หยดเลือดแท้และศาสนา การสืบสันตติวงศ์แห่ง ‘ราชวงศ์อังกฤษ’
‘สถาบันกษัตริย์’ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมืองของประเทศอังกฤษที่มีความเก่าแก่มากที่สุดสถาบันหนึ่ง ที่มีการพัฒนาเรื่องพระราชอำนาจและพระราชฐานะมาโดยลำดับ จนกลายเป็นสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ในที่สุด และยังเป็นที่มาของประโยคสำคัญที่ว่า “กษัตริย์ผู้เป็นประมุขของรัฐเป็นเพียงผู้ปกเกล้ามิได้ปกครอง” (the King reigns but does not rule)
ในอดีตอังกฤษเองเคยมีการปกครองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป มีความสัมพันธ์กับขุนนางตามระบบศักดินาสวามิภักดิ์ และยังมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันในช่วงเวลาดังกล่าวระหว่างรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาขุนนางและสภาสามัญกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วฝ่ายรัฐสภาจะเป็นฝ่ายชนะ ส่งผลให้พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ถูกลิดรอนลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดกษัตริย์ต้องเป็นฝ่ายทำตามที่รัฐสภากำหนด
การที่กษัตริย์อังกฤษยินยอมที่จะอยู่ภายใต้รัฐสภาและภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ต่อมาได้พัฒนามาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองและกลายเป็นจารีตประเพณีในที่สุด โดยไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
แต่ในอดีตอังกฤษเคยเป็นสาธารณรัฐอยู่ช่วงหนึ่งในสมัยของ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell ค.ศ. 1599-1658) แต่ต่อมาได้หวนกลับมาสู่การปกครองระบอบที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้งหนึ่ง ที่มีการปกครองระบอบรัฐสภา มีกษัตริย์เป็นประมุขโดยการสืบราชสันตติวงศ์ ส่วนการเมืองการปกครองนั้นถือเป็นเรื่องของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
ส่วนสถาบันกษัตริย์จะอยู่เหนือและไม่มีพระราชอำนาจในทางการเมือง โดยเราสามารถสรุปเพื่อให้เห็นภาพรวมได้ว่า ในปี ค.ศ. 1215 ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกษัตริย์ในขณะนั้น คือพระเจ้าจอห์น จนนำไปสู่การลงพระปรมาภิไธยใน “Magna Carta” ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการจำกัดพระราชอำนาจกษัตริย์ในการเรียกผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ถือครองที่ดินต่างๆ โดยปราศจากความเห็นชอบจากผู้แทนมิได้ จนอาจกล่าวได้ว่า Magna Carta ถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบบเผด็จการโดยกษัตริย์ในอังกฤษ โดยที่กฎหมายมิได้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจของกษัตริย์อีกต่อไป
ทั้งนี้ จุดสูงสุดของพระราชอำนาจแห่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นอยู่ในสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ (House of Tudor) ระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง 17 โดยมีการเพิ่มพระราชอำนาจในการบริหาร การรวมศูนย์อำนาจทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักรมาไว้ที่กษัตริย์ ผ่านทางนโยบายปฏิรูปศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII ค.ศ. 1491-1547)
ช่วงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ทำให้ระบบกษัตริย์ของอังกฤษในยุคนี้มีความมั่นคงและมีอำนาจมากกว่าสมัยใดๆ ที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม ปลายศตวรรษที่ 17 ภายหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี ค.ศ. 1688 รัฐสภาสามารถจำกัดอำนาจของกษัตริย์ได้ และยืนยันหลักการมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliament)
รัฐสภามีอำนาจในการสถาปนากษัตริย์และราชินีขึ้นใหม่ และมีการบัญญัติกฎหมายที่สำคัญหลายเรื่องอันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ ตัวอย่างเช่น Bill of Rights 1689 และAct of Settlement 1701 เป็นต้น ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1629 รัฐสภาเคยออกกฎหมาย Petition of Rights ห้ามกษัตริย์จำคุกบุคคลใดก็ตามโดยปราศจากคำพิพากษาของศาล ตามมาด้วยการออกพระราชบัญญัติ Habeas Corpus Act 1679 ที่ประกันเสรีภาพของคนอังกฤษว่าจะไม่ถูกกักขังโดยปราศจากการพิจารณาของศาล
