รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปประเทศ เพื่อชาติ มิใช่เพื่อพระองค์เอง
การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติตามความหมายแต่ดั้งเดิม แต่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาเกียรติยศและสร้างสถานะของกษัตริย์สยาม ให้อยู่เหนือกว่าบรรดาเจ้าประเทศราชทั้งหลายรวมถึงราษฎรด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงกระทำไปเพื่อพระองค์เอง
นี่คือการสรุปบรรยายของ Common School เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งผู้บรรยายพยายามโจมตีกระบวนการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ แล้วด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 5 อย่างเสียดสีด้วยใจอคติ
ด้อยค่า เสียดสี และบิดเบือน
ผู้บรรยายกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อธำรงไว้ซึ่ง “ความเป็นเอกราชของสยามให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก” ตามที่คนส่วนมากเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องของการเมืองภายใน ที่ยึดโยงกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ 3 ประการด้วยกัน คือ
- การปฏิรูปด้านต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับการรักษาเอกราชเลย การปฏิรูประบบภาษีเกิดขึ้นเพื่อเสริมความมั่งคั่งให้เจ้าในวังหลวง กองทัพสมัยใหม่ก็กระทำไปเพื่อส่งเสริมพระเกียรติยศ ไม่เกี่ยวกับภารกิจการป้องกันประเทศ ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษานั้น ทำให้ชาติเป็นปึกแผ่นจริง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องการเมืองภายใน และการเลิกไพร่ทาสก็เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเนื่องจากแรงงานรับจ้างชาวจีนอพยพมีราคาถูกกว่า อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการสุมกำลังคนของขุนนาง จนอาจเกิดการขัดขืนอำนาจท้าทายวังหลวงได้
- ผู้บรรยายระบุว่า รัชกาลที่ 5 ได้ส่งคนไปควบคุมดูแลประเทศราชเองโดยตรง และตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ไม่ใช่ “รัฐประชาชาติสมัยใหม่”
- การปฏิรูปและไขว่คว้าหาความศิวิไลซ์ของชนชั้นนำสยามนั้น ผู้บรรยายระบุว่า เป็นการกระทำเพื่อให้กษัตริย์มีสถานะเทียบเคียงกับชนชั้นนำประเทศอื่น ๆ (เช่นในยุโรป) และเพื่อให้ตนเองอยู่เหนือกว่าบรรดาเจ้าประเทศราชทั้งหลายรวมถึงราษฎรด้วย
ข้อเท็จจริงที่โต้แย้ง
ผู้บรรยายพยายามแยก “พระมหากษัตริย์” ออกจาก “พฤติกรรมของรัฐ” เพื่อโจมตีในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยตรง ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้ง 2 สิ่งนี้แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ จำต้องอธิบายควบคู่กันไปเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นรัฐมนตรีของประเทศและประมุขแห่งรัฐในตัว
อย่างไรก็ดี หัวข้อการบรรยายครั้งนี้ มีลักษณะค่อนข้างกระจัดกระจาย กล่าวคือ ผู้บรรยายได้นำหลาย ๆ ประเด็นมาแยกส่วน แล้วค่อยแสดงความเห็นครอบลงไปว่า ประเด็นเหล่านี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ “รักษาเอกราช” ของสยามเลย
ความหมายของคำว่า “เอกราช” ที่ผู้บรรยายนำเสนอนั้น เป็นความหมายเก่าในหลักวิชาการ ดังเช่น เอกราชในความหมายที่พระมหากษัตริย์สามารถทำอะไรตามพระราชหฤทัย โดยที่ไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจของกษัตริย์องค์อื่นใกล้เคียง
แต่ในความเป็นจริง เมื่อล่วงเข้าช่วงรัชกาลที่ 5 ความเป็น “เอกราช” กับ “อิสรภาพ” มีความแนบแน่นยิ่งขึ้น เพราะเป็นการแสดงออกถึง “ความเป็นชาติเอกราชที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมตะวันตก” ซึ่งปรากฏอยู่แค่ไม่กี่ชาติในเอเชียเท่านั้น พร้อม ๆ กับการมีพระมหากษัตริย์เป็นอิสระ ไม่ต้องถูกปกครองโดยชาติตะวันตก
