‘ล้อเลียน เหยียด ถ่อย’ นิยามความล้าหลังของกลุ่มต่อต้านสถาบันฯ ในไทย จากมุมมองของชาวโลก
ตลอดช่วงเวลาการประชุม APEC 2022 ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ ในโลกออนไลน์ได้ปรากฏกระแสการต่อต้านรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งลามไปจนถึงการแสดงอออกถึงการต่อต้านราชวงศ์จักรี จากบรรดาแอคเคาท์ทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์
น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล้อเลียนรูปลักษณ์ของเจ้านายไทยพระองค์สำคัญ อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระองค์หลังมักจะตกเป็นเป้าของกลุ่มต่อต้านราชวงศ์เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากทรงเป็นเป้าหมาย หรือ ‘เหยื่อ’ ของกลุ่มคนเหล่านี้ ดังเช่นกรณีที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ผู้ต้องหาคดี ม.112) มักสร้างเรื่องบิดเบือนด้อยค่า แล้วให้บรรดาสาวกที่มีทัศนคติต่อต้านสถาบันฯ มาประณามและรุมโจมตีพระองค์อย่างชัดแจ้งเป็นการบ่อยครั้งตามแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปวินเข้าไปมีบทบาท
ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เพียงแค่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงให้การต้อนรับแขกเมืองในฐานะราชวงศ์ตัวแทนของคนไทยทั้งชาติ แม้จะทรงแต่งกายอย่างชุดไทยจารีตตามปกติ ก็มิวายโดนคนบางกลุ่มนำไปกล่าวดูหมิ่นด้วยถ้อยคำหยาบคายอย่างรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุอันสมควรใดๆ เช่น การล้อเลียนรูปร่างหน้าตาของพระองค์ (Body shaming) หรือกระทั่งการด้อยค่าความสามารถ ซึ่งรูปแบบการดูหมิ่นเหล่านี้ (แปลเป็นภาษาบ้านๆ คือ การด่า หรือ Insult)น่าสนใจว่ามักเป็นการกล่าวอย่างซ้ำๆ และมีเจตนาทำให้ผู้ถูกกล่าวถึง (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี) ทรงได้รับการกระทบกระเทือนพระทัยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
เมื่อติดตามรูปแบบการดูหมิ่นของบรรดาผู้ต่อต้านราชวงศ์เหล่านั้นแล้ว หากมีใจเป็นธรรมก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่ปราศจากการใช้เหตุผลและปัญญา อีกทั้งยังเข้ารูปแบบของการกลั่นแกล้งระราน หรือเรียกทับศัพท์ได้ว่า บูลลี่ (Bullying) ที่จัดอยู่ในประเภท “การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต” (Cyberbullying) โดยทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ได้ให้ความหมายของพฤติการณ์ดังกล่าวอย่างละเอียดว่า
“การกลั่นแกล้ง คุกคาม หรือระรานผู้อื่นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ผ่านโซเชียลมีเดีย การส่งข้อความ การเล่นเกม และโทรศัพท์มือถือ การ Cyberbully เป็นพฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว ยั่วโมโห หรือสร้างความอับอายให้แก่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย”
ตามนิยามดังกล่าว การข่มขู่คุกคาม หรือ การกระทำอันเป็นการทำร้ายจิตใจ ย่อมอยู่ในขอบข่ายของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตด้วย (อย่างปฏิเสธไม่ได้) และความหมายเหล่านี้ยังสอดคล้องกับที่พจนานุกรมของ Oxford ได้ให้ความหมายไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กลับมีบรรดา ‘ผู้รู้’ ของฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ (ซึ่งส่วนมากเป็นแอคเคาท์หลุม และมักให้คอมเมนต์ที่ไม่อิงกับหลักทฤษฎีวิชาการใดๆ) ออกมาสนับสนุนและปลอบใจผู้ร่วมขบวนการว่า การบูลลี่หรือด่าเสียดสีชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ถือเป็นการ ‘ล้อเลียน’ (parody) เท่านั้น ไม่ใช่การบูลลี่แบบที่นิยามกันทั่วๆ ไป
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การกล่าวเช่นนี้ เป็นการ ‘โกหกบิดเบือนหลักการของการต่อต้านการกลั่นแกล้งคุกคาม’ อย่างรุนแรง และเป็นการ ‘สมาทานสร้างความชอบธรรม’ ให้กับการกระทำอันแสนเลวร้ายของฝ่ายตนเอง เพื่อที่จะข่มขู่ คุกคาม ระราน หรือใส่ความเท็จแก่บุคคลใดก็ได้ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัตรูทางการเมืองสำหรับกลุ่มที่มีจุดประสงค์ในการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย
การดำรงอยู่ของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตต่อสมาชิกพระราชวงศ์ ในอีกนัยหนึ่ง ย่อมสะท้อนด้วยว่า ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ยอมรับการมีอยู่ของ ‘วัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติ’ (discrimination) ซึ่งย้อนแย้งลักลั่นกับค่านิยม (norm) ของการสนับสนุนความเท่าเทียม อันเป็นหลักศักดิ์สิทธิ์ที่ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ใช้เชิดชู และเป็นธงชัยในการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด การกระทำเหล่านี้จึงเรียกไว้ว่าเป็นพฤติกรรม ‘ปากว่าตาขยิบ’ เพราะตราบใดที่ฝ่ายตนสามารถใช้ประโยชน์จากการบูลลี่ราชวงศ์ได้ การบูลลี่นั้นก็จะได้รับการสงวนและอนุญาตให้ใช้กับฝ่ายตนเพียงอย่างเดียว ซึ่งนอกจากเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจไร้อารยะแล้ว ยังเป็นการทรยศหลักการของตนเองโดยสิ้นเชิง
และหากเทียบกับต่างประเทศ พฤติการณ์ของบรรดากลุ่มต่อต้านสถาบันฯ ในประเทศไทยนั้น จัดว่าแตกต่างกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์ในประเทศฝั่งยุโรปมาก ซึ่งกลุ่มต่อต้านสถาบันฯ แถบยุโรปที่มีอารยะกว่าบ้านเรา เขาเน้นการวิพากษ์ในเรื่องความคุ้มค่าของการดำรงอยู่ของราชวงศ์ในฐานะของสถาบันแห่งชาติแบบแนวทางสถาบันนิยม ไม่ใช่การเน้นโจมตีรูปร่างส่วนบุคคล หรือการใส่ร้ายเสียดสีที่เน้นความสะใจเป็นสำคัญมากกว่าที่จะเป็นการ‘ติ’ เพื่อ ‘ก่อ’
จึงกล่าวได้ว่า ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ในประเทศไทย ยังห่างไกลมิตรสหายในฝั่งยุโรปอยู่หลายขุม ทั้งเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจในสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งของไทยและพลวัตรที่เป็นสากล การมีศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงออกหรือล้อเลียน และโดยเฉพาะการไร้ซึ่งวุฒิภาวะในการแสดงออก ซึ่งถ้าหากมองด้วยสายตาแบบชาวยุโรปแล้ว ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ในประเทศไทยจัดเป็นพวก ‘บาร์บาเรียน’ หรือ ‘บาร์บาริค’ (barbaric) ซึ่งแปลได้ว่า ‘อารยชนคนเถื่อน’ หรือผู้ที่ยังไม่ได้ลิ้มรสกับความศิวิไลซ์นั่นเอง