ต่อมาในปี ค.ศ. 1694 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประชุมรัฐสภา (Meeting of Parliament Act) โดยมีสาระสำคัญคือ “กษัตริย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการปกครองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะมีอภิสิทธิ์เท่าที่รัฐสภามอบให้ สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองและเป็นเพียงบุคคลผู้ครองตำแหน่ง (Office Holder) มิใช่ผู้มีอำนาจในการปกครองโดยเด็ดขาดอีกต่อไป” นี่เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า รัฐสภาของอังกฤษได้กลายเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ส่วนกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในระหว่างศตวรรษที่ 18 ถึง 20 เกิดการปฏิรูปรัฐสภาและกฎหมายต่างๆ ทำให้สถาบันกษัตริย์ค่อยๆ ถูกลดอำนาจทางการเมืองลง จนท้ายที่สุดก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง คงเหลือแต่พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จารีตประเพณีและตามกฎหมายอื่นๆ อันเป็นลักษณะของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภา
กล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษเริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่ 17 จากจุดเริ่มต้น คือ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ที่ทำให้รัฐสภามีอำนาจมากขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ยกตัวอย่างประเด็นเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ รัฐสภาได้แก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าวในปีค.ศ. 1936 เมื่อพระเจ้าเอดวาร์ดที่ 8 (Edward VIII) ทรงสละราชสมบัติ หลังจากนั้นยังมีความพยายามที่จะแก้ไขเรื่องการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างในเรื่องเพศ (sex discrimination) ในการสืบราชสันตติวงศ์อีกด้วย
ทั้งนี้้ ในระบบกฎหมายของอังกฤษไม่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนประเทศภาคพื้นยุโรปอื่นๆ แต่จะมีบทบัญญัติที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญ อันได้แก่พระราชบัญญัติต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น กฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเปรียบว่าเป็นรัฐธรรมนูญของอังกฤษ คือ Act of Settlement ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ อังกฤษยังมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรอื่นๆ อีก เช่น คำพิพากษาของศาล จารีตประเพณี (Customs) และธรรมเนียมปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญ ( Constitutional Conventions) เป็นต้น
ตำแหน่งกษัตริย์ของอังกฤษนั้น เป็นตำแหน่งที่ได้รับการยอมรับและยึดถือสืบทอดมาจากประเพณีโบราณอันเก่าแก่ภายใต้กฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) และตามธรรมเนียมปฏิบัติ ในอดีตเคยเกิดปัญหาการขาดหลักเกณฑ์ในการรับตำแหน่งประมุขของรัฐอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดปัญหาในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เช่น ภายหลังที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 (William I) สวรรคตในปี ค.ศ.1087 ระหว่างสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ (House of Tudor) สู่ราชวงศ์สจ๊วต (House of Stuart) ซึ่งกว่าที่ระบบการสืบราชสันตติวงศ์จะมีความมั่นคงได้จากการวางรากฐานของรัฐสภา ก็ล่วงไปจนถึงปี ค.ศ.1701
สำหรับการขึ้นสู่ตำแหน่งกษัตริย์ของประเทศอังกฤษนั้น ในสมัยแซกซอน (Saxon) จะใช้วิธีการเลือกตั้ง ต่อมาหลังจากเหตุการณ์พิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน (Norman Conquest1066) ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการสืบทอดตามหลักสายโลหิตแทน จนกระทั่งในศตวรรษที่ 13 หลักการให้สืบราชสันตติวงศ์ตกเป็นของบุตรคนโตของกษัตริย์ที่สวรรคตจึงเกิดขึ้น
ในปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษสืบทอดกันโดยหลักสายโลหิต (Hereditary Succession) มิใช่จากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเช่นในอดีต กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์อังกฤษถูกกำนดโดยเอกสารทางกฎหมายที่สำคัญต่างๆ เช่น Bill of Rights 1689, Act of Settlement 1701, Coronation Oath Act 1680, Act of Union With Scotland 1760, Accession Declaration Act 1910 เป็นต้น
บทบัญญัติเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภา การรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ขึ้นใหม่ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ปัญหาเรื่องการขาดองค์รัชทายาทที่จะมาสืบทอดบัลลังก์ในอนาคต เหล่านี้ถือเป็นการยืนยันหลักการที่ว่ารัฐสภาสามารถเปลี่ยนแปลงการสืบราชสันตติวงศ์ได้ โดยการบัญญัติกฎหมายออกมาใช้บังคับกับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี Act of Settlement 1701 ถือได้ว่าเป็นการตอกย้ำถึงอำนาจของรัฐสภาที่มีเหนือการสืบราชสันตติวงศ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น รัฐสภาได้วางหลักเกณฑ์การขึ้นครองราชย์เอาไว้ว่าจะต้องเป็นการสถาปนาโดยรัฐสภา ประกอบกับเงื่อนไขทางศาสนาที่จะต้องเป็นโปรแตสแตนท์ และเป็นประมุขของนิกายอังกฤษหรือเชิร์ชออฟอิงแลนด์ (Church of England; Anglican Church) เท่านั้น
กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ถือเป็นการผสมผสานกันระหว่างบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยรัฐสภา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการต่อสู้ทางหลักการและความเชื่อทางศาสนากับกฎหมายประเพณี ภายใต้ “กฎว่าด้วยสิทธิของการเป็นบุตรคนแรก” (Law of Primogeniture) ซึ่งพระราชโอรสจะมีสิทธิดีกว่าพระราชธิดาในลำดับต้นซึ่งประสูติก่อนโอรสองค์แรก เว้นเสียแต่ว่าในกรณีที่กษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส บัลลังก์จะตกทอดแก่พระราชธิดา แต่หากไม่มีทั้งโอรสและธิดา สิทธิดังกล่าวจะตกแก่พระขนิษฐาของกษัตริย์คนปัจจุบันแทน
อย่างไรก็ตามสิทธิในการขึ้นครองราชย์ของบุคคลข้างต้น อาจถูกแทนที่ได้หากต่อมากษัตริย์มีโอรสโดยทันทีที่กษัตริย์องค์ปัจจุบันสิ้นพระชนม์ รัชทายาทก็จะสืบราชสมบัติโดยอัตโนมัติ และหลังจากนั้นจึงจะมีพิธีพระบรมราชาภิเษก (Coronation Ceremony)
สำหรับองค์รัชทายาทที่จะมาสืบทอดราชบัลลังก์นั้นจะมีตำแหน่ง “ดยุกแห่งคอร์นวอล” (Duke of Cornwall) ซึ่งต่อมาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” (Prince of Wales) ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอดวาร์ดที่ 1 โดยถือว่าผู้ที่ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์จะถือเป็นพระรัชทายาท
‘Bill of Rights 1689’ กฎหมายฉบับนี้มีชื่อเต็มว่า “พระราชบัญญัติประกาศสิทธิและเสรีภาพของพสกนิกรและประกาศการสืบราชสันตติวงศ์” (Act Declaring the Rights and Liberties of the Subject and Setting the Succession to the Crown) ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1688 (ตามปฏิทินเก่า) มีเนื้อหาว่าด้วยการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ โดยกษัตริย์จะไม่มีพระราชอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา และไม่อาจเรียกเก็บภาษีได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ โดยห้ามกษัตริย์นับถือหรืออภิเษกสมรสกับผู้ที่เป็นโรมันคาทอลิก และระบุมิให้ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ นับเป็นบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่มีเนื้อหากำหนดเงื่อนไขของผู้สืบราชสันตติวงศ์โดยใช้เหตุตามความเชื่อทางศาสนา
Act of Settlement 1701 ภายหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ในปี ค.ศ. 1689 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะของรัฐสภาที่มีเหนือสถาบันกษัตริย์ โดยรัฐสภาอังกฤษได้ออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติขึ้น หลังจากที่ปลายรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 (William III of Orange ค.ศ. 1650-1702) ประเทศอังกฤษประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดของบุคคลที่จะมาสืบราชสมบัติในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพื่อรักษาหลักการครองราชย์สมบัติให้เป็นไปโดยไม่ขาดสาย (The King never died) และต้องการให้ทราบตัวบุคคลที่จะขึ้นมาครองราชย์สมบัติต่อไป
รัฐสภาจึงได้ออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์” (Act of Settlement 1701) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการแก้ไขโดยกฎหมายหลายฉบับ กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ที่จะเป็นรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และพระนางแมรี่ที่ 2 โดยกรณีที่พระองค์ไม่มีพระโอรสหรือพระธิดา ก็ให้พระธิดาองค์ที่ 2 ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 คือ พระนางแอนน์สืบราชบัลลังก์ต่อไป และในกรณีที่พระนางแอนน์ไม่มีรัชทายาทสืบต่อ ก็ให้ผู้สืบราชบัลลังก์คนต่อไป อันได้แก่ พระราชนัดดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 1ซึ่งได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโซเฟียแห่งแฮนโนเวอร์ (Electress Sophia of Hanover) หรือในกรณีที่พระองค์สวรรคตไปก่อน ก็ให้ยกราชบัลลังก์แก่พระโอรสหรือพระธิดาของเจ้าหญิงโซเฟียแทน (คือพระเจ้ายอร์ชที่ 1 (George I) ในเวลาต่อมา)
เหตุผลของการบัญญัติเอาไว้เช่นนี้ เนื่องจากว่าเจ้าหญิงโซเฟียทรงนับถือโปรแตสแตนท์ ในขณะที่รัฐสภาเองก็ต้องการกีดกันพระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในสายของพระชายาอีกพระองค์ซึ่งเป็นคาทอลิก คือเจ้าชายเจมส์ สาระสำคัญอีกประการของกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดว่าบุคคลที่จะได้รับราชสมบัติจะต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ แต่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่อาจโต้แย้งผ่านกระบวนการในชั้นศาลได้
นอกจากนี้ ภายใต้ Act of Settlement 1701 ยังดึงเอาพระราชอำนาจจากเดิมที่เคยเป็นของกษัตริย์ให้มาขึ้นอยู่กับรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น พระราชอำนาจในการตรากฎหมาย พระราชอำนาจในการยกเลิกเพิกถอนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตลอดจนพระราชอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย พระราชอำนาจเหล่านี้ถูกเปลี่ยนแปลงให้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและความยินยอมของรัฐสภา
นอกจากบทบัญญัติสำคัญสองฉบับข้างต้นแล้ว ยังมีบทบัญญัติอื่นๆ อีกที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสืบราชสันตติวงศ์ของอังกฤษ เช่น
Act of Union with Scotland 1706 ตามกฎหมายฉบับนี้กษัตริย์อังกฤษจะต้องรักษาข้อตกลงและข้อสัญญาตามกฎหมายการรวมกับสกอตแลนด์ ว่าจะรักษาไว้ซึ่งนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian Church) ในสกอตแลนด์
‘Coronation Oath Act 1688’ ระบุไว้ว่ากษัตริย์จะต้องกล่าวคำสาบานในวันที่ทำพิธีพระบรมราชาภิเษก
‘Accession Declaration Act 1910’ ระบุว่ากษัตริย์จะต้องประกาศต่อรัฐสภาในคราวแรกที่มีโอกาสทำได้หลังจากครองราชย์สมบัติ ว่าศรัทธาต่อศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตาม Act of Settlement ที่ห้ามกษัตริย์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และ Royal Marriages Act 1772 ซึ่งกฎหมายนี้กำหนดให้การอภิเษกสมรสของรัชทายาทจะต้องได้รับความยินยอมจากกษัตริย์และรัฐมนตรี เป็นต้น
จากบทบัญญัติต่างๆ ข้างต้น จึงสามารถสรุปหลักเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ของอังกฤษได้ว่า ผู้ที่มีสิทธิจะต้องเป็นผู้ที่สืบสายโลหิต (full blood) จากเจ้าหญิงโซเฟียแห่งแฮนโนเวอร์ และต้องเป็นบุตรโดยกำเนิด (ผู้เป็นบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์) จากการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักคอมมอนลอว์และ Royal Marriages Act อีกทั้งยังต้องนับถือนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ โดยมีรูปแบบการสืบราชสันตติวงศ์ที่เป็นไปตามหลักของการเป็นบุตรคนโต ซึ่งบุตรชายคนโตจะมีสิทธิดีกว่าบุตรที่เป็นสตรีนั่นเอง
ที่มา :
[1] ประยุทธ นีระพล, “การถวายฎีกาของราษฎรตามนิติราชประเพณี”, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2541)
[2] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, วิวัฒนาการรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลกจากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ
[3] อมรรัตน์ กุลสุจริต, “ประมุขของรัฐในระบบรัฐสภา”, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541)
[4] ลัดดาวัลย์ สินธุรักษ์, “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไทย”, (ภาคนิพนธ์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550)
[5] Kenneth J. Panton, Historical Dictionary of The British Monarchy, (Plymouth: Scarecrow Press, 2011)
[6] Shin’ichi Fujii, The Essentials of Japanese Constitutional Law, (Washington D.C.: University of Publications of America, 1979)
[7] Lucinda Maer, ‚Royal Marriages and Succession to the Crown (Prevention of Discrimination) Bill, Bill 29 of 2008-09, Research paper 09/24 (17 March 2009), Parliament and Constitution Center, House of Commons Library
[8] George Childs Kohn, Dictionary of Historic Documents, 2nd Edition, (New York: Facts On File, 2003)
[9] Glyn Parry, British Government, (London: Cox & Wyman, 1969)
[10] E.S.C. wade and A.W.Bradly, Constitutional and Administrative Law, (Hong Kong: Longman,1987)
[11] D.C.M. Yardly, Introduction to British Constitutional Law, 5th Edition, (London: Butterworths, 1978)