อีกทั้งการตีความของผู้บรรยายที่ว่า เอกราชของสยาม คือการที่พระมหากษัตริย์ มีความสูงส่งเทียบเท่าเจ้าในยุโรปและสูงส่ง “กว่า” เจ้าท้องถิ่น ย่อมเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก เพราะในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงไม่มีความจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจ และความสูงส่ง เหนือเจ้าประเทศราชหรือหัวเมืองเลย เนื่องจาก “ทรงมีสถานะนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” อีกทั้งพระมหากษัตริย์สยามพระองค์ก่อน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขึ้นไป ก็มีสถานะเหนือกว่าเจ้าท้องถิ่น ซึ่งเห็นได้จากพิธีการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือการส่งบรรณาการอยู่แล้ว
ยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกว่าสยามเป็นชาติเอกราช (ตามแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่) ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ในหมู่ชนชั้นนำสยามเท่านั้น แม้แต่ชาวต่างประเทศ เช่น ดร.ฟรานซิส บี แซร์ (พระยากัลยาณไมตรี) ก็เกิดความรู้สึกว่า การที่สยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเนื่องจากสนธิสัญญาไม่เสมอภาค ที่กระทำมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 นั้น เป็นการกระทบถึง “เอกราช” และ “อิสรภาพ” ของสยาม
ดังนั้น “ความเป็นเอกราชของสยาม” จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในหมู่ชาวสยามและชาวต่างประเทศ
ในส่วนของการเลิกทาส สยามค่อย ๆ กระทำอย่างเป็นระบบและไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านใด ๆ จากทุกฝ่าย ซึ่งหมายความว่า ชนชั้นนำสยามเองก็เอือมกับระบอบทาสและไพร่เช่นเดียวกัน ดังเช่นพระราชปรารภของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงไม่ต้องการให้ “ความเป็นทาส” ตกทอดไปถึงลูกหลาน แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ทรงรับรู้ถึงความโหดร้ายของระบอบนี้ และทรงมีความรู้สึกแห่งความเห็นใจเพื่อนมนุษย์อยู่ในพระราชหฤทัย
ภาพรวมของ Common School ครั้งนี้ ผู้บรรยายพยายามแยกส่วนประเด็นการปฏิรูปต่าง ๆ ออกมาอภิปราย เพื่อด้อยค่าในแต่ละด้าน แล้วสรุปรวบยอดว่ารัชกาลที่ 5 ทรงกระทำไปเพื่อพระองค์เอง ทั้ง ๆ ที่งานวิชาการส่วนมาก ต่างอธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า การปฏิรูปของสยามในแต่ละด้านนั้น ดำเนินไปเพื่อ “พัฒนาประเทศให้ทันสมัย” แต่ผู้บรรยายกลับนำกระบวนการปฏิรูปเหล่านั้น วกกลับไปอธิบายถึง “การถูกคุกคามจากเจ้าอาณานิคม”
และการจับแต่ละประเด็นมาซอยย่อยเพื่อมุ่งโจมตี ถือเป็นการบิดเบือนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ จะมองปัจจัยที่ทำให้สยามไม่เสียเอกราชในลักษณะ “องค์รวม” มากกว่าที่จะแยกเป็นประเด็นแบบนี้
ซึ่งอันที่จริง เราไม่สามารถแยกประเด็นต่าง ๆ ออกจากกันได้ เช่น การปฏิรูปการศึกษากับการปฏิรูประบบราชการ เพราะคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาใหม่นี้ ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญในระบบราชการในเวลาต่อมา ส่วนการปฏิรูปภาษียิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็บริหารราชการไม่ได้ และการที่ภาษีถูกบริหารจัดการโดยรัฐบาลกลาง ย่อมเกิดประโยชน์กว่าการที่ต้องถูกบริหารโดยขุนนางท้องถิ่น ที่แทบไม่มีความรู้เรื่องการคลังสาธารณะเลย
ดังนั้นการพยายาม “แช่แข็ง” กระบวนการใด ๆ แล้วนำมาด้อยค่าอย่างเสียดสี โดยปิดกั้นไม่ให้ผู้ฟังเห็นภาพหรือผลที่ตามมาหลังจากนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของงานวิชาการแต่อย่างใดหากแต่เป็นสภาวะที่เต็มไปด้วย “อคติ” และ “ความสับสน” ของผู้บรรยายเองเท่านั้น
ที่มา :
[1] นายสมนึก เพ็ชรพริ้ม และคณะ, พระยากัลยาณไมตรี แปลจาก Glad Adventure (กรุงเทพ : 2505)
[2] อัญชลี สุสายัณห์, ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่ และผลกระทบต่อสังคมไทย ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊กส์, 2552)
[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 เดือนแปด แรม 5 ค่ำ ปีจอฉศก แผ่นที่ 12 จ.ศ.1236
[4] หจช. ร.5 ม.49/74 เรื่องผลประโยชน์ รายได้ รายจ่ายของแต่ละเมือง ร.ศ. 119 รายงานพระยาศรีสหเทพถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ 10 ตุลาคม ร.ศ.119
[5] กรมศิลปากร, ความสัมพันธ์ระหว่างเคดาห์และสยาม ในช่วง พ.ศ.2364-2444 โดย Sharom Armat ใน เมืองประเทศราชของสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพ:2528)