‘สถาบันการเมือง’ ผังแม่บทที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันได้ของมนุษย์
ในทุกสังคมบนโลกใบนี้นอกจากจะมีจำนวนคนมากมายแล้ว ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่หมุนเวียนภายในสังคมภายใต้บริบทของการใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่ปัจจัยในระดับบุคคลจนขึ้นไปถึงระดับใหญ่ เช่น ความเชื่อที่แตกต่างกัน ไปจนถึงการสังกัดเป็นองค์กรที่อยู่คนละฝ่าย ดังนั้นแล้วในสังคมหนึ่งจึงมีความซับซ้อนอย่างมาก และมีสิ่งที่ต้องให้บริหารจัดการอย่างสูง ความซับซ้อนนี้เองที่ทำให้บางครั้งเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือเกิดปัญหาอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นปัญหาพื้นฐานที่นักคิดได้พยายามหาวิธีจัดการตั้งแต่สายปรัชญา Social Contract ถือกำเนิดขึ้น [1] เพื่อจัดการกับปัญหาพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน มนุษย์จึงได้ออกแบบ “สถาบันการเมือง” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความร่วมมือให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้
เราลองจินตนาการว่า หากมีคนแปลกหน้าสิบคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนต้องประสบเคราะห์กรรมไปติดอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งโดยไม่มีวี่แว่วว่าจะมีใครมาช่วยเหลือ แน่นอนว่าในสภาพเช่นนี้ทำให้พวกเขาต้องสร้างกฎเกณฎ์ในการอยู่ร่วมกันเพื่อให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น อาจมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการวางระบบสอดส่อง หรือถ้าหากมีปืนอยู่หนึ่งกระบอกและมีกระสุนอยู่สิบลูก ทั้งสิบคนนี้จะเก็บรักษาปืนไว้กับใคร หรือจะแบ่งกระสุนกันออกไปอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการใช้มาบังคับขู่เข็ญกันแทนที่จะใช้เพื่อป้องกันตัว ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างของสังคมเล็กๆ เพียงสิบคนเท่านั้น แต่เมื่อสังคมนั้นใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้นสถาบันการเมืองจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดการมากขึ้นไปอีก [2]
สถาบันการเมืองนั้นไม่ใช่แค่เป็นเพียงโครงสร้างหรือองค์การต่างๆ ที่เราคุ้นเคย เช่น รัฐสภา พรรคการเมือง หรือกองทัพ แต่สถาบันการเมืองนั้นครอบคลุมทั้งสิ่งที่เป็นทางการ (เช่นตัวอย่างข้างต้น) และสิ่งที่ไม่เป็นทางการ เช่น ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรม สถาบันการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีเสถียรภาพมากพอที่คนในสังคมหนึ่งๆ จะใช้ยึดถือได้ สถาบันการเมืองจึงสามารถแบ่งออกเป็นสี่ประเภทด้วยกัน คือ สถาบันที่คอยออกกฎ สถาบันที่คอยนำกฎไปปฏิบัติ สถาบันที่คอยวินิจฉัยกฎ และสถาบันที่คอยบังคับใช้กฎ ดังนั้นสถาบันการเมืองจึงเป็นสิ่งที่วางโครงสร้างของต้นทุนที่จะติดตามมากับการกระทำต่างๆ ของตัวแสดงที่จะต้องทำตามที่สถาบันการเมืองกำหนดไว้เพื่อที่ตนจะได้ผลประโยชน์สูงสุดหรือเสียผลประโยชน์น้อยที่สุด
สถาบันการเมืองไม่ได้กระทำการอะไร แต่สถาบันการเมืองคือสิ่งที่กำหนดสภาพแวดล้อมหรือภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ตัวแสดงมีปฏิสัมพันธ์กัน สถาบันการเมืองจึงเป็นสิ่งที่คอยกำกับชี้นำพฤติกรรมของตัวแสดงในระบบทำให้พฤติกรรมต่างๆ มีต้นทุนและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป สถาบันการเมืองจึงต้องมีความต่อเนื่องเพื่อกำกับพฤติกรรมเหล่านี้เอาไว้ เพราะสถาบันการเมืองนั้นมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาการกระทำรวมหมู่ (Collective action problem) คือในทางวิชาการถือกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่พยายามคิดคำนวณอย่างมีเหตุผลหรือการทำประโยชน์ให้แก่ตัวเองมากที่สุด แต่เมื่อเป็นเช่นนี้เวลากลุ่มของมนุษย์ทำอะไรขึ้นมา ก็จะมีมนุษย์ที่กินแรง แต่มนุษย์ที่กินแรงนี้ก็ยังได้ประโยชน์ เพราะผลประโยชน์ของกลุ่มมนุษย์ที่ทำร่วมกันนั้นเป็นสินค้าสาธารณะที่กีดกันใครออกไปไม่ได้ สถาบันการเมืองจึงมีความหมายตรงที่แก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยให้เกิดการกินแรงกันน้อยที่สุด หรือทุกคนเสียหายน้อยที่สุด
ตัวอย่างหนึ่งก็คือเราทุกคนอยากมีตำรวจไว้ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ทุกคนจะต้องจ่ายภาษีมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตำรวจ แต่เมื่อมีคนหนึ่งคิดว่าฉันไม่จ่ายคนเดียวไม่เป็นไรหรอก อย่างไรทุกคนก็จะต้องจ่ายเพื่อให้มีตำรวจ แต่เมื่อทุกคนคิดแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะไม่มีเงินไปจ่าย ทำให้ต้องมีการออกแบบสถาบันการเมืองเข้ามาบังคับการจ่ายภาษีเพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ที่กล่าวนี้เป็นบทบาทของสถาบันในเชิงบวกที่ทำให้ทุกคนร่วมมือกันได้ แต่ยังมีสถาบันบทบาทในเชิงลบที่เป็นการใช้สถาบันมาเพื่อคอยบีบบังคับผู้อื่นด้วย เช่น นักวิชาการมาร์กซิสต์ที่วิเคราะห์เรื่องการใช้กฎหมายหรือเรื่องกรรมสิทธิ์มากดขี่แรงงาน
สถาบันการเมืองนี้ยังสามารถนำมาสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันได้อีกด้วย โดยสามารถเขียนโดยแบ่งกรณีได้ดังนี้
- ตัวแสดง ก. + ตัวแสดง ข. + บริบท ค. + สถาบัน ง. = ผลลัพธ์ ฉ.
- ตัวแสดง ก. + ตัวแสดง ข. + บริบท ค. + สถาบัน จ. = ผลลัพธ์ ช.
จากข้างต้นเราจะเห็นว่าแม้จะมีหลายปัจจัยเหมือนกัน แต่ถ้าสถาบันต่างไปผลลัพธ์ที่ได้ก็จะต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นสถาบันการเมืองจึงมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ทางการเมืองแบบสาเหตุ-ผลลัพธ์อยู่ด้วย สถาบันการเมืองจึงเป็นทั้งต้นตอและผลลัพธ์ทางการเมืองในขณะเดียวกัน ดังนั้นหากเกิดคำถามว่าจะออกแบบสถาบันการเมืองอย่างไรจึงเป็นคำถามที่กว้างขวางอย่างมาก กล่าวคือหากเราแม้จำกัดมิติการพิจารณาการเมืองให้เหลือเพียง 10 มิติ และแต่ละมิติมีเพียง 2 ทางเลือกดังตารางด้านล่างที่ยังปรากฏจริงอยู่ในโลกการเมืองนี้ เราจะสามารถออกแบบการสถาบันการเมืองได้ถึง 1,024 แบบ (2 กำลัง 10) จากเพียงตารางไม่กี่ช่องนี้
มิติที่ต้องพิจารณา | ทางเลือก |
---|---|
พรรคการเมือง | ก. ระบบสองพรรค ข. ระบบหลายพรรค |
การเลือกตั้ง | ก. เสียงข้างมาก ข. สัดส่วน |
สภานิติบัญญัติ | ก. สภาเดี่ยว ข. สภาคู่ |
โครงสร้างรัฐ | ก. รัฐเดี่ยว ข. สหพันธรัฐ |
อำนาจรัฐบาล | ก. รัฐสภา ข. ประธานาธิบดี |
ฝ่ายตุลาการ | ก. ระบบทบทวกนกฎหมายก่อนตรากฎหมาย ข. ระบบทบทวนกฎหมายหลังตรากฎหมาย |
รัฐบาลท้องถิ่น | ก. รวมอำนาจ ข. กระจายอำนาจ |
ข้าราชการ | ก. พวกพ้อง (Spoils recruitment) ข. ระบบคุณธรรม (Merit recruitment) |
กองทัพ | ก. ระบบทหารอาชีพ ข. ระบบทหารเกณฑ์ |
บทบาทางเศรษฐกิจของรัฐ | ก. เสรี ข. ร่วมมือกับเอกชน |
ในโลกแห่งความจริงมีความซับซ้อนกว่าตารางนี้อีกมาก ดังนั้นแล้วการไม่พอใจสถาบันใดๆ แล้วอยากจะเปลี่ยนนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย เพราะนอกจากความขัดแย้งแล้ว ทางเลือกยังมีอีกมหาศาลอีกด้วย คำถามคือเราจะเลือกสถาบันการเมืองแบบไหน หรือจะเลือกรูปแบบไหนมาผสมกับอะไรทั้งในแง่การปกครอง ค่านิยม หรือวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องตอบอีกมากเพื่อยุติความขัดแย้งให้ได้ การเสนอเพียงง่ายๆ ว่าสถาบันใดไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะสืบสายทางสายเลือดจึงต้องโยนทิ้งไปนั้น จึงเป็นการกล่าวที่นอกจากจะไม่เข้าใจความเป็นจริงแล้ว แม้แต่ในทางทฤษฎีก็ไม่รู้อะไรเลย นอกจากนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นหนึ่งในสถาบันที่ดำรงมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงมีความเป็นสถาบันสูงในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่นกันด้วย ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นหน้าที่เมื่อรัฐสภายังไม่มีความเป็นสถาบันการเมืองนั่นเอง
อ้างอิง :
[1] David Boucher and Paul Kelly (eds.), The Social Contract from Hobbes to Rawls (New York: Routledge, 1994).
[2] เรียบเรียงจาก ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “สถาบันการเมือง: ความหมาย ความสำคัญ และความคาดหวัง,” ใน การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์, บรรณาธิการโดยประจักษ์ ก้องกีรติ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2565), หน้า 187-210.