วรรณกรรมสะท้อน ‘วันดีคืนดี’ ยุคพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฟื้นเรืองรุ่งได้ดังอยุธยา สงบสุขมั่นคงขั้นสุด
บทความโดย จิตรากร ตันโห
กรุงศรีอยุธยานั้นเป็นเมืองที่คนสยามคุ้นเคยและมีชีวิตอย่างสงบสุขจนถึงรุ่งเรืองกว่า 400 ปี การล่มสลายของเมืองที่ดำรงมาหลายชั่วคนมิอาจทำให้คนลืมกันไปได้ง่ายๆ และย่อมหวนคิดถึงเป็นธรรมดาถึง “คืนวันที่ยังดี” เมื่อครั้งกรุงเก่า การฟื้นฟูความรุ่งเรืองแห่งกรุงเก่ากลับคืนจึงเป็นทั้งหน้าที่และภารกิจของพระมหากษัตริย์เสมอมาไม่ว่าจะสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ได้ปฏิบัตินั้นส่งผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวในหลากหลายด้าน จนในที่สุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ใกล้เคียงกับครั้งกรุงเก่ามากที่สุด
ในระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2352-2367) อันเป็นช่วงแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเป็นช่วงที่สยามปราศจากสงคราม (แม้จะยกการ์ดอยู่เสมอ) ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงอุทิศในการฟื้นฟูและทำนุบำรุงสยามต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชดังแสดงอยู่ในโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติของพระยาตรังซึ่งได้กล่าวเอาไว้บทหนึ่งว่า [1]
ดำรงแผ่นภพพ้น กรุงกษัตร
ทุกราษฎร ร่มเกล้า
โสรมศรีสุรเทิดทัด ศรีแห่ง โลกแฮ
แสนสนุกนิทั่วท้าว เถิงเมือง
โดยสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวถึงคืนวันอันดีนั้นปรากฏผ่านวรรณกรรมต่างๆ ที่มีในสมัยนั้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและสภาพความเป็นไปต่างๆ ได้อย่างดี เพราะงานเหล่านี้นั้นมักจะเฟื่องฟูก็แต่ในช่วงที่มีความมั่นคงทางสังคมและมั่นใจในอนาคตที่กำลังมาถึงว่าฝันร้ายได้จบลงไปแล้วและไม่มีอะไรให้ต้องกังวลอีก
ในรัชสมัยของพระองค์นั้นนับได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยพระองค์เองได้พระราชนิพนธ์วรรณคดีอยู่ 5 หมวดใหญ่ คือ กลอนบทละครใน คือ อิเหนา รามเกียรติ์,กลอนบทละครนอก คือ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง มณีพิไชย และสังข์ศิลป์ชัย, กลอนเสภา คือ ขุนช้างขุนแผน, กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน, และบทพากย์โขนตอนนาคบาศและตอนนางลอย
พระราชนิพนธ์ต่างๆ นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมและสภาพสังคมที่เป็นในขณะนั้น เช่น พฤติกรรมของหนุ่มสาวที่มาเที่ยวชมงานมหรสพในเรื่องอิเหนา คือ
นักเลงเหล่าเจ้าชู้หนุ่มหนุ่ม คาดเข็มขัดนุ่งปูมเกี้ยวคอไก่
ทัดยาดมห่มสีน้ำดอกไม้ หวีผมตำรับใหญ่แยบคาย
เห็นสาวที่ไหนชุมก็รุมเกี้ยว อดข้าวขับเคี่ยวอยู่จนสาย
บ้างเที่ยวทิ้งมอญรำทำกรีดกราย พวกผู้ชายสรวลเสเฮฮา
บทส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงใช้ชีวิตแบบไร้ความกังวลและความสุขที่กลับมาสู่พระนคร หรือการแสดงถึงรสนิยมการกินของคนไทยที่มีความหลากหลายมากขึ้นนอกจากอาหารไทย คือ เนื้อพล่า ยำเต่า ห่อหมกแล้วยังกินอาหารต่างชาติมากขึ้น เช่น น้ำปลาจากญี่ปุ่น หรือหูฉลามจากจีน ดังปรากฏในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ตอนทศกัณฑ์เลี้ยงต้อนรับสัทธาสูรผู้เป็นสหายและวิรุณจำบังหลานชายว่า
บัดนั้น วิเสศในใหญ่น้อยถ้วนหน้า
แต่งเครื่องเอมโอชโภชนา เนื้อพล่าปลาไหลไก่พะแนง
เป็ดผัดกับหมูหูฉลาม ใส่ชามตั้งโต๊ะตกแต่ง
เอาเหล้าวิลันดาราคาแพง จัดแจงใส่ขวดแล้วตรวจตรา
หรือบทพระราชนิพนธ์สังข์ทองเองก็ยังระบุถึงการละเล่นอย่างตีคลีที่เป็นกีฬาที่พระองค์สนพระราชหฤทัยและสนับสนุนให้ทหารข้าราชบริพารเล่น ปรากฏว่า
เมื่อนั้น พระสังข์คอยขยับรับไว้ได้
เดาะคลีตีตอบไปทันใด สหัสนัยน์กลอกกลับรับรอง
ต่างแกว่งคันคลีเป็นทีท่า ขับม้ามีฝีเท้าเคล่าคล่อง
เวียนวนวกวิ่งชิงคลอง เปลี่ยนทำนองเข้าออกหลอกล้อ
สังคมสยามในขณะนั้นจึงมีความอุดมสมบูรณ์ที่กลับคืนมาแล้ว จนถึงขั้นที่คนในสังคมกลับมามีพฤติกรรมขาดสติดังปรากฏในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไชยเชษฐ์ว่า
ธรรมดาลูกอ่อนเปนท่อนไม้ มีมั่งฤๅไม่แต่ก่อนเก่า
แต่เพียงนี้มิรู้ดูเอา ยิ่งกว่ามัวเมามึนตึง
แต่ถึงแม้จะมีความสมบูรณ์กลับมามากแล้วพระองค์ก็ยังมิประมาทโดยให้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เมื่อ พ.ศ. 2357 เพื่อป้องกันข้าศึกที่มาจากทางทะเลและสร้างป้อมที่ฝั่งตะวันออก 3 ป้อม นอกจากการป้องกันประเทศแล้ว พระองค์ยังผูกใจชาวมอญด้วยพระเมตตาทำให้ชาวมอญจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างมาก ประกอบกับการติดต่อและการค้ากับชาวตะวันตกได้ช่วยให้พระนครได้เจริญขึ้นอีกทางหนึ่ง และพระองค์ยังได้ฟื้นฟูพระราชพิธีต่างๆ ขึ้นเพื่อสร้างขวัญให้กับประชาชน เช่น การฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชา รวมไปถึงการฟื้นฟูช่างฝีมือเพื่อรักษาศิลปะเอาไว้ ความเจริญรุ่งเรืองนี้ได้สรุปในโคลงปราบดาภิเษกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
นานาประเทศเที่ยวเข้าค้า เปิดพรรณผ้าผืนพับ บ้างรับขึ้นห้างแพ เปิดพรรณแพรเหลือหลาย ขายซื้อสรรพสิ่งใช้ ให้ภาษีเชิงกอบ กำนัลนอบเจ้าท่า ส่ำเครื่องค้ามูลมอง ส่ำเงินทองแก้วเก้า ส่ำเข้าเกลือเฟือฟาย ส่ำวัวควายไร่นา ทวยประชาสุขเกษม เปรมกมลเริงรื่น
เราจึงอาจกล่าวได้ว่าอยุธยาได้กลับคืนมาแล้วโดยสมบูรณ์… ก่อนที่หลังจากนั้นอีกเพียงสามรัชกาล กรุงศรีอยุธยาที่เพิ่งกลับมานี้จะถูกฝันร้ายกลับมาย้ำเตือนอีกครั้งเมื่อเรือปืนของฝรั่งเศสได้แล่นเข้ามาถึงปากอ่าวของสยาม และเปลี่ยนชะตาของสยามไปตลอดกาล
อ้างอิง :
[1] เรียบเรียงจาก สุนันท์ อัญชลีนุกูล, “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับอาณาประชาราษฎร์: มุมมองผ่านงานวรรณกรรม,” ใน บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน (กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2566), หน้า 101-120.