ราชทัณฑ์ปันสุขฯ คือพระราชกรณียกิจส่งเสริมภาครัฐ ไม่ใช่การแทรกแซงทางการเมือง
จากกรณีที่มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ ในปี พ.ศ. 2564 ปรากฏว่า ต่อมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ออกมาเผยแพร่บทความวิจารณ์ว่า นี่คือการใช้พระราชอำนาจล้ำเส้นเข้ามาในการบริหารราชการแผ่นดินขององค์พระมหากษัตริย์
ซึ่งบทความของ นายปิยบุตร ถือเป็นข้อมูลที่ “ผิด” เป็นการ “เลือกหยิบเพียงบางประเด็น” ของการลงพระปรมาภิไธยและผู้ลงนามรับสนองฯ ขึ้นมาขยายความ และนำมาตั้งคำถามเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า พระมหากษัตริย์กระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญ
ทั้งที่ความจริงแล้วโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือ อันถือเป็นพระราชกรณียกิจ และเป็นโครงการที่ใช้งบส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกทั้งการตั้งคณะกรรมการฯ ก็ไม่ต้องใช้กฎหมายรองรับ เพราะไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดินและคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีอำนาจสั่งการใด ๆ รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ไม่มีอำนาจในการสั่งให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้กระทำการใด ๆ เช่นกัน
กรณีดังกล่าวข้างต้นมีมุมมองทางกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นายปิยบุตร ไม่ได้อธิบายไว้ นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ “เหนือการเมือง” และ “ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง” โดยทรงเป็นประมุขของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าจะต้องทรงทำกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองก็จะทรงทำไปตามตัวบทกฎหมายนั้น นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจในทางจารีตประเพณี หรือธรรมเนียมปฏิบัติ รวมไปถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการ “อุดรอยรั่วโครงการของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไว้”
ในส่วนที่นายปิยบุตร อ้างเรื่องการลงพระปรมาภิไธยและผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 182 ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”
ดังนั้น สิ่งที่ต้องจำต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 จึงได้แก่ บรรดากฎหมายต่าง ๆ ที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา รวมไปถึงพระราชหัตถเลขา และ พระบรมราชโองการ อันเป็นคำสั่งของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ให้อำนาจไว้ เช่น พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นต้น
ซึ่งตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือ อันถือเป็นพระราชกรณียกิจ ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 10 และการตั้งคณะกรรมการฯ ก็ไม่ต้องใช้กฎหมายรองรับ เพราะไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นการวิจารณ์ของนายปิยบุตร จึงเป็นเพียงการเลือกหยิบบางประเด็นขึ้นมาขยายและบิดเบือนภาพรวมให้เกิดความเข้าใจผิด
ในส่วนของประเด็นคำถาม 9 ข้อ ของนายปิยบุตร เกี่ยวกับคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ นั้น นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรมต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขังที่เจ็บไข้ได้ป่วยจำนวนมาก แต่ยังขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เพื่อให้เข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม เมื่อพันโทษออกไปจะได้มีสุขภาพดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานความช่วยเหลือทั้งการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งมีจิตอาสาพระราชทานเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ โดยนายวิศิษฎ์ ได้อธิบายว่า
“ปัจจุบันเรือนจำมีผู้ต้องขังจำนวนมาก แต่กรมราชทัณฑ์มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ต้องขังที่แออัด ในปี 2563 ได้รับพระราชทานเงินมาให้จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ไว้ใช้ทั้งในเรือนจำและโรงพยาบาลภายนอกจำนวน 190 ล้านบาท ปีนี้พระราชทานให้อีก 118 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนและโรงพยาบาลภายนอกได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ยืนยันว่าโครงการพระราชทานสอดคล้องกับตามหลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญากรุงเทพ และข้อกำหนดแมนเดลา และไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด”
จากคำอธิบายของนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ เป็นข้อเท็จจริงและเหตุผลที่สอดคล้องกันอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือ กรมราชทัณฑ์มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ “แต่ใช้งบส่วนพระองค์ของในหลวง”
การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ลักษณะนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติมาอย่างยาวนาน จนปรากฏผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน และได้รับการสืบสานต่อยอดโดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยนั่นเอง โดยภารกิจของกรมราชทัณฑ์ ระบุไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2561 ข้อ 2 (โดยในภาระงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะเข้าไปเติมเต็มภารกิจในกฎกระทรวงข้อ 2 (2))
ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า สิ่งที่นายปิยบุตร กล่าวอ้าง ไม่ว่าจะปัญหาทางรัฐธรรมนูญในกรณีผู้รับสนองพระบรมราชโองการก็ดี ปัญหาภารกิจซ้ำซ้อนก็ดี หรือปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินก็ดี ล้วนถูกตอบได้ในตัวเองอยู่แล้วว่า พระราชกรณียกิจที่ได้อุดช่องโหว่ในการบริหารราชการ “เป็นคนละส่วน” กับการบริหารราชการแผ่นดินที่ปฏิบัติงานโดยข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองแล้วแต่กรณี
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ได้อธิบายไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า บทความของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นข้อเขียนที่เลือกหยิบเพียงบางประเด็นขึ้นมาขยายความให้ใหญ่โตเกินจริง จับข้อเท็จจริงบางเรื่องสร้างเป็นมโนทัศน์ขึ้นมาใหม่ทำนองว่า พระมหากษัตริย์กระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยอ้าง “เสรีภาพทางวิชาการ” เป็นเกราะกำบัง
ประเด็นนี้ ชวนทำให้นึกถึง เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เคยมีพระราชดำรัสในทำนองว่า…
“ในต่างประเทศ มีหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่เคยทำผิด แต่ในส่วนพระมหากษัตริย์ของสยามนั้นกลับกัน พระมหากษัตริย์คงไม่เคยทำอะไรถูกเลยกระมัง”