ระบอบไหนก็เรืองรอง แค่ปกครองด้วย ‘ศีลธรรม’ เปิดแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของนักคิดนามว่า ‘พุทธทาสภิกขุ’ ผู้นิยามหลักธรรม ‘ธัมมิกสังคมนิยม’ ที่หาผู้โต้เถียงได้ยาก
เศรษฐศาสตร์การเมือง คือศาสตร์ที่ศึกษาว่าการเมืองส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร และเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจะมีผลย้อนกลับมากระทบต่อการเมืองเช่นไร [1] ตัวอย่างของนักคิดที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เราคุ้นเคยนั้น อาทิเช่น คาร์ล มาร์กซ์ ที่ได้เขียนหนังสือเรื่อง Das Kapital (ว่าด้วยทุน) ขึ้น เพื่อศึกษาระบอบทุนนิยมออกมาเป็นระบบอย่างชัดเจน
ในปัจจุบันเศรษฐศาสตร์การเมืองได้แตกออกเป็นหลายสาขา และหลายสำนัก [2] แต่ทั้งนี้เศรษฐศาสตร์การเมืองต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างไร และหากจะแก้ไขควรจะเป็นอย่างไร
การศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองจึงเปี่ยมไปด้วยความรู้จากหลายสาย เช่น นิเวศวิทยา หรือกระทั่งจิตวิทยา เพราะหลายๆ ศาสตร์ได้เติมให้ตัวมันเองมีความสมบูรณ์มากขึ้น เศรษฐศาสตร์การเมืองจึงเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่เปิดรับต่อการรับความรู้จากศาสตร์อื่นๆ เข้ามาร่วมวิเคราะห์ในตัวมันเอง
ในไทยเองก็ได้มีนักวิชาการหลากหลายท่านที่พยายามใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาของประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้แสดงพลังทางปัญญาออกมานั่นคือ ท่านพุทธทาส ที่ท่านได้กลับไปพลิกความหมายและญาณวิทยาของพระพุทธศาสนาให้เข้าร่วมในการช่วยเหลือมนุษย์ผ่านกฎแห่งธรรม
การตีความศาสนาเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น ได้เกิดขึ้นมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในศาสนาคริสต์ที่ได้ถูกพลิก ถูกอ่าน ถูกแจงความหมายใหม่ออกมาเพื่อหาคำตอบของการสร้างสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยมีพระผู้เป็นเจ้าเป็นแรงบันดาล [3] ซึ่งในบางครั้งมักจะมีผู้กล่าวว่า ศาสนาคริสต์ทำแบบนี้ได้เพราะมีหลักคิดในเรื่องความเสมอภาคต่อหน้าพระเจ้า ส่วนศาสนาพุทธเถรวาทนั้นทำไม่ได้เพราะจัดเรียงลำดับผู้คนเป็นชั้นๆ และไม่มีความเป็นพหุนิยม ซึ่งทัศนะเช่นนี้นักวิชาการในปัจจุบันได้ปฏิเสธไปแล้ว [4] นั่นหมายความว่า ทุกศาสนามีเป้าหมายทำให้คนเป็นคนเหมือนกัน และต่างมีศักยภาพเช่นเดียวกันในการทำให้คนเป็นคน หาใช่จำกัดอยู่เฉพาะศาสนาหรือกลุ่มวัฒนธรรม
ท่านพุทธทาสคือหนึ่งในตัวอย่างปัญญาชนที่ได้กลับไปพลิกพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ให้เข้ากับโลกปัจจุบัน [5] โดยท่านได้พิจารณาพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง โดยมองว่าคำสอนใดเป็นไปเพื่อดับทุกข์ คำสอนนั้นคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนนอกนั้นท่านเห็นว่าแต่งใหม่ทั้งสิ้น วิธีในการดำเนินการตรวจสอบของท่านทำให้ท่านได้เสนอว่าความทุกข์ที่เกิดไม่จำเป็นต้องเกิดจากกรรมเก่าเสมอไป เพราะพุทธดั้งเดิมสอนว่า ความทุกข์ของคนเราเกิดจากภาวะที่คนสร้างขึ้นเอง และกำจัดไปด้วยการปฏิบัติจิตภาวนา ดังนั้น ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเอาเปรียบทางสังคมนั้น มีที่มาจากภายนอกของเราแต่ละคน และกำจัดได้ด้วยการที่สังคมประพฤติถูกต้องตามหลักศาสนา
ดังนั้น เพื่อให้เข้าสู่การพ้นทุกข์จึงต้องไม่เพียงแค่รักษาศีลหรือฝึกสมาธิเท่านั้น แต่หลักคำสอนนั้นจะต้องคลุมไปถึงการสร้างสวัสดิภาพทางสังคมอีกด้วย ทัศนะของท่านพุทธทาสจึงแตกต่างจากหลายคนหลายกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาพอสมควร โดยท่านพุทธทาสมองว่า เป้าหมายทางการเมืองคือประโยชน์สุขของสังคมการเมืองที่มีธรรมะหรือตรงตามเจตจำนงของกฎธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการช่วยมนุษย์ผ่าน “กฎแห่งธรรม” ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งนั่นทำให้ท่านได้เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าระบอบการปกครองใดๆ ก็ตามหากไม่มีธรรมก็ไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ได้ ท่านจึงไม่ได้สนใจระบอบการปกครองว่าระบอบนั้นจะปกครองด้วยวิธีการใด เพราะหลักประกันเดียวที่จะทำให้การปกครองนั้นสำเร็จได้อย่างแท้จริงจะต้องมีหลักธรรมอันเป็นหลักประกันเดียวเท่านั้น
คำถามก็คือว่าหลักธรรมที่ท่านหมายถึงนี้คืออะไรกันแน่ ท่านพุทธทาสมองว่า “สังคมนิยม” เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติที่ทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นสมดุล คือมีการผลิตและบริโภคตามความจำเป็นโดยไม่มีการกักตุนไว้เกินเพื่อตนเอง ท่านได้เชื่อมโยงเข้ากับหลักการในทางพุทธว่า ศาสนาพุทธถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันในแง่ที่ว่าทุกคนตกอยู่ใต้อำนาจกฎธรรมชาติเดียวกันคือจะต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย ภายใต้ความเสมอภาคนี้จึงอาจหมายถึงความเสมอภาคในการมีความสุขสมบูรณ์ด้วย ดังนั้นผู้ปกครองหรือนักการเมืองจะต้องมีธรรมะทำให้แก้ไขบ้านเมืองได้ หรือหลักการ “ธัมมิกสังคมนิยม”
ธัมมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาส คือการที่ไม่มีการกอบโกยอย่างไร้ประโยชน์ โดยต้องใช้ส่วนเกินนั้นเพื่อประโยชน์ของสังคม ท่านเห็นว่าการไม่เอาส่วนเกินคือกฎธรรมชาติ โดยเทียบกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายว่าไม่มีธรรมชาติที่เอาส่วนเกินเลย หากเราทำตามนี้ทุกคนก็จะไม่ขาดแคลน ปัญหาความทุกข์ของโลกนั้นจึงมาจากการมีส่วนเกินที่ไม่เป็นประโยชน์ ท่านมองว่าธรรมะคือธรรมชาติ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นสิ่งเดียวกับธรรมะและศีลธรรม การเมือง-ธรรมะ-ศีลธรรม จึงแยกกันไม่ออก ดังนั้นหากมีรากฐานที่ถูกต้องก็จะช่วยมนุษย์ได้นั่นเอง
แนวคิดของท่านได้ถูกต่อยอดออกไป เช่น ธัมมิกเศรษฐศาสตร์ของปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ว่าสังคมสงฆ์คือตัวอย่างของธัมมิกสังคมนิยม และเขายังอธิบายลึกลงไปถึงธรรมชาติของสังคมเพิ่มเติมด้วย แต่โดยรวมแล้วแนวคิดของท่านพุทธทาสนั้นก็คือว่าเศรษฐกิจและการเมืองจะขาดศีลธรรมไม่ได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ท่านวิจารณ์มากที่สุดคือหากปล่อยให้มนุษย์มีกิเลสมากตามหลักเสรีภาพก็จะทำให้มนุษย์ห่างไกลศีลธรรม ท่านจึงมองว่าเสรีภาพและศีลธรรมนั้นเป็นคนละประเด็น หรือประเด็นทางคติศาสนาที่ส่วนเกินนั้นได้เอื้อให้มีการกระจายไปในชุมชนโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน โดยส่วนเกินนี้ทำให้เกิดศาลา โรงเรียน ฯลฯ
การที่ระบบกลไกทุนนิยมแบบกอบโกยส่วนเกินนั้นสำเร็จได้ก็เพราะมันได้รับการนำไปรวมอยู่ในกลไกรัฐ ในแง่นี้แล้วหลักศีลธรรมในทางการเมืองและเศรษฐกิจก็สามารถเป็นไปได้หากรัฐนำหลักการของพุทธศาสนาเข้าไปผนวกรวมด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีความเมตตาต่อกัน และทุกคนจะไม่ขาดแคลน และการมีเมตตาต่อกันนี้เองคือสิ่งที่ศาสนาพุทธได้พร่ำสอนมาเสมอ การกระจายทรัพยากรนั้นจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สังคมพ้นทุกข์ได้โดยมีความเท่าเทียมกันผ่านหลักการของพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสยืนยันว่าหลักการของท่านทั้งในการกรองและตีความพุทธศาสนานั้นทำด้วยความสำนึกและความรับผิดชอบในนาม “ทาสของพระพุทธเจ้า” ที่เดินตามช่องทางที่พระพุทธองค์ได้เปิดทางไว้ให้ ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายคนไม่เห็นด้วยแต่ก็หาเหตุผลมาโต้แย้งวิธีการและกระบวนการของท่านได้ยาก เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าท่านละเมิดพุทธบัญญัติข้อใดและอย่างไร
สิ่งนี้จึงน่าจะพิสูจน์ได้ว่า ท่านได้เดินตามรอยพระพุทธองค์เพื่อสุขแห่งมหาชนอย่างแท้จริง
อ้างอิง :
[1] Jeffry Frieden, “The Political Economy of Economic Policy”.
[2] ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และคณะ, “เศรษฐศาสตร์การเมืองคืออะไร?,” Journal of Social Science and Buddhistic Anthropology Vol.7 No.6 (June 2022): 33-54.
[3] Anthony Michael C. Waterman, Revolution, Economics and Religion: Christian Political Economy, 1798-1833 (New York: Cambridge, 1991).
[4] เฉลิมวุฒิ วิจิตร, ตามรอยพหุนิยมในพุทธศาสนา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2565).
[5] เรียบเรียงจาก เด่นพงษ์ แสนคำ, “พุทธศาสนากับมโนทัศน์ทางการเมืองสมัยใหม่: อิทธิพลแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของพุทธทาสภิกขุ,” วารสารสังคมศาสตร์ นิติรัฐศาสตร์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (2561): 153-176.