‘ศาสนาต้องแยกชัด’ จากรัฐและกฎหมาย แนวคิดของตะวันตกที่แม้แต่ชาติวันตกเองก็ยังทำไม่ได้
ในปัจจุบันนักวิชาการไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์นั้นจะกล่าวถึงสิ่งหนึ่งว่า รัฐและศาสนาควรจะต้องแยกออกจากกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางศาสนาขึ้น หรือเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนา เพราะมีฐานคิดว่าเมื่อรัฐและศาสนาไม่แยกออกจากกันก็มีแนวโน้มที่รัฐนั้นจะให้ความสำคัญกับศาสนาที่รัฐเชื่อนับถือ มากกว่าศาสนาอื่นๆ ดังนั้นแล้ว รัฐจึงควรที่จะมุ่งเข้าสู่ความเป็น Secular state นั่นเอง [1]
มุมมองของการแยกรัฐและศาสนาออกจากกันนั้นมีต้นกำเนิดมาจากทางตะวันตก ดังนั้นแล้วการแยกออกระหว่างกันนี้จึงมักจะถูกมองโดยนักวิชาการหรือกระทั่งคนทั่วไปว่า กลุ่มประเทศตะวันตกมีความก้าวหน้าทางความคิดและสังคมมากกว่า หรือเรียกว่ามีความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) มากกว่าสังคมอื่นๆ โดยอิทธิพลทางศาสนานั้นแทบไม่มีอยู่แล้วนอกจากความเป็นปัจเจก เสรีภาพ และความเสมอภาคที่กลายเป็นชุดคุณค่าหล่อเลี้ยงสังคมของพวกเขาไว้ ในขณะที่สังคมอื่นๆ นอกจากตะวันตกยังไม่สามารถแยกรัฐและศาสนาออกจากกันได้เด็ดขาด หรือมีค่านิยมอื่นๆ ที่ไม่มีเหตุมีผลเท่าตะวันตก สังคมอื่นๆ นี้จึงมักถูกมองว่ามีความล้าหลังกว่ามาก และการเจริญตามได้ก็ต้องมองตามวิถีของตะวันตก (ซึ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ ก็ถูกต้องที่จะตาม)
อย่างไรก็ดี การมองว่าสังคมตะวันตกนั้นได้แยกทั้งรัฐและศาสนาออกจากกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ของกฎหมายที่ไม่มีพื้นที่ให้แก่ศาสนาอยู่เลยนั้นคือมุมมองที่ผิดพลาดของนักวิชาการ เพราะความจริงแล้วในพื้นที่กฎหมายของตะวันตกนั้นก็ยังปรากฏความเป็นคริสต์ให้เห็นอยู่ แต่บางครั้งกลับถูกละเลยหรือไม่ใส่ใจจนเกิดสภาวะที่เรียกว่าปัญหาในเชิงความรู้ของการศึกษากฎหมายของตะวันตก (Epistemic bias) ซึ่งทำให้เกิดสมมติฐานอยู่เสมอว่าตะวันตกนั้นแยกศาสนาออกจากกฎหมายอย่างสมบูรณ์ (Epistemic assumption) ทั้งๆ ที่ศาสนาคริสต์มีพื้นที่อยู่ไม่น้อยในกฎหมาย
ในงานวิชาการยุคก่อน [2] มักจะศึกษาอิทธิพลของศาสนาต่อกฎหมายในระบบของกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก ส่วนกลุ่มประเทศที่อาจเรียกว่าเป็นประเทศ “ทางเหนือ” ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่เจริญแล้วกลับใช้มุมมองแบบไม่มีมิติทางศาสนา กล่าวคือในกลุ่มประเทศตะวันตกนั้นมักจะเน้นการศึกษาไปยัง professional law หรือกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นในเชิงเทคนิค และ political law ที่การเมืองสามารถส่งผลต่อกฎหมายได้ แต่ traditional law ซึ่งเป็นส่วนที่กฎหมายกับศาสนาไม่ได้แยกจากกันซึ่งมักจะแยกศึกษาเป็นกฎหมายอิสลาม กฎหมายฮินดู หรือกฎหมายแบบขงจื๊อ แต่กลับไม่ปรากฏกฎหมายแบบคริสเตียน ความเป็นคริสต์จึงเรียกได้ว่าล่องหนไปจากการศึกษาของนักวิชาการตะวันตก
ความจริงแล้วหากเราดูที่ระบบกฎหมายแบบ Civil law เราก็จะพบว่าเป็นระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนฐานของคริสต์ เพราะธรรมเนียมของระบบกฎหมายนี้มาจากความคิดที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นภาพจำลองของพระเจ้า ดังนั้นมนุษย์จึงมีอำนาจเฉกเช่นพระเจ้าที่สามารถใช้อำนาจในการครอบครองหรือครอบงำได้เหมือนกับที่พระเจ้าทรงมีอำนาจเหนือโลกทั้งใบ ระบบกฎหมายของตะวันตกนั้นจึงมีรากแก้วจากคริสต์อยู่มากและส่งผลให้พัฒนามาเป็นอย่างวันนี้ได้ และน่าแปลกใจรวมทั้งน่าสงสัยว่าทำไมนักวิชาการถึงมองไม่เห็นมิติทางศาสนาที่ซ่อนอยู่ เพราะเป็นร้อยๆ ปีที่ศาสนาคริสต์นั้นเป็นส่วนที่หล่อหลอมระบบกฎหมายของตะวันตกขึ้นมา แต่กลับถูกฉาบหน้าได้อย่างแนบเนียนว่ากฎหมายของเราไม่มีศาสนาอยู่แล้ว
กรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นคริสต์อยู่พอสมควรคือกฎหมายครอบครัว และเรื่องหนี้ส่วนบุคคล และกฎหมายอื่นๆ ที่เชื่อมโยงอยู่กับความจำเพาะของศีลธรรมแบบคริสต์และรูปแบบของทุนนิยมตะวันตก แต่กฎหมายของพวกเขาก็ได้แพร่หลายกระจายไปทั่วโลก ที่ถึงแม้ว่าจะมีหลักการบางอย่างที่สังคมอื่นสามารถเข้าใจได้และสามารถปรับให้เข้าได้โดยใช้หลักคิดอื่นแทน เช่น การตอบแทนซึ่งกันและกัน แต่อิทธิพลของการล่าอาณานิคมก็ทำให้คุณค่าของพวกเขาแพร่ไปทั่วโลกและเสมือนว่าคุณค่าแบบคริสต์คือคุณค่าแบบสากลที่สามารถดำรงอยู่ได้กับทุกสังคม ดังนั้นแล้วเราจึงต้องมองให้ทะลุและใช้วิธีที่เรียกว่า Unrecognizable religiousness หรือการมองเห็นศาสนาที่ซ่อนอยู่ข้างใต้กฎหมายของตะวันตก
การที่ศาสนาคริสต์ให้คนไปปฏิบัติศาสนกิจในโบสถ์นั้นทำให้คนจินตนาการไปได้ว่าส่วนไหนคือรัฐส่วนไหนคือศาสนา (ซึ่งต่างจากหลายศาสนาที่การปฏิบัติตามศาสนานั้นไม่จำเป็นต้องไปสถานที่โดยเฉพาะ แต่สามารถปฏิบัติได้เลยแม้กระทั่งในบ้าน) และนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มองศีลธรรมและกฎหมายแยกออกจากกัน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เคยมีการแยกออกจากกันเลยก็ได้ อีกหลักหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือหลักการไม่ให้การเป็นโทษแก่ตัวเองของจำเลย (nemo tenetur prodere seipsum) ที่แม้จำเลยอาจจะไปสารภาพบาปกับหลวงพ่อได้ แต่ห้ามให้การใดๆ ที่เป็นโทษกับตัวเองบนชั้นศาล ซึ่งนี่เป็นหลักการของคริสต์ หรือหลักการสัญญาต้องเป็นสัญญาในทางแพ่งนั้นก็ต้องอยู่บนความเป็นคริสต์ของความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญา เพราะการผิดสัญญานั้นคือบาป
ในยุคก่อนที่ความคิดแยกรัฐกับศาสนาจะเกิดขึ้น ยุโรปเองก็ใช้ตัวบททางศาสนาในทางกฎหมาย เพราะตัวบทศาสนานี้ไม่ใช่แค่เกี่ยวข้องกับศาสนาแต่ยังใช้ควบคุมพฤติกรรมของคนได้ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางประวัติศาสตร์ทำให้แนวทางนี้ค่อยๆ เปลี่ยนไปและพยายามแยกสองสิ่งมากขึ้น แต่ในปัจจุบันก็ยังมีหลายประเทศของตะวันตกที่มีความใกล้ชิดกับศาสนาอยู่ดี แต่ด้วยเหตุผลแบบปัจเจกนิยมและความคิดในเรื่องสิทธิทำให้ตะวันตกจำเป็นที่จะต้องแยกเรื่องนี้ออกจากกันและต้องบอกเสมอว่ารัฐเราแยกออกมาจากศาสนาแล้ว แม้ว่ากฎหมายครอบครัวที่ตัวเองใช้จะมีร่องรอยของศาสนาอยู่เต็มไปหมดก็ตาม หรือกระทั่งเรื่องของการทำแท้ง ถ้าหากแยกออกจากศานาจริงก็ควรที่จะต้องไม่เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางเลยด้วยซ้ำ
จากที่กล่าวมานี้ก็เพื่อพยายามชี้ว่า เราควรต้องลดการแบ่งแยกระหว่างกฎหมายกับศาสนาหรือศาสนากับรัฐลง และเราควรจะต้องมองกฎทางศาสนาว่าเป็นกฎหมายอย่างหนึ่งไม่ใช่เรื่องทางศาสนา เพราะกฎทางศาสนาก็ทำหน้าที่แบบกฎหมายของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการมองว่ากฎหมายคือศาสนาเสียเอง และถึงเวลาที่จะต้องมองเห็นถึงการดำรงอยู่ในความเป็นจริงระหว่างศาสนา ผู้คน และกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน และเราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ในโลกที่คุณค่าต่างๆ เข้ามาพัวพันกันอยู่นี้เอง
อ้างอิง :
[1] ดูข้อถกเถียงและสารัตถะเบื้องต้นใน Russell Blackford, Freedom of Religion and the Secular State (West Sussex: John Wiley and Sons, 2012).
[2] เรียบเรียงจาก Jaakko Husa, “Comparative Law and Christianity—A Plank in the Eye?,” Oxford Journal of Legal Studies (2023).