รัชกาลที่ 5 กับความเหนือชั้นทางการทูต นำสยามรอดพ้นวิกฤต สู่ความเป็นเอกราช
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่ราชอาณาจักรสยามต้องเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนัก จากการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจจากยุโรป นั่นก็คืออังกฤษและฝรั่งเศส ที่เข้ายึดประเทศเพื่อนบ้านไปโดยรอบ
โดยอังกฤษได้รุกรานเข้ามาทางอินเดียและพม่า รวมถึงทางตอนใต้คือมลายูเข้าสู่ใจกลางสยาม ส่วนฝรั่งเศสถึงกับตั้ง “พรรคอาณานิคม” มีนโยบายสนับสนุนการล่าเมืองขึ้น และจ้องมาที่ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ทางฝั่งอินโดจีน จากนั้นก็ใช้เล่ห์เพทุบายและกำลังอาวุธเชือดเฉือนดินแดนเข้ามา ซึ่งสยามทำได้แค่ยอมสละดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่เอาไว้
เหตุการณ์ที่สะเทือนพระราชหฤทัยในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก คือเหตุการณ์ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 หรือ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำฝ่าแนวป้องกันของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ แล้วขู่ว่าจะจมเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และจะระดมยิงพระบรมมหาราชวัง หากไทยไม่ยอมเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร รวมถึงจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝรั่งเศส เป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์ อีกทั้งยังยึดเมืองจันทบุรีและตราดไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะทำตามเงื่อนไขได้ทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งโดยวิธีทางการทูต การทหาร และการแสวงหาความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่นอย่างอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ เลย อังกฤษเพียงแต่บอกว่า ให้สยามยอมตามฝรั่งเศสไปเพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ของตน
การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง ถึงกับทรงประชวรและไม่ยอมเสวยพระโอสถ
ในที่สุดก็ทรงตระหนักว่า การยอมเสียดินแดนเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะนักล่าอาณานิคมจะย่ามใจเรียกร้องเอาไม่สิ้นสุด ด้วยการอ้างว่าสยามเป็นประเทศล้าหลัง ชาติที่เจริญกว่าจึงต้องเข้ามาช่วยพัฒนาให้เจริญเท่าเทียมกัน
ดังนั้น การจะปกป้องตัวเองจากข้ออ้างของหมาป่านักล่าอาณานิคมได้ สยามจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความเจริญทัดเทียมกับชาติในยุโรป ไม่ต้องให้มีใครมาช่วยพัฒนา ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงดำเนินการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบราชการ มีการพัฒนาบ้านเมืองในแนวทางของยุโรปอย่างรวดเร็ว ทรงจ้างฝรั่งเข้ามารับราชการ รวมถึงส่งคนไทยไปศึกษาในยุโรปเป็นจำนวนมาก
และสิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องทำให้นานาประเทศรับรู้และประจักษ์ว่า สยามไม่ใช่ประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างที่นักล่าอาณานิคมประโคมข่าว
หลังจากทรงได้ไตร่ตรองแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างถ้วนถี่ กับบรรดาข้าราชบริพารแล้วนั้น การดำเนินการทางการทูตครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยการ “เสด็จประพาสยุโรป” ก็เริ่มต้นขึ้น
วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 การเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป เริ่มขึ้นโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีเป้าหมายที่จะเยือน 12 ประเทศ คือ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย สวีเดน เดนมาร์ค อังกฤษ เบลเยี่ยม เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน มีกำหนดเวลาประมาณ 9 เดือน
ประเทศที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมุ่งหวังมากที่สุดคือ รัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์มา 3 ปีแล้ว โดยพระเจ้าซาร์เคยมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับพระองค์มาก่อน เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนสยามในปี พ.ศ. 2436 ขณะที่ยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร และในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียประทับพระราชหฤทัยมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถไฟจากกรุงเบอร์ลินถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 21.30 น. พระเจ้าซาร์เสด็จฯ มารับที่สถานีรถไฟ ทั้งสองพระองค์ประทับรถพระที่นั่งไปสู่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟซึ่งจัดเป็นที่ประทับ และในการเสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกันในวันที่ 4 กรกฎาคม ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงถือโอกาสปรับทุกข์ถึงการรุกรานของมหาอำนาจจากยุโรป
ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าซาร์จึงจัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซีย นำภาพที่คิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรปทุกฉบับ ทั้งยังทรงเขียนคำอธิบายภาพด้วยพระองค์เองว่า
“สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดครองมิได้”
ภาพนี้กลายเป็นภาพที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ช่วยให้สยามเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้ชาวยุโรปใคร่จะได้เห็นพระองค์จริงของ “คิงจุฬาลงกรณ์แห่งสยาม” การเสด็จพระราชดำเนินประเทศในยุโรปในช่วงต่อจากนั้น จึงมีผู้เฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น
จากผลสำเร็จในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้น และการดำเนินนโยบาย “เป็นมิตรรอบทิศทาง” กับบรรดาชาติมหาอำนาจที่กำลังมีบทบาทในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย เยอรมนี และญี่ปุ่น รวมไปถึงการเร่งพัฒนาปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสยอมหยุดยั้งพฤติกรรมรุกรานดินแดน และเริ่มเกิดความเกรงใจสยามมากขึ้น
นับเป็นความสำเร็จทางการทูตอย่างงดงาม และเป็นการตัดสินพระราชหฤทัยที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ที่ทำให้สยามเป็นที่รู้จักของชาวยุโรป เมื่อบวกรวมเข้ากับการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้านของพระองค์ สยามจึงพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ รอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคม และมีเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง