วันที่อยุธยาแทบเป็น ‘เมืองร้าง’ เพราะ ‘โรคห่า’
ในปัจจุบันนี้วิทยาการต่างๆ ของโลกได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์การสาธารณสุขที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด โรคภัยต่างๆ ที่เคยรุนแรงในสมัยก่อน มาถึงปัจจุบันนี้สามารถรักษาให้หายได้อย่างไม่ยากเย็น และโรคระบาดบางโรคที่เคยคร่าชีวิตผู้คนมากมายในอดีต ทุกวันนี้โรคระบาดเหล่านั้นต่างก็สูญพันธุ์ไปจนสิ้น
ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ โรคระบาดบางโรคที่ปัจจุบันอาจเป็นโรคที่ไม่รุนแรงมากเท่าไหร่ หรืออาจสูญหายไปจนหมดแล้ว แต่ในอดีตโรคเหล่านี้เคยทำให้มนุษย์เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วงเลยทีเดียว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโรคที่เราต่างรู้จักกันในชื่อ “โรคห่า”
“โรคห่า” คือ โรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งคำว่า “ห่า” มีความหมายถึงผีจำพวกหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ผู้คนล้มตายเป็นเบือ เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้ทรพิษ (ฝีดาษ)
ดังนั้น การระบาดของสามโรคนี้ในสมัยก่อน จนทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เขาจึงเรียกกันว่า “โรคห่า” หรือ “ห่าลง”
ในสมัยอยุธยา โรคห่าเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ผู้คนนับหมื่นเจ็บป่วยและเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งแม้แต่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ก็ประชวร หรือสวรรคตด้วยโรคนี้ เช่น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ที่ทรงประชวรด้วยโรคฝีดาษจนสวรรคต หรือ สมเด็จพระนเรศวร ก็เคยทรงประชวรด้วยโรคนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีลานช้าง ในปี พ.ศ. 2117 และการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระเพทราชา ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 80,000 คน
ย้อนกลับไปในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ( พ.ศ. 1991 – 2031 ) พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้บันทึกตรงกันว่า กรุงศรีอยุธยาได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ของไข้ทรพิษ จนทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
กระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) ( พ.ศ. 2072–2076 ) ในครั้งนั้นเกิดการระบาดอย่างหนักของไข้ทรพิษ ผู้คนทั้งในและนอกพระนครต่างล้มตายกันเป็นเบือ แม้แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ก็ทรงประชวรด้วยโรคฝีดาษจนสวรรคต
มาถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ( พ.ศ. 2231- 2246 ) ได้เกิดโรคระบาดที่เรียกได้ว่าเป็น “ห่าลง” ครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยอยุธยา ในตอนนั้นได้เกิดการระบาดหนักของไข้ทรพิษและมีคนตายกันมากถึงเกือบๆ 80,000 คนเลยทีเดียว
โดยมีจดหมายของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส 2 ท่านได้บันทึกเหตุการณ์ระบาดของโรคห่าครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด
จดหมายฉบับแรกเป็นของบาทหลวงมองซิเออร์ปินโต เขียนถึงมองซิเออร์บาส์เซต์ ลงวันที่ 10มิถุนายน พ.ศ. 2239 ได้เล่าว่า กรุงศรีอยุธยาตอนนั้นได้เกิดภัยแล้ง อากาศร้อนจัด แม่น้ำขุ่นเขียวจนแทบไม่เหลือน้ำกินน้ำใช้เป็นเวลาหลายวัน ต่อมาได้เกิดโรคร้ายชนิดหนึ่งขึ้น โดยคนป่วยจะมีเลือดออกปากและจมูกได้ 2-3 แล้วตายลง จากนั้นไข้ทรพิษก็ได้ระบาดขึ้นทั่วราชอาณาจักร จนทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากล้มตายภายในเวลารวดเร็ว
โดยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2239 มีคนเสียชีวิตจากไข้ทรพิษในกรุงศรีอยุธยาถึงกว่า80,000 คน วัดแทบจะไม่มีที่ฝังศพ ตามท้องไร่ท้องนาก็มีแต่กองซากศพ ขนาดวัดใกล้โรงเรียนของบาทหลวงมองซิเออร์ปินโต ภายในสามเดือนนั้นก็ได้ฝังศพไปถึง 4,000 กว่าศพ
ซึ่งทางพระราชสำนักของสมเด็จพระเพทราชา ได้ระดมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมีรับสั่งให้หมอตระเวนออกตรวจรักษาคนป่วย รวมถึงพระราชทานยาและเงินช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ส่วนบาทหลวงมองซิเออร์ปินโตเองก็ได้ออกไปรักษาคนป่วยทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่กระนั้นก็ยังไม่ทันการ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งล้มตายเป็นใบไม้ร่วง และต่อมาบาทหลวงมองซิเออร์ปินโตก็ได้ล้มป่วยจนกระทั่งเสียชีวิตลงเช่นกัน
ส่วนจดหมายอีกฉบับเป็นของบาทหลวงมองซิเออร์โปเกต์ เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2239 ได้เล่าว่า เกิดภาวะฝนแล้งอย่างหนักในกรุงศรีอยุธยา ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ถึงขนาดพื้นที่ซึ่งเคยเป็นทางน้ำหลากกลับแห้งขอด จนกระทั่งเกิดการระบาดของไข้ทรพิษ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันเจ็บป่วยล้มตายลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาก็ได้ทรงพยายามช่วยเหลือราษฎรอย่างสุดกำลัง ทั้งการจัดให้หมอออกตรวจรักษา และพระราชทานยารวมถึงเงินช่วยเหลือ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทางวัดก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทำพิธีขอฝน คณะมิชชันนารีก็จัดพิธีสวดมนต์ ผ่านคืนวันแห่งการระบาดอันยาวนาน กระทั่งต่อมาฝนก็เริ่มตกลงมา และตกติดต่อกันจนน้ำกลับมาเต็มล้นอีกครั้ง เรือกสวนไร่นากลับมาชุ่มฉ่ำจนสามารถทำการเพาะปลูกได้ต่อไป
การระบาดของโรคห่าในอีกช่วงหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ ยุคสมัยพระเจ้าท้ายสระ ( พ.ศ. 2251 – 2275 ) ซึ่งนำมาจากบันทึกในจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศส 2 ท่าน คือ บาทหลวงมองเซนเยอร์ เดอ ซีเซ และ บาทหลวงมองเซนเยอร์ เดอ บูร์
จดหมายทั้งสองฉบับได้เล่าตรงกันว่า ได้เกิดการระบาดของไข้ทรพิษมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ผู้คนในอยุธยาล้มตายเป็นจำนวนมาก บรรดาบาทหลวงต่างออกตระเวนรักษาผู้ป่วยทั้งในเขตพระนครและพื้นที่ห่างไกล รวมถึงจัดหาข้าวปลาอาหารให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะจดหมายของบาทหลวงมองเซนเยอร์ เดอ บูร์ ได้เล่าว่า ในขณะนั้น สภาพของกรุงศรีอยุธยาช่างแตกต่างจากสมัยที่ท่านเคยเดินทางมาครั้งแรกเมื่อสมัยหลายสิบปีก่อนเป็นอย่างมาก กรุงศรีอยุธยาตอนนั้นแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนล้มตายไปกว่าครึ่ง ซ้ำยังเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนพบกับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ลากยาวไปจนกระทั่งโรคระบาดสงบลง
ทั้งหมดนี้คือบันทึกจากจดหมายของมิชชันนารีชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในสยามช่วงปลายอยุธยา ซึ่งเป็นบันทึกที่ทำให้เราเห็นร่องรอยของโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน
อนึ่ง โรคห่า โดยเฉพาะไข้ทรพิษนั้น ยังมีการระบาดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการส่งแพทย์ไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศ และนำความรู้กลับมาพัฒนาการสร้างหนองฝีป้องกันไข้ทรพิษขึ้นใช้เองในประเทศไทยจนกระทั่งประสบความสำเร็จ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ปาสตุระสภา” ขึ้นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนต่างๆ รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ และได้มีการระดมปลูกฝีให้กับประชาชน จนกระทั่งต่อมา “ปาสตุระสภา” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์” ในปี พ.ศ. 2460 ก่อนโอนมาเป็นของสภากาชาดไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า “สถานเสาวภา”
โดยการระบาดครั้งสุดท้ายของไข้ทรพิษในประเทศไทย มีการบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการกวาดล้างไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษในประเทศด้วยการรณรงค์ปลูกฝีป้องกัน จนกระทั่งไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยอีกเลย