‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 1

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

ทุกแผ่นดินทุกสมัยบนโลกมนุษย์ การเกิดความขัดแย้งจะเกิดอยู่ 2 ลักษณะคือ ความขัดแย้งจากภายใน อันหมายถึงชนชาติเดียวกัน ชนเผ่าเดียวกัน ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงกัน และความขัดแย้งจากภายนอก อันหมายถึงคนละชนชาติ ต่างเผ่า แต่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกันในหลาย ๆ ด้าน

ความขัดแย้งไม่ได้มาจากการต้องการอำนาจเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่เกิดมาจากผลประโยชน์ทางการค้า – นั่นคือเรื่องราวของอยุธยาสมัยหนึ่ง ซึ่งเป็น “สถานีการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก” โดยเฉพาะในยุคสมัยของ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช”

แผ่นดินทองของสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็นยุคที่รุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งแสวงโชคของนักเดินทางทั่วสารทิศ

ใครมาค้าขายที่อยุธยาแล้วยากจน .. นั้นไม่มี

จึงปรากฏเรื่องราวบันทึกมากมายของชาวต่างชาติ ที่บันทึกกันไปตามสิ่งที่เห็น หรือสิ่งที่ได้ยิน รวมทั้งบันทึกที่ผสมความคิดเชิงอคติจากความขัดแย้งระหว่างชนชาติ (เช่น ฝรั่งเศส ขัดแย้งกับฮอลันดา , ฮอลันดา ขัดแย้งกับอังกฤษ , อังกฤษ ขัดแย้งกับสเปน)

เรื่องราวทั้งหมด ต้องเริ่มต้นจากโลกทางทิศตะวันตก ถ้าชาติตะวันตก ไม่ออกเดินทาง .. เรื่องราวต่าง ๆ ก็อาจไม่เกิดขึ้น
….

เมื่อชาวตะวันตก ซึ่งเราเรียกว่าชาวผิวขาว เริ่มรู้จักกับเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อเส้นทางบกไปยังประเทศจีน นับจากยุคราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ถัง  ราชวงศ์แมนจู และนำสินค้าแดนไกลเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราหรือทองทำได้ จึงทำให้เกิดการค้าทางบกอย่างคึกคัก ด้วยระยะทางที่ยาวถึงกว่า 8,000 ไมล์ หรือ 12,800 กิโลเมตร ผ่านสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคมากมาย ทั้งทะเลทรายโกปี ที่ราบสูงปามีร์  ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของสัตว์บรรทุกสินค้า รวมถึงในระหว่างทางจะต้องผ่านชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ หลายเผ่า  ทำให้เกิดการ “เก็บค่าผ่านทาง” อันเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการค้า – และที่แย่ที่สุดก็คือ มีการดักปล้นชิงสินค้าในระหว่างการขนส่ง อันเป็นการเสี่ยงทั้งชีวิตและเสี่ยงทั้งการลงทุน แต่พ่อค้ายุโรปในเวลานั้นไม่มีทางเลือกใดมากกว่านี้

จนต่อมา – มนุษย์พัฒนาตัวเองจนมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกว่า ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ได้เกิดเครื่องจักรไอน้ำ .. แล้วพัฒนาต่อยอดไปเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการต่อเรือและการเดินเรือ .. แล้วชาติในยุโรปจึงมองหาเส้นทางการค้าใหม่ ที่จะมายังประเทศจีนเหมือนเดิม รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในอีกซีกด้านหนึ่งของโลก

โปรตุเกสเป็นชาติแรก ที่เริ่มต้นเดินทางออกทะเลกว้างใหญ่ และ วาสโก ดา กามา คือกัปตันคนแรกที่เดินทางมาถึงอินเดียด้วยเรือของโปรตุเกส – ต่อมาจึงขยายอิทธิพลเข้ามายึดเอา มะละกา เป็นฐานที่ตั้งมั่นทางการค้าในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

จากนั้นเข้ามาติดต่อกับชนชาวสยามในกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ค.ศ. 1511 (พ.ศ.2054) ในสมัยของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช)  .. นั่นคือครั้งแรกที่อยุธยาได้สัมผัสชาวตะวันตกและเริ่มต้นการค้าระหว่างกัน

สเปน คือชาติถัดมา ที่เดินทางโดยเรือออกแสวงหาทรัพยากรแดนไกลเช่นกัน – สเปนกับโปรตุเกสไม่ได้เดินทางด้วยเส้นทางทะเลสายเดียวกัน ทั้งโปรตุเกสและสเปน ต่างเดินทางทางทะเลคนละเส้นทางกัน ด้วยมีความขัดแย้งกันอยู่แต่เดิม และพระสันตะปาปาซึ่งมีอำนาจต่อสังคมและการเมืองในยุคนั้น เป็นผู้ยุติความขัดแย้งนี้ โดยพระสันตะปาปาบอกให้โปรตุเกส ล่องเรือไปในทิศตะวันออก และให้สเปน ล่องเรือไปในทิศตะวันตก คนหนึ่งไปซ้าย อีกคนคนหนึ่งไปทางขวา ส่วนใครจะเจออะไรก็เป็นเรื่องของพวกเขาเอง

ท้ายที่สุดแล้ว โลกมันกลมเหมือนที่ “อริสโตเติล” เคยระบุไว้ ทำให้ทั้งโปรตุเกสและสเปน มาบรรจบเจอกันยังด้านทวีปเอเซีย โดยเฉพาะเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

สเปน ได้มาปักหลักอยู่ที่ฟิลิปปินส์ และเข้ามาติดต่อกับอยุธยาหลังโปรตุเกส – โดยสเปนเข้ามาติดต่อสยามในยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ประมาณ ค.ศ. 1600 หรือ พ.ศ. 2143)

[หลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของชาติตะวันตก ก็คือ * ปืนไฟ ปืนคาบศิลา – อันเป็นอาวุธสมัยใหม่ในเวลานั้น ได้เข้ามายังดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อาจเป็นทั้งสินค้าหรือขอขวัญของกำนันให้กับผู้นำต่าง ๆ ทั้งสยาม พม่า มอญ ลาว ฯลฯ โดยดูจากเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระนเรศวร เมื่อทรงประกาศอิสรภาพและกำลังเดินทางกลับอยุธยา พอฝ่ายพระมหาอุปราชของพม่าทราบ ก็ได้ยกทัพตามมา โดยมีสุระกำเป็นกองหน้าไล่ล่าทัพของพระนเรศวร

สมเด็จพระนเรศวร ทรงให้พระมหาคันฉ่องและทหาร รวมถึงประชาชนชาวไทยมอญที่อพยพตามมา ข้ามแม่น้ำสะโตงไปก่อน ตัวพระองค์รั้งท้ายเพื่อป้องกันแนวหลัง ขณะนั้นพระองค์ทรงเห็นสุระกำ กองทัพพม่าที่ใส่เสื้อสีแดงอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ตะโกนบอกให้ทหารพม่ายิงปืนนกสับใส่พระองค์และกองทัพของสยาม แต่กระสุนเหล่านั้นไม่ถูกร่างใครสักคน

สมเด็จพระนเรศวร ทรงหยิบเอาปืนคาบศิลายาว 9 คืบขึ้นมาประทับยิง กระสุนจากปืนพุ่งตรงไปถูกนายสุระกำ ตายคาช้างที่นั่งมา พระมหาอุปราชจึงหันหลังนำกองทัพพม่ากลับไป ปืนที่สมเด็จพระนเรศวรยิงนั้น ได้ชื่อต่อมาว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง”

สันนิฐานว่า ปืนที่พระนเรศวรใช้ น่าจะเป็นปืนที่มาจากชนชาติโปรตุเกส ที่ได้เดินทางเข้ามาติดต่อทางการค้า ตั้งแต่สมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 .. และปืนดังกล่าวน่าจะเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนที่เริ่มกระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ ในดินแดนแถบนี้ ]

ฮอลันดา หรือสมัยปัจจุบันเรียกเป็น ประเทศเนเธอร์แลนด์ .. ในยุคนั้นตามบันทึกฝรั่งจะเรียกว่า ชาวดัตช์ .. ได้เดินทางทางทะเลตามมาเป็นประเทศที่ 3 เข้ามาในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเริ่มต้นตั้งสถานีการค้าอยู่ที่ ปัตตานี

( * ก่อนอื่นขอบอกเล่าถึงเรื่องเมือง มะละกา ที่โปรตุเกสยึดเป็นที่ตั้งสถานีการค้า และปัตตานีที่ฮอลันดาตั้งฐานการค้าขึ้น ตามบันทึกของฝรั่ง ทั้งเมืองมะละกาและเมืองปัตตานี ต่างยอมรับการอยู่ใต้อำนาจของอยุธยา ด้วยมีการส่งบรรณาการมาให้กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาอยู่เสมอ )

ฮอลันดา แม้จะเข้ามาติดต่อการค้าในปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ก็เป็นการตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ปัตตานี ไม่ใช่ตั้งในอยุธยา ดังนั้นถ้านับกันจริง ๆ บทบาทการค้าของฮอลันดากับกรุงศรีอยุธยา ต้องนับว่า เริ่มขึ้นขึ้นในยุค สมเด็จพระเอกาทศรถ เพราะได้เข้ามาตั้งคลังสถานีการค้าขึ้นในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา อย่างเป็นทางการ

อยุธยา จึงกลายเป็นชุมชนทางการค้าที่เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วโลก เป็นแหล่งทำเงินทำทองของชาติตะวันตก และของนักแสวงโชคมากมาย จากเดิมที่อยุธยาได้ทำการค้ากับชนชาติต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง .. เช่น แขก มอญ พม่า ลาว จีน

อยุธยาได้ขยับขยายไปสู่การค้ากับชนชาติตะวันตกที่ห่างไกล อันเริ่มจากโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา .. ไม่นานนักก็จะมีอังกฤษ ตามเข้ามา และฝรั่งเศส ที่ตามมาอีก การเปลี่ยนแปลงภายนอก ที่เกิดจากการออกแสวงหาเครื่องเทศและการค้าของชาติยุโรป ได้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภายในของกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นด้วยเช่นกัน
….

หลังสมเด็จพระเอกาทศรถ สวรรคต .. กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาเกิดมีการเปลี่ยนราชบัลลังก์กันหลายครั้ง ขอกล่าวถึงเพื่อความเข้าใจพอสังเขป ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเอกาทศรถ ได้ขึ้นครองราชย์ .. ขณะนั้นชนชาติญี่ปุ่นได้เข้ามาค้าขายบนแผ่นดินอยุธยา และเกิดเป็นโจรสลัดปล้นชิงทรัพย์รวมถึงปล้นสะดมราษฎร และน่าจะเป็นเพราะสมเด็จเจ้าศรีเสาวภาคย์ไม่ใช่กษัตริย์ที่เข้มแข็ง รวมถึงอำมาตย์เสนาขุนนางไร้ความสามารถ หรือมีความสามารถแต่ไม่สนับสนุนพระองค์ ทำให้บัลลังก์สมเด็จพระเจ้าศรีเสาวภาคย์อยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้เพียงประมาณ 1 ปี

สมเด็จพระเจ้าศรีเสาวภาคย์ จึงถูกกลุ่มข้าราชการรวมตัวกันเอาออก เปลี่ยนเป็นของ พระอินทรราชา น้องชายพระองค์และลูกชายที่เกิดจากสนมเอกของสมเด็จพระเอกาทศรถ
เมื่อพระอินทรราชา ขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าทรงธรรม

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  เกิดการแย่งชิงเส้นทางน้ำระหว่างเรือของโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในอยุธยา ปะทะกับเรือสินค้าของฮอลันดา กลางแม่น้ำเจ้าพระยา .. โปรตุเกสยึดเอาเรือสินค้าของฮอลันดาไปได้  เมื่อพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบเหตุการณ์ จึงได้ขอให้โปรตุเกสคืนเรือนั้นให้แก่ฮอลันดา

* ความขัดแย้งระหว่างชาติที่มาค้าขาย เริ่มปรากฏเค้าลางให้เห็นบ้างแล้ว

อังกฤษ เป็นชนชาติยุโรปถัดมา ที่เดินทางมาถึงอินเดียแล้วตั้งสถานีการค้าขึ้นที่นั้นในปีราว ค.ศ. 1600  ก่อนที่เข้ามาติดต่อการค้ากับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อราว ค.ศ. 1612 แต่อังกฤษไม่ประสบผลสำเร็จทางการค้ากับอยุธยาเท่ากับโปรตุเกสและฮอลันดา

ขณะเดียวกันในเวลานั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นที่ญี่ปุ่น คือเกิด “สงครามโซกิงาฮาระ” เป็นสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ของกลุ่มต่าง ๆ ในญี่ปุ่น โดยมีพวกซามุไรซึ่งเป็นนักรบ ที่รับใช้ของเจ้านายออกทำศึกห้ำหั่น .. พอเจ้านายของตนตาย พวกซามุไรก็กลายเป็นนักรบเร่ร่อนไร้สังกัด เรียกกันว่า “โรนิน”

เหล่านักรบไร้สังกัดโรนิน รวมถึงชนชาวญี่ปุ่นอื่น ๆ พากันเดินทางหนีออกจากญี่ปุ่นเข้ามาสู่แผ่นดินสยามและรอบ ๆ บริเวณ หันมาทำการค้าบ้าง และปล้นสะดมบ้าง พวกนักรบโรนินบางส่วนได้มาประกอบอาชีพเป็นทหารอาสาให้กับกษัตริย์ไทย – ชาวญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีในยุคนั้นก็คือ ยามาดะ นางามาซะ (ต่อมาได้ตำแหน่งเป็น ออกญาเสนาภิมุข)

8 ปี ที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองแผ่นดิน แล้วทรงประชวรหนัก  ขณะนั้นพระองค์มีพระราชโอรส 2 พระองค์ ล้วนแต่เยาว์วัย คนโตคือ พระเชษฐา อายุเพียง 14 ปี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมตั้งใจมอบราชบัลลังก์ให้ปกครองสืบต่อ และสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเองก็รู้ว่า ข้าราชการแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายหลายกลุ่ม ต่างสะสมกำลังและแย่งอำนาจระหว่างกัน โดยอ้างเอากษัตริย์เป็นหมากที่ใช้ยกขึ้นว่าสนับสนุน แท้จริงก็เพื่ออำนาจของขุนนางราชการกลุ่มพวกพ้องตัวเอง ทำให้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นห่วงพระราชโอรส พระองค์จึงได้ปรึกษากับ “ออกญาศรีวรวงศ์” (*ออกญาศรีวรวงศ์ ต่อมาก็คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สวรรคต  .. ภาระการไหว้วานจึงตกอยู่บนบ่าของ ออกญาศรีวรวงศ์ (บ้างก็เขียนออกชื่อว่า พระยาศรีวรวงศ์)

