รู้หรือไม่…เส้นทางการสื่อสารของประเทศไทยผ่านอะไรกันมาบ้าง?
การสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล การติดต่อสื่อสารถึงกันเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และสามารถเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งถึงกันได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้การพัฒนาประเทศชาติในทุก ๆ ด้าน เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ย้อนไปในอดีต “การสื่อสาร” ที่เป็นที่นิยมมีเพียงนกพิราบสื่อสารและม้าเร็วเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีในสมัยนั้นยังมีไม่มาก ผู้ช่วยสำคัญในการสื่อสารยุคนั้นก็คือ “สัตว์” คนจีนในอดีตพัฒนาการส่งสารด้วยม้าเร็ว ในขณะที่ระบบ “นกพิราบสื่อสาร” ถูกพัฒนาขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อการสื่อสารระหว่างทหารที่ออกรบในสมรภูมิกับศูนย์บัญชาการ และได้รับความนิยมใช้กันเนื่องจากนกพิราบเป็นนกที่อดทน แข็งแรง และฉลาดสามารถจดจำทิศทางกลับรังได้เป็นอย่างดี
สำหรับสยามนั้น การสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองปลอดจากภัยสงคราม การเมืองภายในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพที่มั่นคงขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในยุคนั้น ก็เพื่อสนับสนุนกิจการด้านงานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในขณะนั้นเป็นยุคเริ่มล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างเข้ามาเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ และอารยธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
ต่อมาในยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การสื่อสารจึงได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนักมากขึ้น และเกิดพัฒนาสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับประเทศมหาอำนาจ จนทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกหลายครั้ง รวมทั้งการสื่อสารสามารถทำให้สยามสามารถรับเอาวิทยาการใหม่ ๆ มาปรับปรุงพัฒนาประเทศในเวลาต่อมาได้
จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดาในการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเพื่อบำบัดทุกข์ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล และสามารถสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของชาติได้
โดยเริ่มแรกนั้นการสื่อสารจะเรียกว่า “ไปรษณีย์พิเศษ” ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในพระบรมมหาราชวัง และเขตพระนครชั้นใน โดย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2424 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งการไปรษณีย์ โดย “กรมไปรษณีย์” ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 สิงหาคม 2426 มีที่ทำการไปรสะนียาคารแห่งแรก ที่ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลราชบูรณะ และอาคารในพระราชอุทยานสราญรมย์ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคมที่เรียกว่า “กิจการโทรเลข” เข้ามา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทันสมัย และรวดเร็วที่สุดในยุคนั้น
เริ่มแรกกิจการโทรเลขอยู่ในความดูแลของกลาโหม และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการวางสายโทรเลขเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2418 จากกรุงเทพฯ ไป สมุทรปราการ เพื่อใช้ในงานราชการ จากนั้นจึงเปิดให้บริการสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2426 อัตราค่าบริการ “คำละ 1 เฟื้อง” หลังจากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น “กรมโทรเลข” ขึ้นโดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการกรมโทรเลขอีกตำแหน่งหนึ่ง จากนั้นกลาโหมได้เริ่มมีการนำโทรศัพท์เข้ามาและมอบให้กรมโทรเลขดูแลต่อ
เมื่อเกิดทิศทางในการรวมการสื่อสารของชาติมาอยู่ที่เดียวกัน จึงเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วตามมา เช่น มีการนำรถไฟมาสนับสนุนกิจการไปรษณีย์ ก็เกิดเป็นการรถไฟตามมา มีการนำเครื่องบินมาสนับสนุนการไปรษณีย์ที่เรียกว่า รอยัลเมลล์ ก็เกิดมีการบินขึ้นต่อมา การไปรษณีย์และโทรเลขมีการขยายบริการไปทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของชาติในการสื่อสารไปยังต่างประเทศทั่วโลก ภารกิจของกรมไปรษณีย์โทรเลขมีมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นราชการกรมแห่งแรกในประเทศก็ว่าได้ จนเกิดงานสาธารณะอันสำคัญของประเทศให้รับผิดชอบขึ้นมากมาย ทั้งงานบริการโทรคมนาคม กิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการออมสิน กิจการวิทยุการบิน กิจการโทรศัพท์ซึ่งภายหลังได้แยกออกไป
นับแต่นั้นมากิจการไปรษณีย์โทรเลขทั้งในและต่างประเทศ ก็มีการพัฒนามาเป็นลำดับ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการติดต่อสื่อสารทั่วราชอาณาจักร หลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ (UPU) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ทำให้มีการประสานงานเชื่อมต่อการให้บริการระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีบริการหลัก 3 ด้าน ได้แก่ บริการไปรษณีย์ บริการการเงิน และบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะส่วนงานด้านโทรคมนาคมมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การสื่อสารหลังปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2477 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารหลายฉบับ โดยฉบับหลักคือพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. 2477 ส่งผลให้มีการปรับองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพการณ์หลายครั้ง และมีการแยกงานสำคัญ ๆ ออกไปจัดตั้งเป็นหน่วยบริการหลายหน่วย
งานวิทยุกระจายเสียงในประเทศ ถูกโอนไปขึ้นกับกรมโฆษณาการ เมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งปัจจุบันคือ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ขึ้นกับกรมประชาสัมพันธ์, กิจการของกองคลังออมสิน แยกออกไปจัดตั้งเป็นธนาคารออมสิน เมื่อปี พ.ศ. 2489, กิจการวิทยุการบินพลเรือน แยกออกไปจัดตั้งเป็น บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2491, กิจการโทรศัพท์ในประเทศ แยกออกไปจัดตั้งเป็น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2497 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), และได้ควบรวมกิจการกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จัดตั้งเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564
หลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 จึงมีการแยกส่วนงานของกรมไปรษณีย์โทรเลขอีกครั้ง โดยงานระดับปฏิบัติการทางด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคม แยกไปขึ้นอยู่กับรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ได้แยกออกเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ควบรวมกิจการกับทีโอที จัดตั้งเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564) ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการด้านการสื่อสารแก่สาธารณะ ทั้งบริการไปรษณีย์ โทรคมนาคม และบริการการเงิน กรมไปรษณีย์โทรเลขรับผิดชอบงานนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุ งานนโยบาย งานวิชาการ งานวิจัยพัฒนา และงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งในและระหว่างประเทศ
ปิดตำนาน 133 ปี บริการโทรเลข
จากนั้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 (พ.ร.บ. กสท. 2543) จึงมีการโอนกิจการของกรมไปรษณีย์โทรเลขไปสู่สำนักงานคณะกรรมการจำนวน 2 องค์กร คือ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม พุทธศักราช 2545 กรมฯ จึงโอนถ่ายบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ หน้าที่ ความรับผิดชอบ การปฏิบัติงานทั้งหมด ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กทช.) ส่วนในด้านกิจการไปรษณีย์ และเงินงบประมาณทั้งเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการกับลูกจ้างซึ่งยังมีผลครอบครองอยู่ พร้อมกับกลุ่มบุคคลเดิม ไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ในมาตรา 82, 83, 84
ในด้านของกรมประชาสัมพันธ์ ได้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ งบประมาณ การปฏิบัติงานทั้งหมด ในส่วนของกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (สำนักงาน กสช.) ส่วนในด้านงบประมาณทั้งเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการกับลูกจ้างซึ่งยังมีผลครอบครองอยู่ พร้อมกับกลุ่มบุคคลเดิม ให้ยังคงไว้กับกรมประชาสัมพันธ์อยู่เช่นเดิม ในมาตรา 85, 86
หลังจากที่กรมไปรษณีย์โทรเลข ถูกยุบเลิกเป็น สำนักงาน กทช. ตามพระราชกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการโอนกิจการไปรษณีย์ทั้งหมดที่เหลืออยู่ไปขึ้นกับ บจก.ไปรษณีย์ไทยในทันที หลังวันเปลี่ยนผ่านไปสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นต้นไป (การแปรสภาพโดยสมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547) ส่วนงานโทรเลขก็ได้ดำเนินการจนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551 ก่อนที่จะปิดตำนานบริการโทรเลขที่ให้บริการมากว่า 133 ปี เนื่องจากผู้ใช้บริการโทรเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมียอดผู้ใช้สูงสุดอยู่ที่ปีละ 3 ล้านฉบับ หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.5 แสนฉบับ ลดลงเหลือเพียงวันละไม่ถึง 100 ฉบับ หรือประมาณปีละ 4,000 ฉบับ
จาก กทช. และ กสช. สู่ กสทช.
หลังจากมีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช. 2553) ทำให้มีการรวมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือ กทช. และ กสช. ไปจัดตั้งใหม่เป็น กสทช. แทน และในวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้บังคับใช้ พ.ร.บ. กสทช. 2553 จึงมีประกาศเปลี่ยนแปลงสำนักงาน กทช. มาเป็นสำนักงาน กสทช. ขึ้นมาดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดย กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 อันเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นให้เป็นไปตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติว่า
“คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตาม วรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
กษัตริย์นักการสื่อสารเพื่อปวงชนชาวไทย
ระหว่างที่การสื่อสารของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ 9) พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการสื่อสารมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงอุทิศเพื่อราษฎรทุกภูมิภาค ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน
นอกจากนี้ยังทรงใช้การสื่อสารเพื่อประชาชนในหลาย ๆ ด้าน โดยพระองค์จะทรงฟังวิทยุสื่อสารเป็นประจำทุกวันในห้องทรงงานระหว่างทรงงานอื่น ๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบข่าวรายงานเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ อยู่เสมอ และพระราชทานความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
เมื่อปี พ.ศ. 2494 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อให้พสกนิกรได้มีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนอย่างในอดีต ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์
ทั้งยังให้จัดรายการ “บอกบุญ” ไปยังประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์และสิ่งของ “โดยเสด็จพระราชกุศล” ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในเหตุการณ์ภัยพิบัติหลายครั้ง อาทิ อหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. 2501 และเหตุการณ์วาตภัยรุนแรงที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2505
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวไทยจึงได้เห็นพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และช่วยเหลือชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึง “พระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร” ที่ฉายชัดนับแต่ยังทรงพระเยาว์ และต่อยอดขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อปวงชนชาวไทย ทั้งหมดนี้ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท เป็นหัวใจของความมั่นคงสำหรับประเทศ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้ทรงพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 ความว่า
“การสื่อสาร เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้อง กับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิด และสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยี อันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดีมีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง”