‘รัฐสวัสดิการ’ ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ย้อนวิกฤตและความท้าทายของเดนมาร์ก กว่าจะมาเป็นรัฐสวัสดิการอันดับต้นของโลก
เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย และได้ชื่อว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐสวัสดิการอันดับต้นของโลก ความสำเร็จของเดนมาร์กนั้นจึงเป็นที่น่าชื่นชมและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความที่เดนมาร์กประสบความสำเร็จเช่นนี้ จึงทำให้หลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศเจริญแล้วหรือกำลังจะเจริญนั้นได้กล่าวถึงว่า อาจมีบางแง่มุมที่ประเทศของตนจะสามารถเป็นหรือมีสวัสดิการเฉกเช่นเดนมาร์กได้
อย่างไรก็ดี เดนมาร์กเองก็ต้องพบกับความท้าทายและการปรับตัวอย่างหนักในรัฐสวัสดิการของตนเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคประชาธิปไตยและยุคโลกาภิวัตน์นี้
Jørn Henrik Petersen นักวิชาการจากเดนมาร์กได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ถึงสวัสดิการของเดนมาร์กว่า “ค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ … จากประชากรที่กำลังมีอายุมากขึ้น ดังนั้นการป้องกันค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ รัฐบาลได้ทยอยปรับทีละเล็กทีละน้อยในประเด็นสวัสดิการตลอดหลายปีมานี้” [1] แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงความท้าทายนั้น เห็นทีเราจะต้องย้อนกลับไปดูถึงพัฒนาการทั้งหมดในภาพรวม ก่อนที่จะมาพบเจอกับความท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน
ก่อกำเนิดของรัฐสวัสดิการเดนมาร์ก [2] เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1783 ที่พยายามจะทำให้คนจนลดลงเหลือน้อยที่สุด (จะเห็นได้ว่ารัฐสวัสดิการเดนมาร์กต้องใช้เวลาพัฒนานับร้อยปี) จากความต้องการนี้ทำให้รัฐบาลได้ออกนโยบายหลายประการขึ้น โดยเฉพาะการออกกฎหมายคนจน โดยแยกเป็นคนจนที่ควรช่วยเหลือกับคนจนที่ไม่ควรช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ต่อมากฎหมายนี้ได้ถูกโจมตีว่าทำให้คนจนไม่ยอมทำงาน ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 1804 ซึ่งมีผลให้เศรษฐกิจเดนมาร์กได้รับผลกระทบสูงมาก ทำให้กระแสเสรีนิยมมีชีวิตขึ้นและกลับมาทำให้เดนมาร์กต้องดำเนินนโยบายแบบรอมชอมมากขึ้น โดยมีหลักเรื่องผู้ที่ลงแรงมีสิทธิมากกว่าผู้ไม่ทำอะไรเลย
จุดนี้เองอาจกล่าวได้ว่า เราจะเห็นการเริ่มต้นวัฏจักรของการสลับพลังทางนโยบายเศรษฐกิจเหมือนลูกตุ้มที่แกว่งไปมาระหว่างเสรีนิยมกับสวัสดิการหรือสังคมนิยม เพราะต่อมาเมื่อเดนมาร์กเข้าสู่ช่วง ค.ศ. 1850 พวกเขาได้ปรับไปสู่สังคมอุตสาหกรรมและการทำปศุสัตว์จนเดนมาร์กมีชื่อเสียงเรื่องเนื้อวัวและนม การปรับเข้าสู่อุตสาหกรรมทำให้เดนมาร์กต้องการแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเดนมาร์กนั้นได้เปิดรับและทำให้มีพรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานเกิดขึ้นด้วย ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเสรีนิยมของรัฐบาลในขณะนั้นและสังคมนิยมที่พรรคการเมืองเหล่านี้ผลักดัน
การผลักดันเหล่านี้ได้รับความสำเร็จทำให้สวัสดิการเดนมาร์กครอบคลุมและกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้ว่าในช่วง ค.ศ. 1930 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก เดนมาร์กจะไม่ประสบความสั่นคลอนใดๆ ในด้านสวัสดิการ แต่เมื่อ ค.ศ. 1970 ได้เกิดวิกฤตในประเทศและทำให้รัฐบาลชะลอกฎหมายสวัสดิการหลายด้าน ช่วงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่กระแสเสรีนิยมได้กลับเข้ามาอีกครั้ง
ในช่วง ค.ศ. 1990 กองทุนสวัสดิการของเดนมาร์กได้เริ่มมีการบริหารแบบเอกขนมากขึ้น และลดบทบาทของรัฐในการแทรกแซงเศรษฐกิจลง แต่อย่างไรก็ตามสวัสดิการของเดนมาร์กก็ยังคงเปิดกว้างโดยทั่วไป และเปิดกว้างสำหรับคนอพยพด้วย และการเปิดกว้างนี้ทำให้ต้องใช้งบอย่างมหาศาลมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ทำให้เดนมาร์กมีงบประมาณขาดดุลและเกินดุลอย่างครึ่งต่อครึ่งในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมาสลับกัน (บางปีเกินดุล อีกปีถัดมาสลับไปขาดดุล) [3]
ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 2008 ครั้งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เดนมาร์กได้ลดขนาดสวัสดิการลงอีกครั้ง ดังนั้นเดนมาร์กจึงได้ถูกท้าทายมาโดยตลอดและมีการปรับสวัสดิการมาเสมอ รัฐสวัสดิการของเดนมาร์กจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐสวัสดิการแบบคู่ขนานที่ผสมกันทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยม แต่การถูกท้าทายโดยวิกฤตมาทุกครั้งและแม้รัฐสวัสดิการจะไม่ถึงกับล่มสลายก็ได้ทำให้รัฐบาลได้เห็นจุดอ่อนของความเป็นรัฐสวัสดิการของตนมากขึ้นเช่นกัน
การได้รับผลกระทบทำให้รัฐบาลเดนมาร์กในยุคสมัยใหม่นี้มีทางเลือกอยู่สองประการ อย่างแรกคือขึ้นภาษีไปอีกเพื่อรักษาคุณภาพรัฐสวัสดิการเอาไว้ กับอย่างที่สองเก็บภาษีเท่าเดิมแต่ลดคุณภาพลง มีรัฐบาลของนายรามูเซน ได้เลือกทางเลือกที่สองซึ่งทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาของคนเดนมาร์ก และส่งผลต่อการเลือกตั้งของเขา ในช่วงนี้การก่อตัวของกระแสต่อต้านเสรีนิยมได้กลับมาอีกครั้ง
ดังนั้น แนวคิดรัฐสวัสดิการของเดนมาร์กจึงได้ฝังรากลึกนับร้อยปีจนยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ (ไม่ว่ารัฐบาลจะมีความสามารถแค่ไหนก็ตาม) รัฐบาลเดนมาร์กจึงต้องพยายามหาทางอื่นๆ ในการคงนโยบายสวัสดิการเอาไว้ มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งทำให้พ่ายแพ้ได้ เนื่องจากคนเดนมาร์กได้มองว่ารัฐสวัสดิการเป็นความภาคภูมิใจของชาติและเป็นอัตลักษณ์ของชาติไปแล้วนั่นเอง ทำให้อัตลักษณ์นี้เป็นตัวกำหนดรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไปว่า จะต้องคงสวัสดิการเอาไว้ให้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี คนเดนมาร์กบางส่วนนั้นมีความเห็นว่า รัฐสวัสดิการทำให้คนไม่ต้องดิ้นรนหางานทำ และการเสียภาษีมากนั้นทำให้เกิดสภาวะสมองไหล เงินออมในครอบครัวลดลงเพราะไม่มีความจำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้ เพราะหากหาได้มากก็ยิ่งจ่ายมาก การผลักดันนโยบายสวัสดิการมานับร้อยปีได้ทำให้ความคิดความอ่านของชาวเดนมาร์กมีปฏิกิริยาในทางลบหากจะมีการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิก ทำให้มองเห็นถึงความน่ากลัวของนโยบายรัฐสวัสดิการที่มีผลในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์
ดังนั้นแล้ว รัฐสวัสดิการที่เป็นความภูมิใจของชาวเดนมาร์ก ก็ยังประสบปัญหาเรื่องสวัสดิการว่าจะมีให้คนที่อพยพเข้ามามากน้อยแค่ไหน หรือกระทั่งกลุ่มขวาจัดที่เกิดขึ้นในเดนมาร์กเองก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอัตลักษณ์ของคนเดนมาร์กอยู่ด้วย
ความจริงแล้วนโยบายรัฐสวัสดิการที่ดูเข้มแข็งของเดนมาร์กนั้น อาจกลายเป็นโครงสร้างที่อ่อนแอเสียเอง เพราะยึดติดและผูกพันอยู่กับสวัสดิการอย่างสูงจนไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เดนมาร์กจึงต้องเค้นพยายามหาทางทำให้สวัสดิการของตนดำรงอยู่ต่อไปได้ ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 117% ของ GDP
อ้างอิง :
[1] Jørn Henrik Petersen, Challenges Facing the Danish Welfare State in Welfare States and the Future (New York: Palgrave Macmillan, 2005), p. 179.
[2] สรุปข้อมูลจาก ติรัส ตฤณเตชะ, “นโยบายรัฐสวัสดิการเดนมาร์ก ความท้าทายภายใต้ความผันผวน ในกระแสโลกาภิวัตน์,” วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 42 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2555 หน้า 109-127.
[3] รายงาน Denmark Government budget deficit.