ออกญาศรีวรวงศ์ จึงได้ร่วมกันกำจัดอุปสรรคกลุ่มขุนนางที่ไม่ยอมรับพระเชษฐา ให้หมดอำนาจออกไป จนสามารถยกพระเชษฐาขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ในพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เมื่อได้ราชสมบัติ ก็ได้ตั้งออกญาศรีวรวงศ์ที่ช่วยเหลือพระองค์  ให้ขึ้นเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” เข้าควบคุมกลาโหม  ต่อมาสมเด็จพระเชษฐาธิราชเกิดระแวงในอำนาจของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เหตุเพราะเหล่าเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่ต่างพากันไปปรึกษานิยมยินดีกับออกญาศรีวรวงศ์ เป็นอันมาก ประหนึ่งนิยมยินดีข้ามหัวพระองค์โดยไม่เห็นพระมหากษัตริย์อยู่ในสายตายำเกรง อันเป็นธรรมดาของมนุษย์ เมื่อใครขึ้นมาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้างานของตนเอง ก็มักจะไปประจบและไปคบค้าเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ที่ไปด้วยความจริงใจก็มีอยู่มาก ที่ไปเพราะเพื่อต้องการผลประโยชน์และอนาคตข้างหน้าก็มีอยู่ไม่น้อย

เหตุการณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงอำนาจและบารมีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็คือตอนมีงานศพมารดาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ – ข้าราชการต่าง ๆ พากันไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งพักค้างแรมและพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ .. และเมื่อเพลาที่กษัตริย์ออกว่าราชการแผ่นดิน กลับพบว่าเหล่าข้าราชการจำนวนหนึ่งพากันหายหัวไป จึงกริ้วโกรธและสั่งลงโทษข้าราชการเหล่านั้น

ด้วยความที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นคนมีพวกเยอะและคุมกลาโหม อันเป็นที่รวมของอำนาจ ทำให้ผู้คนซึ่งไปร่วมงานศพมารดา ปรากฏเป็นภาพการรวมของกลุ่มคนใหญ่ที่สำคัญ ๆ ของราชสำนัก ดูเหมือนเป็นการซ่องสุ่มกำลังกระไรนั้น

ที่ผ่านมาเหตุการณ์การจับกลุ่มคนใหญ่คนโตเหล่าขุนนางแบบนี้ ก็เกิดขึ้นจนกลายเป็นการยึดอำนาจของกษัตริย์มาให้เห็นกันแล้ว ดังนั้นภาพบรรยากาศเช่นนี้จึงมีผู้คนไปรายงานต่อพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงเชื่อในข่าวรายงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือหรือข่าวจริง แต่บทเรียนในสมัยรัชกาลก่อน ๆ ล้วนทำให้เกิดความระแวง ทำให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช จำต้องวางแผนกำจัดความระแวงนี้ก่อน ก่อนที่เสี้ยนหนามในหัวใจมันจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา พระองค์มีคำสั่งเรียกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้เข้าเฝ้าแล้ววางแผนจะจับกุม

การมีพวกมากนี้เอง ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์หูตาว่องไว ได้รับข่าวนี้รวดเร็ว ถึงกับเอ่ยปากขึ้นว่า “เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏ งั้นเราจะทำตามรับสั่ง

“ชิงลงมือก่อนได้เปรียบ” เป็นกลยุทธ์สงครามที่ใช้ได้ผลอยู่เสมอ ๆ

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ตัดสินใจยกกำลังบุกเข้าพระราชวังเพื่อปลดสมเด็จพระเชษฐาธิราช แล้วตั้งพระอาทิตย์วงศ์ ผู้เป็นน้องชายกษัตริย์ (พระราชโอรส องค์ที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์คนใหม่ ครองกรุงศรีอยุธยาแทน

….

เรื่องราวภายในราชสำนัก อำนาจความเป็นกษัตริย์ ผลประโยชน์ของพวกขุนนาง กำลังเข้มข้น เรื่องราวภายนอกอันเป็นการค้า ตลอดจนถึงอำนาจทางการค้า ก็เริ่มมีแย่งชิงกันระหว่างชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาในอยุธยา

ทั้งหมดจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อไป

ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ย้อนรอยสายไหม
[10] มิวเซียมไทยแลนด์ (Museum Thailand). อยุธยาในบันทึกของสเปน
[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[12] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[13] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[14] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[15] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[16] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[17] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[18] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า