หนังสือก็มั่วได้! เคลียร์ชัดตรงนี้ ‘จิ้มก้อง’ ไม่เคยเท่ากับ ‘บุหงามาส’
ความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ในกรณีของไทยกับมลายูนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นคือการตีความแบบผิดๆ ของคนบางกลุ่ม และพยายามยัดเยียดจนเกิดเป็นการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ขึ้น นั่นคือ กรณีที่มีการนำเสนอว่า การส่งเครื่องราชบรรณาการของสยามไปยังกรุงจีนในสมัยโบราณหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “จิ้มก้อง” เป็นธรรมเนียมที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิดเดียวกับการที่เมืองมลายูส่งบุหงามาส (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) ให้กับสยาม
มีนักวิชาการหลายคนทั้งของมลายูและของตะวันตก ได้ทึกทักกันไปเองว่าทั้งสองธรรมเนียมคือ “จิ้มก้อง” กับ “การส่งบุหงามาส” นั้นเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ โดยสยามส่งเรือไปจิ้มก้องจีนเพราะเรามองจีนว่าเป็นลูกพี่ เป็นพี่ใหญ่ เราจึงส่งเครื่องราชบรรณนาการให้เสมือนเป็น “ของขวัญแห่งมิตรภาพ” เหมือนกับที่มลายูเองก็มองสยามแบบนั้นเลยส่งบุหงามาสมาให้ ซึ่งไม่ได้ส่งมาในฐานะเมืองที่อยู่ใต้อำนาจการบังคับของสยามแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ก็คือ นักวิชาการเหล่านั้นเขาพยายามชี้นำว่า สถานะของสยามและไทรบุรีนั้น “เท่าเทียมกัน”
ซึ่งการนำเสนอแบบนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด!
ดังที่ปรากฏในข้อเขียนชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ของ Ahmad Murad Merican นักเขียนมาเลเซียซึ่งเป็นข้อเขียนที่พบความไม่ถูกต้องของข้อมูลว่า “…ไทรบุรีไม่ใช่เมืองที่มีเอกราชเพราะคือประเทศราชของสยาม และถึงแม้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของสยาม โดยไทรบุรีจำต้องส่งบุหงามาสแก่สยามทุก ๆ 3 ปี/ครั้ง… นี่เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างไทรบุรีกับสยาม และเป็นการยอมรับว่าสยามมีการปกครองที่เข้มแข็งและทรงอำนาจ แต่สยามเองก็ส่งบุหงามาสให้แก่กรุงจีน [กระนั้น] สยามเองก็ปกครองไปตามระเบียบและทำเนียมของตนเอง เช่นเดียวกับไทรบุรีที่ไม่เคยตระหนักว่าตนนั้นอยู่ภายใต้การบังคับในการปกครองของสยาม”
ซึ่งข้อความข้างต้นเป็นการนำเสนอที่มีปัญหา ด้วยว่าทั้งสองสิ่งนี้ ไม่ได้ถูกทำขึ้นบนสถานะของผู้ให้ต่อผู้รับในแบบเดียวกัน หากแต่ต่างกันออกไปแทบจะโดยสิ้นเชิง
ธรรมเนียมการจิ้มก้องของจีนนั้นวางอยู่บนพื้นฐานจักรวาลวิทยาของเอเชียตะวันออกที่ว่า เมืองจีนถือเป็นหน่วยการเมืองที่มีวัฒนธรรมทรงอิทธิพลต่อดินแดนใกล้เคียงอย่างมาก การมองและปฏิบัติต่อเมืองขนาดเล็กใกล้-ไกลของจีนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันตามระเบียบโลกของจีน เพราะบางเมืองจีนก็ส่งข้าหลวงไปปกครอง แต่หลายเมืองจีนก็แทบไม่ข้องเกี่ยวกับกิจการภายในเลย สำหรับสยามจีนมองว่าไม่ต่างกับมลายูคือถือว่าเป็นเมืองชั้นนอกมากๆ และหาได้มีความสลักสำคัญอันใด หากจุดประสงค์ที่แท้จริงของชนชั้นนำสยามต่อการจิ้มก้องจีนคือเรื่องของเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง ดังจะเห็นได้ว่าในตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาสยามได้ส่งเรือไปจิ้มกองจีนถี่มาก และจีนก็ได้มอบของตอบแทนแก่สยามจนเป็นที่พอใจทีเดียว นอกจากนั้นแคมเปญด้านการทหารของจีนต่อดินแดนห่างไกลเช่นสยามก็ไม่มีแต่อย่างใด จึงกล่าวได้ว่าสยามได้แต่ประโยชน์ล้วนๆ จากการจิ้มก้องจีน
แต่สำหรับบุหงามาสของประเทศราชของสยามนั้นกลับต่างออกไป โดยมีที่มาจากแนวคิดทางการเมืองที่วางอยู่บนหลัก ‘พระจักรพรรดิราช’ และ ‘ธรรมราชา’ ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์นั้นคือผู้ทรงบารมีที่นอกจากจะวัดจากความรุ่มรวยของราชสำนักแล้ว การมีเมืองประเทศราชก็เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญของการพิสูจน์ให้เห็นจริงของบุญบารมี ดังนั้น การปฏิบัติตนของสยามต่อบรรดาประเทศราชล้วนตั้งอยู่บนหลักที่ ‘ไม่ทัดเทียม’ เพราะบุญบารมีของสยามสูงส่งกว่า ดังตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ หากประเทศราชใดงดเว้นการส่งบุหงามาสตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วสยามจะดำเนินการทางทหารอย่างรุนแรงที่อาจนำมาถึงซึ่งการล่มสลายของเมืองเลยก็ว่าได้
โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องการจิ้มก้องของจีนกับบุหงามาสผ่านระบบประเทศราชของสยามนั้น ‘แตกต่างกันอย่างมาก’ และการไม่มีความรู้เรื่องเบื้องหลังแนวคิดทางการเมืองของสยาม จีน และมลายูดีพอ เป็นเหตุให้นักวิชาการจากโลกมลายูหลายคนกระทั่งนักวิชาการตะวันตกทึกทักไปเองว่าสถานะของสยามและไทรบุรีนั้น ‘เท่าเทียมกัน’ เพราะหากเอาประเด็นเรื่องบุหงามาสออกไป กิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ที่สำแดงถึงการสวามิภักดิ์ต่อสยามตามแนวคิดเจ้าประเทศราช อาทิ การส่งทหารมาช่วยในสงคราม ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจ้าประเทศราชนั้น ‘ย่อมรู้ตำแหน่งแห่งที่และทำเนียมที่ตนจะต้องปฏิบัติต่อสยาม’ เป็นอย่างดี
ศึกษาเรื่องจิ้มก้อง บรรณาการของสยามต่อจีน และบุหงามาศ บรรณาการของมลายูต่อสยาม เพิ่มเติมได้ในคลิปวิดีโอนี้