
ความจริงที่ สมศักดิ์ เจียม และ ประชาไท “จงใจบิดเบือน”
จากการที่เว็บไซต์ประชาไทยได้มีบทความพูดถึงพระบรมราชโองการ 112 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ว่าไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และสรุปชี้นำว่า ในหลวงทรงละเมิดรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 กล่าวถึงการปลดและตั้งสมณศักดิ์พระ ในเชิงชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดทำนองเดียวกันว่า การไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น คือการละเมิดรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์
ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อคิดเห็นที่ไม่ได้พิจารณาข้อกฎหมายให้ครบถ้วน นั่นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 182 “มีข้อยกเว้นไว้” เกี่ยวกับผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ดังนั้น พระบรมราชโองการทั้งหมด จึงอยู่ภายใต้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
และการบิดเบือนของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับเว็บไซต์ประชาไท ก็เป็นวิธีการเดิม ๆ ที่จงใจ “เลือกหยิบเพียงบางประเด็น” ของการลงพระปรมาภิไธยและผู้ลงนามรับสนองฯ ขึ้นมาขยายความและชี้นำว่าในหลวงใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมือง
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 182 ระบุว่า
“บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”
จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 182 ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ทั้งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และเว็บไซต์ประชาไท ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพระบรมราชโองการ โดยปราศจากการพิจารณาข้อกฎหมายให้ครบถ้วน นั่นคือ ไม่ได้พูดถึง “ข้อยกเว้น” เกี่ยวกับผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งแยกเป็นมาตราอื่น ๆ ดังนี้
รัฐธรรมนูญ
มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์และพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 175 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561
มาตรา 6 การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
มาตรา 26 การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร. และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ อาจกระทำได้โดยประกาศพระบรมราชโองการ
โดยเอกสารทั้ง 112 ฉบับ ที่เว็บไซต์ประชาไทกล่าวอ้างนั้น แบ่งเป็นหมวดหมู่ และสามารถอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายได้ดังนี้
เอกสาร | จำนวน (ฉบับ) | อ้างอิงตาม |
---|---|---|
แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ ไล่ออก รับโอนนายทหารเป็นข้าราชการในพระองค์ พระราชทานยศและคืนยศทหาร | 38 | รัฐธรรมนูญมาตรา 15 วรรคสอง |
พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, พระราชทานเหรียญ | 40 | รัฐธรรมนูญมาตรา 9 |
ตั้งสมณศักดิ์พระ | 22 | รัฐธรรมนูญมาตรา 9 |
เกี่ยวกับ สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ | 2 | พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 |
สถาปนาและ ถอดเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ เจ้าคุณพระฯ | 3 | รัฐธรรมนูญมาตรา 9 |
โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ | 3 | พระราชอำนาจที่เป็นพระราชกรณียกิจ |
เลื่อนขั้นพิเศษ จนท.ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ | 3 | พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 26 วรรคสอง |
จุดยืนทางการเมือง (ทูลกระหม่อมฯ ลงแคนดิเดทนายกฯ) | 1 | ทรงอธิบายหลักการว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมืองซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว |
จะเห็นได้ว่า เอกสารทั้ง 112 ฉบับ ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 182 ส่วนท้าย ได้มีบทบัญญัติรับรองเอาไว้แล้ว และการปลดหรือแต่งตั้งสมณศักดิ์พระตามที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวอ้าง ก็สามารถอ้างอิงได้ตามข้อยกเว้นมาตรา 9
ดังนั้นพระบรมราชโองการทั้งหมด จึงมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ
อนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้กฎหมายที่ต้องได้รับการตรวจสอบ และถือเป็นหน่วยงานรับตรวจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ด้วย
จากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่าทั้งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และเว็บไซต์ประชาไท พยายามกล่าวอ้างถึงพระบรมราชโองการ ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองฯ โดยตั้งใจหลบเลี่ยงไม่อธิบายถึงข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 182 ส่วนท้าย
ซึ่งถือเป็นการกระทำที่จงใจบิดเบือน และชี้นำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าในหลวงทรงละเมิดรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการเดิม ๆ ที่นักวิชาการและนักการเมืองบางคน ตลอดจนกลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ในการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด