หากพูดถึง ‘หมอลำ’ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีคนไทยคนไหนไม่เคยได้ยินคำนี้เป็นแน่ แต่หากพอได้ยินคำนี้แล้ว ภาพในหัวของใคร ๆ หลายคนอาจจะนึกถึง คนที่แต่งชุดคล้าย ๆ ลิเก ยืนอยู่บนเวทีที่ประดับประดาไปด้วยวัสดุต่าง ๆ จนสวยงาม มีตัวละคร ยักษ์ ตัวตลก ฯลฯ เป็นตัวประกอบสร้างความสนุกในระหว่างการขับร้อง และข้างเวทีก็มีลำโพงหลาย ๆ ตัวตั้งอยู่ การขับลำจะเป็นในลักษณะทำนองที่ช้า ๆ สลับกับเพลงเร็ว ๆ ที่มีภาษาอีสานและภาษาไทยปนเปกันไป หรือ ภาพที่มีหมอลำแค่คู่เดียวแต่งชุดพื้นเมือง ร้องลำ ฟ้อนเกี้ยวกัน กล่าวคือ หมอลำเหล่านั้นล้วนเป็นหมอลำหลัก ๆ ของภูมิภาคภาคอีสานและรวมถึงประเทศลาวในปัจจุบันด้วย แต่ในภาคอีสานนั้นมีหมอลำชนิดหนึ่ง ที่เป็นหมอลำหลัก ๆ เช่นกัน แต่จุดประสงค์ของการขับร้องนั้นแตกต่างไปจากหมอลำหลัก ๆ อื่น ๆ ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไปนี้
จากบทความก่อนหน้า ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่อง ‘พิธีผีฟ้า’ หรือ ‘การลำผีฟ้า’ ซึ่งหมายถึงการ ‘ขับลำ’ เป็นท่วงทำนองที่มีจุดประสงค์ในการรักษาผู้คนที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นบริเวณแถบภาคอีสาน และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ปัจจุบัน) ในสมัยที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ การรักษาโรค และ วิทยาศาสตร์ยังไม่เฟื่องฟู ประกอบกับการเข้าถึง การดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยในช่วงแรกยังเป็นในลักษณะของการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ‘ผี’ อยู่ ในภายหลังสมัยต่อมาการรู้จักรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดย ยาสมุนไพร ที่หาได้ตามท้องถิ่นต่าง ๆ อาจจะแพร่หลาย จึงมีการรักษาด้วยสมุนไพรมากขึ้น แต่การรักษาด้วยการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีให้เห็นพบเจออยู่ในปัจจุบันอย่างแผ่หลาย ไม่เพียงแต่ในภาคอีสานหรือประเทศลาวปัจจุบัน อาจจะรวมถึงภาคเหนือด้วย ( ในบางเรื่องอาจจะแตกต่างกับทางภาคอีสานและลาว )
การลำผีฟ้า หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘การลำข่วง’ จุดประสงค์คือการรักษาผู้เจ็บป่วยได้ไข้ โดยในมิติการรักษาด้วยความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ด้วยเหตุที่กล่าวไปข้างต้นว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ในสมัยนั้น การเข้าถึงของคนพื้นเมือง / คนที่อาศัยตามที่ราบสูง หรือ ตามที่ชนบทต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะยากและไกลตัว จึงทำให้เวลาชาวท้องถิ่นแถบภาคอีสานในสมัยก่อนเหล่านั้นเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งแรกที่เขาจะคิดว่าสาเหตุการเกิดของโรคเหล่านั้นเกิดจาก ‘สิ่งเหนือธรรมชาติ’ เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด จึงเกิดการทำพิธีกรรมเพื่อพลีแก่สิ่งเหนือธรรมชาติ ให้ช่วยรักษาโรคภัยเหล่านั้น
ส่วนประกอบของการทำพิธีการลำผีฟ้า ตัวบุคคลหลัก ๆ คือ
- หมอทรงผีฟ้า ( ผู้เป็นประธานในพิธีกรรม )
- หมอแคน ( บางทีเรียกหมอม้า )
สาเหตุที่เรียกหมอแคนว่า ‘หมอม้า’ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะมีเหตุเนื่องจาก การใช้ ‘แคน’ ไม่เพียงแต่ใช้ในมิติของเครื่องดนตรีประกอบการทำพิธีเท่านั้น แต่แคนยังถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นสื่อกลางติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติอย่าง ‘แถน’ และ ‘ผี’ และประกอบกับในสมัยโบราณเป็นต้นมา การใช้ม้า ส่วนมากใช้ในการเป็นสัตว์คู่กายเวลาเดินทาง / สู้รบ
หากใช้จินตนาการบนพื้นฐานของข้อมูลที่กล่าวมานี้ ก็จะพบว่า การใช้แคนในพิธีอาจใช้เป็นสื่อกลางให้ แถน ผี ฯลฯ ลงมาประทับ ร่างทรงผีฟ้า เพื่อจุดประสงค์ในการช่วยคน เปรียบดุจหมาที่คอยเป็นพาหนะให้ แถน และ ผี ลงมาช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งเสนียดจัญไรออกจากตัวของผู้คนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ
กล่าวคือ ในพิธีกรรมผีฟ้านี้ก่อนจะเชิญผีฟ้าลงมาประทับหมอทรงเพื่อรักษาผู้ป่วย จะมีการจัดเครื่องบูชาผีฟ้า และจะมีการขับลำที่เรียกว่า ‘ลำส่อง’ เป็นการขับลำของภาคอีสาน ( ในบางพื้นที่จะมีลักษณะคล้ายกับ ‘ลำพื้น’ ที่ต่อมาพัฒนามาเป็น ‘ลำเรื่อง’ นั่นเอง ) เพื่อเสี่ยงทายดูว่า อาการผิดปกติที่ผู้ป่วยได้ประสบมานี้ร้ายแรงเพียงใด ต่อมาก็จะเชิญผีฟ้าลงมาประทับร่าง โดยขณะเดียวกันก็จะมีการฟ้อนรำ และมี แคน เครื่องดนตรีต่าง ๆ เป็นเครื่องดนตรีประกอบเพื่อชี้ทางการแก้ไข ( ขอขมา ฯลฯ ) เพื่อให้หายจากอาการผิดปกติเหล่านั้น ซึ่งพิธีเหล่านั้นจะแตกต่างกันก็ด้วยอาการของแต่ละคน
อนึ่ง พิธีกรรมผีฟ้าไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือในลักษณะของผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือ สิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นคิดว่าเกิดจากการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ ภูติผีปีศาจ ฯลฯ ( เช่นภัยพิบัติต่าง ๆ แผ่นดินไหว น้ำท่วม แห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น ) เท่านั้น แต่ในบางพื้นที่มีการรักษารวมถึงการเสี่ยงทายต่าง ๆ ในด้านโชคลาภ หาหวย ฯลฯ อีกด้วย ( การหาหวยเกิดจากการปรับเปลี่ยน ปรับตัว ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย )
จากการศึกษาฟังสัมภาษณ์จากหมอทรงผีฟ้าหลาย ๆ พื้นที่ส่วนตัวของผู้เขียน พบว่า หมอทรงส่วนใหญ่นั่นตัดสินใจรับเป็นหมอทรง เนื่องด้วยจากประสบการณ์ของตนเองที่ได้พบเจอด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยที่พยายามรักษาด้วยการแพทย์โดยหมอที่อยู่ตามโรงพยาบาล หรือ คลิกนิกก็แล้ว รักษาด้วยหมอท้องถิ่นก็แล้ว รักษาด้วยสมุนไพรก็แล้ว ก็ยังไม่หาย จนได้มารักษาด้วยพิธีกรรมนี้ก็ปรากฏว่าหายเป็นปลิดทิ้ง จนเกิดความศรัทธา ประกอบกับเข้าใจความรู้สึกของคนป่วยที่ป่วยในลักษณะที่ตนเองเคยเป็นด้วย จึงตัดสินใจรับสืบต่อมาเป็นหมอทรง เพื่อรักษาผู้คนได้คลอบคลุมมากกว่าเดิม
และอีกประเด็นคือในยุคช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั่น หลาย ๆ รัฐบาลพยายามที่จะใช้ ‘หมอลำ’ ( ในบริบทนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมอลำผีฟ้าเพียงอย่างเดียว ) เป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น ช่วงหนึ่งก็มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการท้องของกลุ่มเด็กวัยรุ่นก่อนวัยอันควร ก็มีการจัดการแสดงหมอลำที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามาฟังได้ และในกลอนลำ หรือ เนื้อหาสาระ ก็มีเรื่องที่รณรงค์แทรกเข้าไปผ่านกลอนลำ ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างจะ ‘Make Sense’ และดูจะฉลาด ในมุมของการเข้าถึงชาวท้องถิ่นโดยวัฒนธรรมของพวกเขาเอง
โดยผู้เขียนได้คิดต่อว่า หากจะเข้าถึงกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากเข้าถึงผ่านการใช้วัฒนธรรมของพวกเขาเอง หรือ ผ่านดนตรีสิ่งบันเทิง ศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่พวกเขาสนใจ การจะเสนอเรื่องที่เราแทรกไปก็มีแนวโน้มที่จะสำเร็จมากกว่าการไปนั่งฟังนักวิชาการเสวนา หรือไปนั่งอ่านหนังสือ ที่ใช้ศัพท์ยาก ๆ ที่พวกเขาเข้าถึงได้ยากหรือไม่คุ้นเคยเสียอีก
หรือบางทีอาจจะถึง ใช้กลอนลำ ( ที่เป็นภาษาอีสาน ) ในการอภิปรายสะท้อนถึงปัญหาโดยเฉพาะในภาพกว้างของภาคอีสานไม่ว่าจะนอกสภาและในสภา ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงที่ หมอลำ ทองมาก จันทะลือ หรือ หมอลำถูทา [ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๙ – สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ] เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา อีกทั้งยังรวมถึงการรณรงค์การบริจาคเงินสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ โดยหมอลำที่มีชื่อเสียงดัง ๆ ในภาคอีสาน เช่น หมอลำเคน ดาเหลา [ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๔ – สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ] หมอลำบุญเพ็ง ใฝผิวชัย [ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. ๒๕๓๗ ] เป็นต้น
นอกจากนี้ในการทำพิธีกรรมผีฟ้านั้น ยังมีอุปกรณ์การรักษา / การทำพิธีในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ( ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากจะเป็นการเหมารวมและละเลยความแตกต่างของอีกหลายพื้นที่ ) แต่หลัก ๆ ที่ต้องมีในพิธีในทุก ๆ พื้นที่คือ กระทง ซึ่งในกระทงก็จะมีเครื่องเทศ อาหารการกิน หมากพลู คำหมาก ฯลฯ
เรื่องการทรงผีฟ้านั้น หากจะกล่าวว่างมงายทั้งหมดเลยก็ไม่ได้ เนื่องจากการจะกล่าวหาว่าวัฒนธรรมของพื้นที่ไหน ๆ ว่างมงาย ก็ควรจะต้องดูบริบทสภาพสังคมในสมัยที่เป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมนั้นว่าเป็นอย่างไรประกอบด้วย ( ซึ่งเรื่องนี้ทาง ฤๅ ได้เคยย้ำเตือนไปในหลาย ๆ ครั้ง )
และหากเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องงมงายและไร้แก่นสารสาระจริง ๆ ทำไมทุกวันนี้จึงยังมีพิธีกรรมเหล่านี้ให้เห็นอยู่อย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นความน่าสนใจที่จะต้องหาคำตอบกันต่อไป และสิ่งสุดท้ายที่ผู้อ่านต้องมีเวลาจะรับรู้ข้อมูล หรือจะอ่านบทความไหนก็แล้วแต่ คือ ‘วิจารณญาณ’ ครับ
( ควรอ่านบทความก่อนหน้า เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น : ‘ย่าบาหยัน ตำนาน ร่างทรง’ ประวัติศาสตร์ผีๆ และผีที่ไม่ใช่วิญญาณ )
อ้างอิง :
[1] รายการ ตำนานลึกลับ ตอน : หมอผีฟ้า , สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ ๒๕๖๖
[2] สยามศิลปิน Greatest Thai artists , สยามศิลปิน – หมอลำทองมาก จันทะลือ หมอลำถูทา , สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ ๒๕๖๖
[3] ศิลปินแห่งชาติ National Artist กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , นางบุญเพ็ง ใฝผิวชัย , , สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ ๒๕๖๖