หลักฐานใหม่ที่ชี้ว่า ‘กงจักรปีศาจ’ อาจเขียนขึ้นโดยคนไทย
มีพวกนักวิชาการฝ่ายซ้ายชอบออกมาให้ข้อมูลบิดเบือนว่า การพูดถึงกรณีสวรรคตของ ร.8 ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มีการพูดและเขียนถึงกรณีสวรรคตในเชิงวิชาการมาตลอด
โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2517 ตลาดหนังสือในกรุงเทพฯ ตอนนั้น เต็มไปด้วยหนังสือที่พูดถึงกรณีสวรรคตมากมาย บางเล่มตีพิมพ์ซ้ำขายกันเป็นหมื่นเล่ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ “กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489” ของ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย หรือหนังสือ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต” ของสุพจน์ ด่านตระกูล และที่ตามมาหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นหนังสือของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ , นเรศ นโรปกรณ์ หรือในปัจจุบันอย่างของ กังวาฬ พุทธิวนิช และ ปัณฑา พล
เห็นไหมครับว่าการพูดหรือเขียนถึงกรณีสวรรคต ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามอะไรเลย ถ้าทำกันในเชิงวิชาการที่มีหลักฐานอ้างอิงเชื่อถือได้
หนังสือวิชาการที่น่าอ่าน น่าศึกษา มีการตีพิมพ์กันออกมามากมาย แต่ก็น่าแปลกที่บางคนกลับไปยกให้หนังสืออย่าง “กงจักรปีศาจ” เป็นหนังสือเบิกเนตร
“กงจักรปีศาจ” หนังสือซึ่งฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ ที่ไม่เคยรู้จักเมืองไทยเลยเป็นผู้เขียน ส่วนผู้แปลก็เป็นพี่ชายของคนสนิทปรีดี พนมยงค์ แถมตัวปรีดีฯ เองก็พยายามที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกกฎหมายเพื่อที่จะให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ส่วนเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่ต่างกับนิยายซึ่งไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือเลย
แล้วรู้ไหมครับว่า เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบข้อมูลสำคัญ นั่นคือการพบ “กงจักรปีศาจ” ฉบับโรเนียวภาษาไทยในห้องสมุดของธรรมศาสตร์เข้าอย่างบังเอิญ ซึ่งคาดว่าเป็นต้นฉบับก่อนพิมพ์เป็นเล่ม
ที่บอกได้ว่าเป็น กงจักรปีศาจ เพราะเมื่อเอามาเทียบเนื้อหากับฉบับที่เขียนโดย Rayne Kruger ปรากฏว่า “มันคืองานชิ้นเดียวกัน” และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ เอกสารที่ถูกค้นพบนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ระบุชื่อผู้เขียนไว้ที่หน้าปกและในบัตรรายการว่า เขียนโดย “ลิขิต ฮุนตระกูล”
เรื่องนี้น่าสนใจครับ … ลิขิต ฮุนตระกูล เป็นใคร ? กงจักรปีศาจฉบับที่พบในห้องสมุดของธรรมศาสตร์ ทำไมจึงมาอยู่ภายใต้ชื่อของนักเขียนที่ไร้ตัวตนผู้นี้ ? แล้วตกลง Rayne Kruger เป็นผู้เขียน กงจักรปีศาจ จริงหรือเปล่า ? ทั้งหมดนี้มีที่มาที่ไปยังไง … เราไปดูคลิปวีดีโอนี้เพื่อศึกษาหาคำตอบกันครับ