รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปแผ่นดินเพื่อประชาชน มิใช่เพื่อการเอาตัวรอดของสถาบันพระมหากษัตริย์ จากภัยคุกคามของชาติตะวันตก
ปัจจุบันมีนักวิชาการที่พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง และส่งต่อแนวคิดผิด ๆ ให้กับเยาวชนว่า การปฏิรูปประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส การปฏิรูปการทหาร การศึกษา รวมไปถึงการปฏิรูประบบราชการ คือการเอาตัวรอดของสถาบันพระมหากษัตริย์จากภัยคุกคามของชาติตะวันตกที่มีต่อราชบัลลังก์
ซึ่งถือเป็นการส่งต่อ “ความเท็จ” ด้วยมุมมองที่คับแคบและเต็มไปด้วยอคติ
เพราะความจริงแล้ว การปฏิรูปพลิกฟื้นแผ่นดินของพระองค์นั้น คือจุดเริ่มต้นในการนำพาประเทศชาติให้ก้าวพ้นจากความล้าหลัง สร้างความเท่าเทียมให้ชาวสยาม และมุ่งรักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ด้วยพระราชวิเทโศบายพึ่งตนเองทั้งความคิดและการเจรจาเป็นหลักสำคัญ ดังพระราชหัตถเลขา ที่พระองค์ทรงมีถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ว่า…
ความทุกข์ร้อนอันใดของเราที่จะพึ่งปากผู้อื่นให้ช่วยพูด พึ่งความคิดผู้อื่นให้ช่วยคิดนั้นอย่าได้ฝันเห็นเลยว่าใครจะเปนธุระ
ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 นั้น มีปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายใน คือ ตัวผู้นำและสภาพสังคมของประเทศ ส่วนปัจจัยนอกที่ส่งผลต่อการปฏิรูปสยามเป็นอย่างมากคือ อิทธิพลของชาติตะวันตก ซึ่งถือได้ว่ามีความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยกว่าประเทศสยามเป็นอย่างมาก
นับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 17 ซึ่งถือเป็นยุคของการฟื้นฟูศิลปวิทยา จนนำมาสู่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และส่งผลมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป การปฏิวัติใหญ่ทั้ง 3 ครั้งดังกล่าว ทำให้หลายประเทศในยุโรปมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เกิดการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ รวมไปถึงการประดิษฐ์เรือและอุปกรณ์การเดินเรือ เช่น เข็มทิศ แผนที่ กล้องส่องทางไกล จนนำไปสู่การเดินทางและค้นพบดินแดนใหม่ เกิดการแพร่ขยายวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงการเข้ามาในสยามของชาวตะวันตก ในยุคของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ สภาพสังคมก่อนการปฏิรูป สยามมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ดังนั้นการดำเนินนโยบายเพื่อการปฏิรูปประเทศจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อสยามต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่สุดต่อการปฏิรูปของสยาม ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มนำความคิดแบบตะวันตก เข้ามาปรับใช้ในสังคมสยามมากขึ้น เนื่องจากนานาประเทศในขณะนั้น ต่างมองว่าสยามยังคงมีประเพณีที่ล้าสมัย เช่น ระบบไพร่ ระบบทาส ทำให้ประชาชนขาดอิสรภาพและสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ดำเนินการปฏิรูปสังคม ด้วยการยกเลิกระบบไพร่และทาส เพื่อยกฐานะของชาวสยามให้เท่าเทียมกัน
รวมไปถึงการเปลี่ยนเครื่องแบบการแต่งกาย ให้มีความเป็นตะวันตกมากขึ้น มีการยกเลิกขนบธรรมเนียมการหมอบคลาน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นขุนนางในพระราชวังก่อน เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และเพื่อให้บุคคลเหล่านี้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังได้วางรากฐานทางด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนชาวสยามทุกชนชั้นอีกด้วย มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมากมาย เช่น โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายสิบ โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนสตรี รวมถึงริเริ่มก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรก เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศ
และพระองค์ได้ทรงนำเอาแนวทางการศึกษาแบบตะวันตก เข้ามาปรับใช้ในสยาม มีการสนับสนุนให้นักศึกษา บุคลากรภายในประเทศ เดินทางไปศึกษายังประเทศตะวันตกมากขึ้น อีกทั้งได้มีการส่งพระราชโอรสของพระองค์ไปศึกษาวิชาการทหารในยุโรป โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาระบบการทหารที่ล้าหลัง ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น มิใช่เพื่อเป็นการขยายอำนาจ หรือใช้รบเพื่อขยายอาณาเขต ดังที่หลายคนพยายามบิดเบือน
ในด้านการปรับปรุงการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มจัดการ “สุขภิบาล” ในเขตกรุงเทพฯ และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดลองให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ยังเห็นความสำคัญของระบบสภาที่ปรึกษา ซึ่งกำลังหมดบทบาทลงภายหลังจากที่เคยมีมาแล้ว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2435 พระองค์จึงได้ทรงจัดตั้ง “องคมนตรีสภา” (Privy Council) ทำหน้าที่คล้าย ๆ สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์แต่เดิมอีกด้วย ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2437 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งรัฐมนตรีสภา (Legislation council) โดยมีจุดมุ่งหมายให้ทำหน้าที่ตรากฎหมายโดยเฉพาะ
ในส่วนของการปฏิรูประบบยุติธรรมและการศาลนั้น ในปี พ.ศ. 2417 ได้มีการจัดตั้งศาลรับสั่ง ซึ่งขึ้นตรงต่อพระองค์ เพื่อพิจารณาคดีความที่อยู่ในกรมพระนครบาล มหาดไทย กลาโหม และกรมท่า เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงรวมอำนาจไปขึ้นส่วนกลาง ทำให้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่พวกขุนนางเคยได้จากศาลลดลง ปิดโอกาสการคอร์รัปชันในระบบยุติธรรม นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กระทรวงยุติธรรม” ขึ้นใน พ.ศ. 2435 อีกด้วย
ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ศาลยุติธรรม” สำหรับพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งตามแบบใหม่ขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2437 และในหัวเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2439 – 2440 โดยมอบให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงสำเร็จวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเนติบัณฑิตสภา และวางระเบียบการสอบไล่เนติบัณฑิตไทยให้เป็นระบบยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ทรงปรับปรุงระบบกระทรวงยุติธรรม การศาล และการศึกษาวิชากฎหมายให้ทันสมัย ตามแบบตะวันตกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การปฏิรูปการเมืองการปกครองในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในราชอาณาจักร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปมณฑลเทศาภิบาล โดยมีศูนย์ราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมพื้นที่ภายในพระราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหยุดยั้งการถูกรุกรานดินแดน จากมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น
จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง พระองค์ทรงพยายามปกป้องอธิปไตยของชาติทุกวิถีทาง รวมทั้งเสริมสร้างเกียรติภูมิ และความมั่นคงของประเทศ เพื่อให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ
ดังนั้น คำกล่าวหาที่ว่า การปฏิรูปประเทศของพระองค์ คือการตัวรอดของสถาบันพระมหากษัตริย์จากภัยคุกคามของชาติตะวันตกที่มีต่อราชบัลลังก์ จึงเป็นการมองจากมุมมองที่คับแคบ และเต็มไปด้วยอคติ ของผู้ที่รับแต่ข้อมูลบิดเบือนเพียงด้านเดียว
ที่มา :
[1] สกุลรัตน์ วุฒิชัย, การศึกษาเปรียบเทียบการนำเข้าความเป็นตะวันตกเข้ามาปฏิรูปประเทศระหว่างพระเจ้าปีเตอร์มหาราชของจักรวรรดิรัสเซีย (ค.ศ. 1672-1725) กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยาม (ค.ศ. 1853-1910) กรณีศึกษาด้านสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา
[2] ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย พระราชวิเทโศบายในรัชกาลที่ 5 เรื่องการรักษาเอกราชจากจักรวรรดินิยมตะวันตก
[3] วิชัย เทียนถาวร การปกครองราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคกลาง : ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453)