรเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ 10 วัน โดยตั้งเสาสูงขึ้นมาสองเสา ผูกเชือกแขวนแผ่นไม้กระดานตรงกลาง แล้วให้พราหมณ์ 4 คน ขึ้นนั่งบนแผ่นไม้กระดานโล้ชิงช้า)

แม้นสมเด็จพระนารายณ์ทราบข่าวล่วงหน้า แต่พระองค์ก็ตัดสินใจเสด็จไปงานพิธีตรียัมปวายในค่ำคืนนั้น ทรงช้างต้นพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ ประดับด้วยเครื่องราโชปโภคทั้งปวง แลท้าวพระยาเสนาบดีทั้งหลายแห่ซ้ายขวาหน้าหลัง และมีพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ก็ขึ้นช้างตามมาด้วย

สมเด็จพระนารายณ์เสด็จออกจากพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ข้ามสะพานช้างไปทางถนนชีกุน [สมเด็จพระนารายณ์แม้นจะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ไม่ยอมย้ายไปอยู่ในพระราชวังหลวง ยังคงอยู่วังหน้าเหมือนครั้งที่เคยอยู่มาก่อน ดูเหมือนพระองค์ทรงไม่ไว้ใจสถานที่อันเป็นพระราชวังหลวง พระองค์วางใจข้าเก่าในวังหน้ามากกว่า]

เมื่อขบวนเสด็จข้ามสะพานช้าง สมเด็จพระนารายณ์ทรงแอบเห็นมีคนซุ่มกายอยู่แถวนั้น ล้วนถือปืนนกสับอยู่ข้างสะพาน จึงส่งข้าหลวงไปสืบถามว่าพวกเขามาจากหน่วยไหน 

คนเหล่านั้นบอกเป็นคนของวังหลัง (วังหลัง หมายถึงพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์) สมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่ได้ตรัสหรือมีพระราชโองการอะไรออกไป พระองค์เสด็จไปถึงเทวสถานของพราหมณ์ ร่วมงานจนเสด็จพิธี แล้วจึงเสด็จกลับมาพระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่พัก .. ด้านพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์ ก็แยกย้ายกลับไปยังวังหลัง

ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หรือมันเป็นแค่ข่าวลือ ? หรือยังไม่มีโอกาส ? หรือพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ ในแผนการ ?

* การลงมือทำการใหญ่ต้องรอบคอบและต้องมั่นใจ – เดิมหมากพลาดหมากเดียว อาจล้มทั้งกระดาน

ดูเหมือนพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์ ทรงไม่รู้ตัวว่า สมเด็จพระนารายณ์ระแคะระคายบ้างแล้ว หรือพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์รู้ว่ากษัตริย์รู้ แต่คิดว่าสามารถเสี่ยงดำเนินการลงมือประสบผลสำเร็จได้

โอกาสครั้งที่ 1 ผ่านไป ประหนึ่งการลองเชิงระหว่างพี่กับน้อง ต่างคนต่างเงียบ .. ผู้น้องพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์ ย่อมต้องเฝ้ารอคอยโอกาสที่ดี .. ส่วนผู้เป็นพี่สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเห็นว่าควรเปิดโอกาสครั้งที่ 2 ให้คนเป็นน้องได้ลงมืออีกครั้ง

โอกาสครั้งที่ 2 นี้ สมเด็จพระนารายณ์จะทรงขี่ม้าไปกลางทุ่งพระนครหลวง โดยจะชักชวนพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์ไปด้วย ทุ่งพระนครหลวงที่โล่ง ๆ เช่นนี้ คงเหมาะแก่การสัประยุทธ์

โปรดติดตามต่อในตอนที่ 5

ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมศิลปากร. พระราชพิธีตรียัมปวาย
[9] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[10] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[12] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[13] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[14] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[15] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[16] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[17] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[18] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า