สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ผู้วางรากฐานการแพทย์และการสาธารณสุข ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ
ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนคนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี
พระราชดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ก่อนเสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัยมุ่งมั่น ในการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ จนได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์ และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”
เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือ จากโรงเรียนนายเรือ Imperial German Naval College ประเทศเยอรมณี และทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2458
ในขณะนั้นการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ยังคงล้าหลังเป็นอย่างมาก แม้แต่ศิริราชพยาบาล ยังเป็นเรือนไม้หลังคาจาก มีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนไข้นั่งรอนอนรออยู่ตามโคนไม้ ขัดสนทั้งอุปกรณ์และบุคคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งโรงเรียนแพทย์ก็ขาดแคลนอาจารย์ผู้มีวิชาความรู้ เมื่อเทียบกับโรงเรียนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์
ด้วยความสลดพระทัยจากการทอดเพระเนตรเห็นความยากลำบากเหล่านี้ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจึงตัดสินพระทัยที่จะทรงปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะให้ได้ผลงานจริง ๆ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง
และนี่คือก้าวแรกของการวางรากฐาน เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ ตลอดจนการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย ให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2447 ต่อมาเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะพระราชทานยศนายร้อยตรีทหารบกให้ในเวลาต่อมา จากนั้นทรงย้ายไปเรียนวิชาการทหารเรือ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2454 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางการทหาร และกลับมาทรงรับตำแหน่งในกองอาจารย์ทหารเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2458
ในครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง และ ผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก และได้กราบทูลเชิญเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำไปยังศิริราชพยาบาล กระทั่งพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความยากลำบากของศิริราชพยาบาล ตลอดจนการขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ในที่สุด สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ตัดสินพระทัยเข้ามาช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ ตลอดจนพัฒนากิจการการแพทย์และสาธารณสุขให้เจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่
ในปี พ.ศ. 2460 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลานี้เอง ที่พระองค์ได้พบรักกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเรียนทุนพยาบาลเดินทางไปศึกษาต่อ จนในที่สุดได้ทรงมีลายพระราชหัตถ์ กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ เมื่อทรงได้รับอนุญาต จึงทรงหมั้นนางสาวสังวาลย์ อย่างเงียบๆ ในปี พ.ศ. 2462 ต่อมาทั้งสองพระองค์ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย และจัดพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ทรงมีพระโอรส และพระธิดา 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับที่สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและที่สถาบันเอ็มไอที (MIT Massachusetts Institute of Technology) กระทั่งสำเร็จการศึกษา และทรงได้รับประกาศนียบัตร C.P.H. ในปี พ.ศ. 2464
ในช่วงนี้เองที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อันเป็นคุณูปการแก่การแพทย์ไทยอย่างใหญ่หลวง นั่นคือ ทรงเป็นองค์ประสานงานกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) เกี่ยวกับความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ศึกษาในประเทศไทย
สมเด็จพระบรมราชชนก พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จไปทรงพบและเจรจากับผู้แทนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ตามเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา จนสามารถจัดให้มีการร่างข้อตกลงขั้นสุดท้าย เป็นบันทึกข้อตกลง (Memorandum) ที่ได้รับการรับรองทั้งจากทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และได้รับพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปลายปี พ.ศ. 2465 จากนั้นจึงทรงร่วมกับมูลนิธิฯ เสาะหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อมาเป็นอาจารย์แพทย์ ปรับปรุงหลักสูตรแพทย์ของไทยให้ถึงระดับแพทยศาสตรบัณฑิต และยังทรงได้คัดเลือกนักเรียนไทย ทั้งจากศิริราชพยาบาลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้รับทุนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำการศึกษาฝึกอบรมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ต่อไป
หลังจากเสด็จนิวัติกลับประเทศไทย ทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงจัดชุดการบรรยายวิชา “Contemporary History Course” โดยทรงบรรยายในชั้นเรียนและนำนิสิตไปทัศนศึกษานอกสถานที่ด้วยพระองค์เองอีกด้วย ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472 พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงงานในฐานะแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีความเอาใจใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก จนชาวเมืองเชียงใหม่ต่างขนานพระนามของพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า”
ต่อมาพระองค์ต้องเสด็จกลับกรุงเทพเนื่องในพระราชพิธี ถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากทรงพระประชวร ได้เสด็จทิวงคต จากพระอาการโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) และมีโรคแทรกซ้อนคือ พระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะ (ระบบปอด) และพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ทรงมีพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์ พระวรกาย และพระสติกำลังเพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้คือความตั้งพระราชหฤทัยมุ่งมั่น ที่ได้สะท้อนอยู่ในพระราชดำรัสของพระองค์ ความว่า…
หม่อมฉันรู้สึกอยู่เสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเปนการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเปนเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย และเปนสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย เพราะฉนั้นเมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกายและสติปัญญา หรือทรัพย์อันเปนผลที่จะทำนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติได้เสมอ
ที่มา :
[1] พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์ PRINCE MAHIDOL AWARD FOUNDATION
[2] พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
[3] พระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
[4] 100 เรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[5] มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับระบบสาธารณสุขไทย