ฤๅ พาย้อนอดีต ท่องเที่ยว ‘เบตง’ เมืองสวรรค์แห่งสวนยางในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
เมื่อกล่าวถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เรามักจะนึกถึงเมืองงามกลางหุบเขาที่แวดล้อมไปด้วยป่าไม้ยุคโบราณ โอบล้อมด้วยทะเลหมอกในเวลาเช้า นี่เป็นภาพจำของเมืองเบตงในยุคสมัยใหม่ที่ความเจริญได้เข้าไปในพื้นที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ทุกวันนี้ เบตงเป็นเมืองหนึ่งที่มีปัจจัยและองค์ประกอบของความเป็นเมืองครบถ้วน เรียกได้ว่าอะไรที่เมืองใหญ่ ๆ ในประเทศไทยมี เมืองเบตงก็มีกับเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งสนามบิน โรงแรมชั้นนำ โรงเรียนที่มีคุณภาพ กระทั่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงยังมีป้ายทะเบียนรถเป็นของตนเองอีกด้วย
และที่สำคัญ เบตงยังแตกต่างจากพื้นที่เมืองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ตรงที่ว่า ไม่มีการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ว่ากันว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เบตงปลอดภัยอย่างมาก คือความสมัครสมานกลมเกลียวของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งส่วนหนึ่งเคยเป็นอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) มาก่อน แล้วกลับใจหันหลังให้อาวุธ แล้วร่วมพัฒนาบ้านเมืองร่วมกับรัฐแทน ความเป็นหนึ่งเดียวและความเข้มแข็งของคนในเมืองนี้ทำให้ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะกลุ่ม BRN ไม่กล้าย่างกรายเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่เบตงมานานพอสมควร
อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปในยุคที่คุณตาคุณยายของเรายังเป็นเด็ก คำถามที่ว่า “เบตงในเวลานั้นมีสภาพเป็นเช่นไร ?” คงเป็นคำถามที่ยากเกินเดา เพราะในความเป็นจริงแล้ว เบตงถือเป็นเมืองที่อยู่ใต้สุดชายแดนไทย หรือหากจะกล่าวให้ชัด เบตงในเวลานั้น (80 กว่าปีก่อน) คือพื้นที่ที่เรียกได้ว่าแทบจะตัดขาดจากส่วนอื่น ๆ ในประเทศ หนทางก็สุดแสนจะลำบาก ชุกชุมไปด้วยสิงสาราสัตว์และไข้ป่า แต่ด้วยความอุตสาหะของบรรพชนผู้บุกเบิก ทั้งไทย จีน มลายู ทำให้เบตงทุกวันนี้รุ่งเรืองดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผู้เขียนโชคดีที่ได้รับหนังสือ ‘อนุสรณ์พระยาอนุวัตน์วนรักษ์’ ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกงานศพของ พระยาอนุวัตน์วนรักษ์ (ปิยะ อนุวัตน์วนรักษ์) อดีตข้าราชการกรมป่าไม้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงยุคต้นประชาธิปไตยและเป็นชาวสุราษฏร์ธานี ซึ่งหนังสือที่ระลึกงานศพดังกล่าว ทางคณะผู้จัดพิมพ์ได้รวบรวมเอางานเขียนที่เจ้าคุณอนุวัตน์วนรักษ์ได้เขียนเอาไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิต ซึ่งบางบทความได้ตีพิมพ์ลงหนังสือหรือวารสารต่าง ๆ หลายวาระโอกาส
และหนึ่งในบทความที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจนั่นก็คือ บทความเกี่ยวกับสภาพเมืองเบตงในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเจ้าคุณอนุวัตน์วนรักษ์ได้เขียนลงไว้ใน ‘วนสาร’ อันเป็นวารสารของกรมป่าไม้จัดทำขึ้นเองในปี พ.ศ. 2482 เกี่ยวกับเมืองเบตงนี้ เจ้าคุณอนุวัตน์วนรักษ์ได้เขียนเล่าจับความได้ว่า เบตงในเวลานั้นเป็นเมืองแห่งของแพง คนไทยหรือแม้แต่ข้าราชการหากต้องการจะสื่อสารกับคนในพื้นที่ก็ต้องสื่อสารในภาษาจีนเป็นหลัก เกี่ยวกับชื่อเสียงในเวลานั้นแล้ว เมืองเบตงเป็นสวรรค์แห่งสวนยางและชาวสวนยาง และเคยมีประวัติที่หวาดเสียวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ในฐานะ “เมืองแห่งโจรจีน”
ทั้งนี้ เจ้าคุณฯ ไม่ได้ขยายความว่าหมายถึงโจรจีนอะไร ใช่จีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) หรือไม่ ? แต่เมื่อผู้เขียนไปสืบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า โจรที่ว่านี้ไม่ใช่โจรจีนคอมมิวนิสต์ แต่หมายถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มชาวจีนกลุ่มหนึ่งเกิดความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจจนรวมสมัครพรรคพวกเข้าถล่มโรงพักเมืองเบตงในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พระพิชิตบัญชาการ (ทรัพย์ อินทรัศมี) ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเบตงอยู่ (สำหรับรายละเอียดเหตุการณ์นี้ ผู้เขียนจะขอยกมาเขียนเป็นบทความเฉพาะในกาลต่อไป)
เกี่ยวกับสภาพทั่วไปของเบตง เจ้าคุณฯ อธิบายให้กับคนนอกที่ไม่เคยนึกภาพดินแดนหุบเขามลายูทางใต้เอาไว้ว่า “… อากาศภูมิประเทศคล้าย ๆ อิตาลีตอนใต้ และถ้ายกหิมะเสียก็คล้าย ๆ กับบางส่วนของถิ่นภูเขาแอลป์หรือป่าดงดิบบางส่วนของถิ่นนั้น ฉะนั้นจึงเป็นท้องถิ่นที่น่าสนใจ …”
การเดินทางไปเมืองเบตงสมัยก่อนที่จะมีถนนยะลา-เบตง ที่ตัดผ่านอำเภอบันนังสตาและอำเภอธารโตในจังหวัดยะลานั้น เป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบากมาก เจ้าคุณฯ เล่าว่าต้องเดินทางอ้อมไปทางสหพันธรัฐมลายาของอังกฤษ (British Malaya) โดยขับรถยนต์จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เข้าสู่อำเภอสะเดา ก่อนตัดออกไปทางรัฐไทรบุรีและเปรัคของมลายา แล้วจึงขับรถย้อนไปยังอำเภอเบตงที่อยู่กับรัฐเปรัค
สิ่งแรกที่เจ้าคุณฯ เห็นสะดุดตาเมื่อกำลังจะข้ามผ่านเขตเปรัคและเบตงในเขตแดนไทย นั่นก็คือ เครื่องหมายสีธงชาติของไทยที่เห็นชัดแต่ไกล เมื่อข้ามเขตมายังเบตงแล้ว เจ้าคุณฯ เล่าว่าสถานที่ราชการในเมืองเบตงได้จัดทำเป็นเสมือนศูนย์ราชการในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วยที่ว่าการอำเภอ ด่านภาษี แพทย์สถาน (สถานีอนามัย) สถานีตำรวจ ที่ทำการไปรษณีย์ และที่พักข้าราชการซึ่งตั้งเรียงรายลดหลั่นไปตามไหล่เขา
เกี่ยวกับการศึกษานั้น เจ้าคุณฯ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ประกอบไปด้วยนักเรียนทั้งไทยและจีนซึ่งทั้งหมดเรียนร่วมกัน เขาตั้งข้อสังเกตว่าเด็กจีนทุกคนอ่านไทยได้แต่สู้ไม่เข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งนัก เพราะเมืองแห่งนี้ใช้ภาษาไทยพูดกันน้อยมาก จนกระทั่ง “แม้แต่เด็กไทยก็พลอยพูดภาษาจีนไปด้วย เลยทำให้ภาษาจีนกลายเป็นพื้นภาษาของโรงเรียน” อีกทั้งสัดส่วนของนักเรียนจีนและไทยนั้น เด็กจีนมีจำนวนที่มากกว่าเด็กไทย ต่อจากนั้น เจ้าคุณฯ ก็ได้ไปเที่ยวตลาดเมืองเบตงยามเย็นซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตลาดที่หาดใหญ่ ภาษาที่ใช้ในตลาดโดยมากก็ยังเป็นภาษาจีนและหาภาษาไทยแทบไม่ได้ยินศัพท์เลย เงินตราที่ใช้ในตลาดนี้ก็เป็นเงินเหรียญสิงคโปร์เนื่องจากใช้สะดวกกว่า เพราะเมืองเบตงมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับมลายาของอังกฤษมากกว่าประเทศไทย นอกจากนั้น ตลาดแห่งนี้ เจ้าคุณฯ เล่าว่าเวลาเย็นค่ำออกจะคึกครื้น เพราะมีโรงภาพยนตร์ด้วย มีผู้คนออกมาเนืองแน่นเต็มถนนโดยเฉพาะกรรมกรชาวสวนยาง กระทั่งราว 4 ทุ่มตลาดก็ได้ซาลง
วันรุ่งขึ้น เจ้าคุณฯ ได้มีโอกาสไปชมสวนยางซึ่งโดยมากมีคนจีนเป็นเจ้าของ จีนเจ้าของสวนนี้เป็นจีนจากเมืองกวางไสหรือกวางจิวเป็นพื้น หลังจากชมสวนยางแล้ว คณะของเจ้าคุณฯ ก็ได้เดินทางต่อไปยังตำบล “ตะนาเมระ” (ปัจจุบัน สะกดเป็น ตะเนาะแมเราะ) ตำบลนี้ เจ้าคุณฯ เขียนไว้ว่า มีชื่อเสียงในเรื่องของน้ำพุร้อน (ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านจะเราะปะไร ตำบลตะเนาะแมเราะ) และไร่ผักสวนผลไม้ที่ชาวสวนปลูกขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากมลายา ซึ่งการปลูกผักนี้เจ้าคุณฯ เล่าว่าเป็นรายได้พิเศษแก่ชาวบ้านนอกเหนือไปจากการตัดยาง
หลังจากอยู่เบตงได้ 2-3 วัน เจ้าคุณฯ ก็ได้เดินทางกลับ โดยเบื้องต้นพวกเขาตั้งใจจะกลับด้วยการเดินข้ามสันปันน้ำเพื่อไปเจอกับถนนที่ตัดผ่านอำเภอบันนังสตาในฝั่งไทยที่กำลังก่อสร้างอยู่และจวนจะแล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่า พวกเขาไม่สามารถหาลูกหาบได้เพราะชาวบ้านพากันไปเฝ้าทุเรียนกันเสียหมด ส่วนชาวเงาะหรือ “โอรังอัสรี” ที่เคยรับจ้างแบกหามก็ไม่แน่ว่าจะรับงานจ้างในครั้งนี้ ทำให้สุดท้าย คณะของเจ้าคุณฯ ได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเบตงด้วยทางเดิม นั่นก็คือนั่งรนยนต์ออกไปทางรัฐเปรัคของมลายา แล้วจึงวกเข้าจังหวัดสงขลาทางด่านสะเดา
ก่อนจากเบตงนั้น เจ้าคุณฯ ได้บันทึกความในใจถึงเมืองกลางหุบเขานี้ว่า “เราหยุดดูข้างหลังด้วยความรู้สึกภูมิใจและหนักใจระคนกันเพื่อลาเบตง ลาเมืองยาง หรือแดนสวรรค์ของต้นยาง และลานายด่านที่กำลังเจรจาภาษาจีนด้วยหน้าอันเคร่งขรึม”
อ้างอิง :
[1] อนุสรณ์พระยาอนุวัตน์วนรักษ์ (ปิยะ อนุวัตน์วนรักษ์) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2517.