รู้หรือไม่? การมีรัฐธรรมนูญ กับการเป็นประชาธิปไตย คือคนละเรื่อง (เดียวกัน)

ผ่านมา 89 ปีแห่งการปฏิวัติสยาม ประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ “ตาม” รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งเป็นบริบทของสังคม ที่เราต่างยอมรับและเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงนี้

แต่วันดีคืนดีมีใครไม่รู้ประกาศโครมว่าจะ “สืบทอดเจตนารมณ์ คณะราษฎร” จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศชาติ และยืนยันเด็ดขาดว่า “ชั่วชีวิตนี้จะขอรักษาประชาธิปไตยตราบจนวันตาย” สุดท้ายเลยเถิดไกลไปถึงคำว่า “Republic of Thailand” ซึ่งหลายคนยืนงง ๆ ไม่รู้จะทำยังไงก็ว่าตามกันไป

ในความเป็นจริงแล้ว เจตนารมณ์ของคณะราษฎร เดิมทีไม่ใช่การสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย” แต่เป็นการสถาปนา “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งพวกเรามักเข้าใจผิดกันว่า ประเทศใดที่มี “รัฐธรรมนูญ” ย่อมต้องเป็น “ประชาธิปไตย” ด้วย

ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยย่อมมีกติกากลางเขียนกำกับไว้ สิ่งนั้นคือ “รัฐธรรมนูญ” (The Constitution)

ดังนั้น “การเป็นประชาธิปไตย” กับ “การมีรัฐธรรมนูญ” จึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาดในปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ดี “การมีรัฐธรรมนูญ” กับ “การเป็นประชาธิปไตย” ก็ยังเป็นคนละเรื่อง (เดียวกัน) กันอยู่ดี

อันที่จริงหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของการเมืองการปกครองทั่วโลก ประเทศแรก ๆ ที่ถือกันว่ามี “รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร” (Written Constitution) คือ ราชอาณาจักรสวีเดน โดยได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นในปี ค.ศ. 1634 ซึ่งสวีเดนสมัยนั้น ยังถือว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ และรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเลย

ส่วนการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญอเมริกาในปี ค.ศ. 1787 – 1789 นั้น จัดเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์ตามความเข้าใจในสมัยนั้น เนื่องจากในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 “การเป็นประชาธิปไตย” หมายถึง “การไม่มีกษัตริย์”

ดังนั้นแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงเกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายสูงสุด (Fundamental Law) ว่าด้วยประเพณีการปกครองของประเทศนั้น ๆ โดยกฎหมายสูงสุดที่ว่านี้ จะปรากฏเนื้อหาว่าด้วยรูปแบบการปกครอง รูปแบบแห่งประมุข อำนาจของประมุข หรือกระทั่งข้อกำหนด ข้อจำกัด หรือสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ผูกพันต่อประมุขและผู้ปกครองประเทศ

เพราะฉะนั้น การมีรัฐธรรมนูญจึงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับ “ระบอบประชาธิปไตย”

สำหรับประเทศไทยเองก็มีความเข้าใจทำนองว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย”

ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

เจตนารมณ์ของคณะราษฎร แท้จริงแล้วคือการสถาปนา “ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยผ่านการปฏิวัติยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา “จำกัดอำนาจ” ของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ “ตาม” รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจอย่างจำกัด (Limited Monarchy)

ซึ่งหลายคนก็พยายามอธิบายว่านั่นคือ ระบอบพระมหากษัตริย์ “ใต้” รัฐธรรมนูญ

ส่วนคำว่า “ระบอบประชาธิปไตย” นั้นพบว่า เพิ่งเรียกใช้กันภายหลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 1-2 ปี หลังจากที่สังคมไทยเกิดความเข้าใจกันใหม่ว่า “ประชาธิปไตย” กับ “พระมหากษัตริย์” สามารถคงอยู่ร่วมกันได้

อย่างที่ประเทศอังกฤษได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างของการผสมกลมกลืนระหว่างแนวความคิดนี้ แม้ว่าจะไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) ก็ตาม อีกทั้งการปกครองของอังกฤษ (ระบอบพระมหากษัตริย์ “ตาม” รัฐธรรมนูญ) ยังเป็นต้นแบบให้แก่หลายประเทศได้เจริญรอยตาม รวมถึงประเทศไทยในสมัยนั้นด้วย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลคณะราษฎรตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2489 ก็มักนิยามรูปแบบการปกครองของไทยว่าเป็น “ระบอบรัฐธรรมนูญ” มากกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” อยู่ดี ดังจะเห็นได้จากการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างใหญ่โตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริง ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องที่แยกกันไม่ขาดระหว่าง “การเป็นประชาธิปไตย” กับ “การมีรัฐธรรมนูญ” ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า “การมีรัฐธรรมนูญ” ก็ไม่ได้ชี้ขาดว่าชาตินั้นจะต้อง “เป็นประชาธิปไตย”

การใส่ใจและตื่นตัวทางการเมืองย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้ายังไม่เข้าใจในสิ่งที่มีอย่างถ่องแท้ แทนที่เราจะก้าวไปข้างหน้า บางทีอาจกลับกลายเป็นโดนผูกสนตะพาย ลากหงายให้ต้องถอยหลัง หรือหลงทางกันไปจนกู่ไม่กลับก็เป็นไป

อ้างอิง : หนังสือ

การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
คู่มือพลเมือง ของ สำนักงานโฆษณาการ พ.ศ.2480

อ้างอิง : เว็บไซต์

Wiki-Constitution
Wiki-Constitution of The United States

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า