สุดเขตราชอาณาจักรสยามอยู่ที่ไหน? อ่าน ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ หลักฐานยืนยันจากหอหลวง มัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
ทุกวันนี้ในวงการประวัติศาสตร์มักจะมีข้อถกเถียงกันว่า อาณาจักรสยามในสมัยโบราณของแต่ละราชธานี มีอาณาเขตเหนือสุดหรือใต้สุดแพร่ไปจรดถึงที่ใด
นักวิชาการรุ่นเก่าได้ใช้วิธีการตีความจากพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ อาทิ บรรดาเมืองที่พระมหากษัตริย์ไปทำสงครามชิงตีมาได้ หรือพิจารณาจากรายนามเจ้าเมืองที่เข้ามาอ่อนน้อมแก่สยามในเวลานั้นๆ
เมื่อได้รายชื่อของเมืองต่างๆ ที่เชื่อแน่แล้วว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือยอมรับอำนาจอันสูงกว่าของพระมหากษัตริย์สยาม นักวิชาการชาวไทยโดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งแนวคิด “ชาตินิยม” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ได้เอาบรรดารายชื่อเมืองเหล่านั้นมากำหนดเป็นเขตแดนประเทศในแผนที่รัฐชาติสมัยใหม่
บ้างก็ละเลยความเป็นวิชาการ และใช้วิธีการชาตินิยมเสียดื้อๆ เพื่อเอาอกเอาใจท่านผู้นำ โดยถือว่าหากเมืองใดมีชนชาติไทยอาศัยอยู่ ก็ให้ถือว่าเป็นอดีตของราชอาณาจักไทยในสมัยโบราณไปเลยก็มี เช่นการเหมารวมดินแดนจีนทางตอนใต้ เป็นต้น
และเมื่อนำแผนที่สมัย “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” มาใช้ประโยชน์ในการปลุกกระแสทางการเมือง “รวมชาติไทย” ในช่วงที่ประเทศกำลังเป็นชาตินิยมจัดตามนโยบายของท่านผู้นำในสมัยนั้นแล้ว จึงทำให้ดูเหมือนกับว่าราชอาณาจักรไทยในสมัยโบราณ ได้แพร่ไปไกลถึงตอนใต้ของจีนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี การตีความของนักวิชาการชาตินิยมในสมัยเก่าอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ทั้งหมด
ในวันนี้ ฤา จะนำทุกท่านตามรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สยาม-ไทย ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” และลองหาคำตอบง่ายๆ กันว่า “สุดเขตราชอาณาจักรสยามก่อนกรุงแตกมีจริงหรือไม่ ? และตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ ?”
“คำให้การชาวกรุงเก่า” เป็นพงศาวดารที่ได้รับการแปลมาจากภาษาพม่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต้นฉบับของหนังสือดังกล่าว ถูกพบในหอสมุดหลวงราชวังมัณฑะเลย์ โดยนายทอเซียนโก บรรณารักษ์ชาวพม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษ
โดยคาดกันว่าเป็นเอกสารในช่วงหลังกรุงศรีอยุธยาแตก ที่ทางพม่าได้มอบหมายให้อาลักษณ์เรียกเชลยหลวงชาวสยาม มาซักไซ้และเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง แล้วจดบันทึกไว้ตามธรรมเนียมของผู้ชนะสงครามเป็นภาษาพม่าเก็บไว้ จนกระทั่งพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2429
ต่อมานายทอเซียนโกได้แจ้งแก่ ดร.แฟงเฟอเทอ บรรณารักษ์ของหอพระสมุดวชิรญาณของประเทศสยาม ว่า “ได้ค้นพบหนังสือพงศาวดารสยามเขียนเป็นภาษาพม่าฉบับหนึ่ง จึงได้คัดสำเนาส่งมาให้” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมอบหมายให้นายมองต่อ (ชาวพม่า) แปลออกมาเป็นภาษาไทยสำเร็จลุล่วงในปี พ.ศ. 2455
พงศาวดารแปลฉบับดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า” และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกสู่โลกน้ำหมึกและแป้นพิมพ์ในฐานะหนังสืองานศพนางอิ่ม มารดาของพระยาเจริญราชธน (มิ้น เลาหเศรษฐี) ในปี พ.ศ. 2457
แม้ว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า” จะเป็นพงศาวดารที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฉบับทางการหรือฉบับหลวงได้เต็มปาก เพราะโดยพฤติการณ์แล้วเป็นเนื้อเรื่องประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องแปลมาจากภาษาพม่าอีกที (และเป็นคำให้การโดยเชลยชาวสยามในสมัยนั้นด้วย ซึ่งอาจทำให้เกียรติของพงศาวดารฉบับนี้ดูต้อยต่ำไปอีก) แต่หากพิจารณาถึงความพยายามที่จะค้นหาความจริงทางประวัติศาสตร์ ผ่านการอำนวยการอย่างแข็งขันของทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย และทางการอังกฤษในอาณานิคมพม่า พงศาวดารฉบับนี้จึงมีคุณค่าในแง่การเติมเต็มองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในยุคแสวงหาภูมิความรู้ทางปัญญาสมัยวิคตอเรียน (Victorian)
และไม่น่าเชื่อว่าบางเรื่องนั้น แม้แต่พงศาวดารฉบับหลวงหรือฉบับทางการของไทย ก็ไม่ปรากฏเนื้อหาเช่นนี้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเลย
สำหรับประเด็นในครั้งนี้ คือการมาค้นหาคำตอบว่า “สุดเขตราชอาณาจักรสยามก่อนกรุงแตกมีจริงหรือไม่ ? และตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ ?”
จึงขอเริ่มจากคำถามที่ว่า “ราชอาณาจักรสยามก่อนกรุงแตกมีจริงหรือไม่ ?” เสียก่อน
ที่ผ่านมามีนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคน พยายามตีความตามแนวทางหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) และยืนยันหนักแน่นว่า ประเทศไทยก่อนการมีแผนที่ฉบับทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 “ไม่เคยมีเขตแดนทางกายภาพปรากฏอยู่เลย”
คำกล่าวเช่นนี้ เมื่อพิจารณาแล้วย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเมื่อเราพลิกไปดู “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งเป็นเอกสารโบราณที่เขียนขึ้นจากความทรงจำของชาวสยามหลังกรุงศรีอยุธยาแตก (ราวสมัยกรุงธนบุรี-รัชกาลที่ 1) ย่อมชี้ชัดว่า ในความเข้าใจของชาวสยาม (รวมถึงชาวพม่าผู้บันทึกซึ่งไม่ได้เขียนแย้งคำให้การนี้เลย) ประเทศสยามในเวลานั้นมีเขตแดนจริง เพราะมีการกล่าวถึงรายชื่อเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์อยุธยา ตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายตะวันออก หัวเมืองปักษ์ใต้ (รวมเมืองมลายู) จรดฝ่ายเหนือไว้ละเอียดนับได้ 123 เมืองเลยทีเดียว
และเมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้วจะพบคำตอบในคำถามข้อที่ 2 ว่า “สุดเขตราชอาณาจักรสยามก่อนกรุงแตก ตั้งอยู่ที่ใด ?” โดยเนื้อความตามต้นฉบับระบุชัดว่าตั้งอยู่ที่ “ด่านน้อยคลองตาโม 1 ห่างจากกรุงทวารวดีจนถึงแดนต่อเมืองแขกระยะเวลา 40 วัน”
คำถามต่อมาคือ “คลองตาโม” ตั้งอยู่ที่ใด ?
คำตอบคือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเขา “โต๊ะโมะ” จังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตเคยเป็นดินแดนภายใต้การดูแลของรายาเมืองระแงะ ซึ่งขึ้นตรงกับเมืองปัตตานี และสุลต่านปัตตานีในเวลานั้นก็อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยุธยาอีกทีหนึ่งด้วย
ดังนั้น หลักฐานชิ้นนี้จึงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า เขตแดนสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีจริงอย่างแน่นอน
“คำให้การชาวกรุงเก่า” ไม่เพียงแต่เป็นเอกสารซึ่งมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ แต่ยังมีหลักฐานยืนยันถึงที่มาที่ไป มีการระบุแน่ชัดว่า ต้นฉบับนั้นเป็นเอกสารจากหอหลวง ที่ถูกเก็บรักษาในพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี และนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างก็ให้ความสำคัญกับเอกสารชิ้นนี้เป็นอย่างมาก
อ้างอิง :
[1] ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. (กรุงเทพ : 2553) สำนักพิมพ์แสงดาว.