สยามรุกล้ำดินแดนชาติอื่นเพื่อ “ล่าอาณานิคมภายใน” ไม่ใช่ “เรื่องจริง”
“การเสียดินแดนของสยามให้แก่จักรวรรดินิยม เป็นแค่พล็อตนิยาย เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ”
นี่คือประเด็นการบรรยายของ Common School เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เมื่อผู้บรรยายกล่าวหาว่า การเสียดินแดนของไทยทั้ง 14 ครั้ง เป็นประวัติศาสตร์เกินจริง เป็นแค่จิตนาการของพวกรักชาติที่มั่วและมโนขึ้นเอาเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าสยามถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากชาติล่าอาณานิคม
ทั้งที่สยามเองต่างหาก ที่รุกล้ำเข้ายึดครองดินแดนลาวและกัมพูชา เรื่อยลงใต้ไปถึงแดนมลายู เรียกได้ว่าเป็นการ “การล่าอาณานิคมภายใน” ที่สยามพยายามแข่งขันหรือร่วมมือกับชาติตะวันตก
การกล่าวหาด้วยอคติ
ผู้บรรยายได้กล่าวว่า ที่สยามสามารถผ่านพ้นการเสียอธิปไตยและอยู่รอดอย่างเป็นชาติที่มีเอกราชมาได้ ก็เพราะพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 เป็นแค่เรื่องที่จินตนาการขึ้นมาของพวกรักชาติ อันเป็นที่มาของประโยคโด่งดัง ซึ่งกลายเป็นภาพจำแห่งการกดขี่จากจักรวรรดินิยมที่ว่า “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม”
ทั้งที่สยามเองได้รุกล้ำเข้ายึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของลาวและกัมพูชา เรื่อยลงใต้ไปถึงแดนมลายูในไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ซึ่งถือเป็นการ “ล่าอาณานิคมภายใน”
และการล่าอาณานิคมจากตะวันตก ก็เป็นผลดีแก่สยามมากกว่าเป็นภัยคุกคาม เพราะช่วยให้สยามเรียนรู้วิธีการต่าง ๆ ของเจ้าอาณานิคมตะวันตก และเร่งให้สยามขยายเขตแดน แผ่อำนาจไปสู่พื้นที่โดยรอบ ผ่านการสำรวจและจัดทำแผนที่ เพื่อแข่งขันหรือร่วมมือกับชาติตะวันตกเหล่านั้น
ประการสำคัญคือ แผนที่ฉบับทางการที่เพิ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกนำไปใช้ในการอธิบายอดีต ทำให้ดูราวกับว่าสยาม “สูญเสีย” ดินแดนไปมากมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้สยามเองก็ไม่ได้มีจิตสำนึกเรื่องดินแดน เขตแดน หรือการเสียดินแดนอยู่เลย
ข้อเท็จจริงที่ควรพิจารณา
ผู้บรรยายของ Common School กำลังเข้าใจสับสนระหว่างการผนวกดินแดน (Annexation) กับการล่าอาณานิคม (Colonization) เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ การผนวกดินแดน เป็นการที่รัฐหรือศูนย์กลางอำนาจแห่งใดแห่งหนึ่ง ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปยังรัฐหรือดินแดนอื่น “ในแถบใกล้เคียง” ซึ่งการผนวกดินแดนนี้ไม่ได้สนใจ “เขตแดน” ที่ตายตัว แต่มุ่งที่การ “รวมดินแดน” ให้อยู่ภายใต้อำนาจอย่าง “เด็ดขาด” ซึ่งต่อมาบรรดาเมืองที่เคยถูกผนวกก็จะกลายสภาพเป็นเขต ๆ หนึ่ง เช่น จังหวัด หรือ แคว้นหนึ่งๆ ไปโดยปริยาย
ดังนั้น การผนวกดินแดนคือการ “รวมดินแดน” มาอยู่ใต้ปึกแผ่นเดียวกัน ส่วนการล่าอาณานิคมตามแนวคิดจักรวรรดินิยม (Empire/Imperialism) นั้น จุดประสงค์หลักไม่ใช่การหาที่อยู่ใหม่เพื่อตั้งถิ่นฐานถาวร แต่เป็นการตั้งอาณานิคมเพื่อสรรหาหรือระบายสินค้าโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศแม่เท่านั้น
และเมื่อกลับมามองกรณีที่สยามกระทำต่อเมืองประเทศราช จึงเป็นการผนวกดินแดน (Annexation) มากกว่าจะเป็นการล่าอาณานิคม (หรืออาณานิคมภายใน) ตามที่ผู้บรรยายกล่าวอ้าง เพราะ
- การผนวกดินแดนเป็นการยึดดินแดนใกล้เคียง ที่มองว่ามีลักษณะร่วมคล้ายกับตน เช่น กรณีที่สยามผนวกรวมดินแดนลาวล้านช้าง ล้านนา และปัตตานีโดยเด็ดขาด กรณีนี้ชัดเจนว่า กษัตริย์สยามทรงมีอำนาจสูงสุดกว่าบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายลาวล้านช้าง หรือสุลต่านและรายามลายู หลายครั้งสยามได้แสดงให้เห็นว่าสามารถถอดถอนเจ้านายท้องถิ่นพวกนี้ได้เอง ดังนั้น สยามจึงได้เริ่มกระบวนการ “ผนวกดินแดน” มาตั้งแต่ก่อนการกำหนดแผนที่สมัยใหม่ขึ้นในรัชกาลที่ 5 และมีข้อยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องการผนวกดินแดน (Annexation) นี้ มีหลักฐานในเอกสารชั้นต้นของไทย คือ จดหมายทูลกรมหมื่นดำรงฯ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 โดย พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ว่า “ไทยไม่ถือเป็นเมืองประเทศราช แต่ถือเป็นอเนดส์ หรือ province” ซึ่ง อเนดส์ ในที่นี้ก็คือ annexes หรือดินแดนที่ได้รับการผนวกมานั่นเอง ไม่ใช่การจากล่าอาณานิคมหรือการประดิษฐ์วาทกรรมว่าเป็น “อาณานิคมภายใน”
- สยามไม่เพียงแต่ปกครองดินแดนที่ได้ผนวกมา แต่ก็ได้มีการถ่ายเทประชากรไปในดินแดนเหล่านั้นด้วย และนำเอาคนในดินแดนที่ผนวกมานั้น กลับสู่ส่วนกลาง เช่น กรณีเชลยลาว ชาวปัตตานี หรือไทรบุรี บางครั้งกษัตริย์สยามได้พระราชทานที่ดินทำกินให้อีกด้วย ซึ่งต่างจากชาติล่าอาณานิคมตะวันตก ที่มุ่งการแบ่งแยกเชื้อชาติ หรือ ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการ “กดปราบและปกครอง”
- การผนวกดินแดนมีลักษณะของการ “ผสานกลมกลืน” ไปเองตามธรรมชาติ ไม่เหมือนการล่าอาณานิคม และกรณีเช่นนี้ก็พบได้ทั่วโลก จึงสรุปได้ว่า “การผนวกดินแดน” นั้นเริ่มมาก่อน ไม่ใช่เพิ่งมีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 แบบที่ผู้บรรยายของ Common School เสนอ และเมื่อมีการผนวกดินแดนเกิดขึ้นแล้ว โดยผลของกฎหมายและการปกครอง สยามก็ต้องรับผิดชอบต่อดินแดนเหล่านั้น และเมื่อได้มีการทำสัญญาในเชิงยกดินแดนให้แก่ชาติอื่น นั่นย่อมหมายความว่า “สยามเสียดินแดนจริง” ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียว แต่อย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้
- การยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) ให้แก่ฝรั่งเศส
- การยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2446
- การยกมณฑลบูรพาทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2449
- การยกดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสในแก่อังกฤษ พ.ศ. 2451
จากข้อเท็จจริงข้างต้น การรวมดินแดนของสยามเป็นการผนวกดินแดน (Annexation) มากกว่าจะเป็นการล่าอาณานิคม (หรืออาณานิคมภายใน) และเมื่อการผนวกดินแดนเกิดขึ้นแล้ว สยามย่อมต้องรับผิดชอบต่อดินแดนเหล่านั้น ดังนั้นเมื่อได้มีการทำสนธิสัญญายกดินแดนเหล่านั้นให้แก่ชาติอื่น นั่นย่อมหมายความว่า “สยามเสียดินแดน” ให้แก่จักรวรรดินิยมจริง
ดังนั้นการกล่าวอ้างของผู้บรรยาย Common School ที่ว่า สยามมิได้เสียดินแดนตามประวัติศาสตร์ดั้งเดิม หากแต่สยามรุกล้ำดินแดนประเทศอื่นซึ่งถือเป็นการ “ล่าอาณานิคมภายใน” เพื่อเป็นการแข่งขันหรือร่วมมือกับชาติตะวันตก จึงเป็นคำพูดบิดเบือนด้วยอคติและไม่เป็นความจริง