รวมเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมาทางกระทรวงธรรมการ ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ขอสงวนธรรมเนียมการพระราชทานปริญญาบัตรนี้ไว้ และถือว่าการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการหน้าที่นั่ง หากเสด็จไม่ได้ก็จะเป็นการถวายปฏิญญาต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และรับพระราชทานปริญญาบัตรจากผู้แทนพระองค์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงทราบก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูล
นับแต่นั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
วันนี้ ฤๅ จึงอยากนำเสนอเรื่องราวน่าประทับใจ อันเกี่ยวเนื่องกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตของบัณฑิตทุกคน ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนคนไทยอีกด้วย
เรื่องแรกเป็นเรื่องราวของ มัยมูน-สะมะนี นิสิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่พลาดโอกาสเข้ารับปริญญาบัตรกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งปีนั้นเป็นปีสุดท้ายที่พระองค์จะเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรให้กับเหล่านิสิตด้วย
ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ มัยมูน-สะมะนี เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เพราะเธอใส่ ฮิญาบ
เหตุผลของทางมหาวิทยาลัยมีเพียงสั้นๆ ว่า การสวมผ้าคลุมฮิญาบของเธอ ผิดระเบียบการแต่งกายชุดครุย และเมื่อถึงวันรับจริง เธอจึงทำได้เพียงถ่ายรูปร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในช่วงเช้า และนั่งมองบัณฑิตคนอื่นๆ เข้าหอประชุมเพื่อเข้ารับพระราชทานโอวาท ผ่านกล้องวงจรปิดด้วยน้ำตานองหน้า เพราะการได้มีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรจากในหลวง ถือเป็นความฝันครั้งหนึ่งในชีวิตของ มัยมูน-สะมะนี
ต่อมาด้วยความอัดอั้นปนกับน้อยใจทางมหาวิทยาลัย มัยมูน-สะมะนี จึงตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่ง ถวายฎีกาไปถึงในหลวง ขอพระราชทานอนุญาตให้ผู้หญิงมุสลิมสามารถแต่งกายและปฎิบัติตามความเชื่อของศาสนาที่ตนนับถือ โดยเนื้อหาในจดหมายได้เขียนเล่าประวัติของเธอพร้อมอธิบายว่า ฮิญาบคืออะไร และแนบจดหมายจากมหาลัยที่ชี้แจงว่า การสวมฮิญาบผิดระเบียบชุดครุย รวมถึงแนบภาพถ่ายบัณฑิตของมหาลัยต่างๆ ที่ถ่ายรูปรับพระราชทานปริญญาบัตรพร้อม ฮิญาบ
มัยมูน-สะมะนี หวังเพียงอยากให้พระองค์ท่านได้รับรู้ว่า คนคลุมฮิญาบก็คือคนไทยและเป็นพสกนิกรของท่าน ที่รักและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะเป็นบัณฑิตที่ดี ซื่อสัตย์ และสร้างความดีงามให้แก่แผ่นดินนี้ โดยไม่เคยคิดจะสร้างความเสียหายใดๆ ซึ่งตอนที่ส่งนั้น เธอก็ไม่แน่ใจนักว่าจดหมายของเธอจะถึงพระองค์ท่านหรือไม่
กระทั่งหนึ่งปีผ่านไป เมื่อมัยมูน-สะมะนี กลับไปแสดงความยินดีกับน้องๆ ที่สำเร็จการศึกษา โดยได้ลืมเรื่องจดหมายฉบับนั้นไปเสียสนิท
ปรากฏว่า น้องๆ บัณฑิตได้รับแจ้งว่า สมเด็จพระเทพฯ ได้รับสั่งแก่ทางสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยพระราชทานอนุญาตให้บัณฑิตที่คลุมฮิญาบสามารถเข้ารับพระราชทานปริญญาได้เหมือนที่อื่นๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงคำนึงถึงและดูแลพสกนิกรของท่านเสมอมา รวมทั้งไม่เคยปิดกั้น และทรงให้ความสำคัญกับทุกๆ ศาสนาในประเทศไทย ดังกรณีจดหมายถวายฎีกาของ มัยมูน-สะมะนี
เรื่องราวต่อไปเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2565 ที่ กศน. อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งได้มีการจัดสอบปลายภาคขึ้นที่สนามสอบโรงเรียนบ้านปะเหลียน โดยทาง กศน. ไม่ได้กำหนดว่าผู้เข้าสอบจะต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษา เพียงแต่ได้มีการตกลงกันระหว่างครูกับนักศึกษาว่า ให้แต่งกายตามความเหมาะสมกับสถานที่และโอกาส
ปรากฎว่า มีนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ 3 คน เข้าสอบด้วยชุดนักศึกษาเรียบร้อย โดยสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กระโปรงยาวสีดำ รัดเข็มขัด สวมรองเท้าคัทชู และรองเท้าผ้าใบ
ครูศูนย์การเรียนชุมชน ได้เล่าให้ฟังว่า ได้เคยเดินทางไปที่กลุ่มชาติพันธุ์ ตระกูลศรีปะเหลียน เพื่อสอนหนังสือและสำรวจความต้องการทางด้านการเรียน จนได้พบว่า สามสาวกลุ่มชาติพันธุ์เรียนจบชั้นประถมศึกษา และไม่ได้เรียนต่อ ทางคุณครูจึงได้พูดคุยและแนะนำเรื่องการเรียนต่อ ซึ่งทั้งสามคนสนใจ เลยตัดสินใจมาเรียนที่ กศน.
นักเรียนหญิงทั้งสามคน ได้มุ่งมั่นตั้งใจเรียน เข้าเรียนทุกสัปดาห์ไม่เคยขาด รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และยังเป็นที่รักของเพื่อนๆ อีกด้วย ส่วนการทดสอบด้านการอ่านและเขียนนั้น ทั้งสามคนก็ทำได้ดี เพราะมีพื้นฐานจากการเรียนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมาก่อน
จากการสอบถาม น.ส.เสาวลักษณ์ ปักษี 1 ใน 3 กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ เธอได้เล่าให้ฟังว่า พวกเธอทั้งสามคนต้องการที่จะเรียนต่อเพื่อจะได้มีความรู้ และได้เจอเพื่อนๆ รวมถึงอยากจะเรียนต่อให้จบปริญญาตรี เพื่อที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยก่อนหน้านี้ น.ส.เสาวลักษณ์ เคยรอรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาก่อน ซึ่งสร้างความดีใจและเป็นความทรงจำที่มีค่าให้กับเธออย่างมาก
เรื่องราวของ น.ส.เสาวลักษณ์ และเพื่อนๆ แสดงให้เห็นถึงความรักความผูกพันที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน จากการดำเนินการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณและเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ช่วยส่งเสริมภาครัฐด้วยการอุปถัมภ์สนับสนุนการศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของ บัณฑิตชุดสุดท้ายที่ได้รับปริญญาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นบัณฑิตระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนี้ต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ซึ่งเคยมีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงลดการเสด็จฯ แต่ท่านมีพระราชกระแสตอบว่า “เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีนั้น แต่ผู้ที่ได้รับนั้นมีความสุขเป็นปีๆ เปรียบกันไม่ได้เลย” นอกจากนี้ยังรับสั่งด้วยว่า “จะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีไปจนกว่าจะไม่มีแรง”
จนต่อมาเมื่อพระชนมายุมากขึ้นประกอบกับทรงพระประชวร จึงต้องยุติพระราชกรณียกิจลง โดยพระองค์เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองให้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 โดยบัณฑิตคนสุดท้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และถือเป็นบัณฑิตคนสุดท้ายของประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ นายเอกอนันต์ ยาโน บัณฑิตระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ
และในวันนั้นพระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทความตอนหนึ่งว่า …
“คนเราถึงจะมีความรู้ความคิดสักเพียงใด ถ้าไม่ลงมือทำ ก็มีแต่พาตัวให้ฟุ้งเฟื่องไปต่างๆ โดยปราศจากประโยชน์และความสำเร็จ เมื่อลงมือทำ ประโยชน์และความสำเร็จจึงจะมีเกิดขึ้น”
ตลอดระยะเวลายาวนานในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์ ล้วนเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้ประจักษ์ถึงการลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทพระวรกาย จนเกิดเป็นผลสำเร็จ นั่นคือความอยู่ดีกินดีและความสุขของพสกนิกรชาวไทย ดังเช่นพระบรมราโชวาทข้างต้นของพระองค์นั่นเอง
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันน่าประทับใจ เกี่ยวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นพิธีที่ไม่มีข้อบังคับไว้ในกฎหมายว่าต้องเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ แต่ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านทรงยินดีตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญจากสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดมา เพราะท่านทรงถือว่า เป็นความภาคภูมิใจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการวางรากฐานด้านการศึกษาของคนไทยมาช้านาน และการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ยังถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญเพื่อแสดงความยินดีกับบัณฑิตทุกคนที่พากเพียรจนสำเร็จการศึกษา รวมถึงเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกด้วย