ย้อนรอยมรดกเลือด ปฏิบัติการคอนดอร์ ภารกิจปราบคอมมิวนิสต์สุดเหี้ยมของสหรัฐอเมริกาที่ ‘เน้นผลไม่สนวิธี’

ปฏิบัติการคอนดอร์ (Operation Condor) เป็นปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภูมิภาคอเมริกาใต้ในลักษณะของการสนับสนุนการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผลในช่วงสงครามเย็นจนถึงยุค 1990 ที่สงครามเย็นเริ่มยุติลง โดยเป็นการสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่มีความเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาและต่อต้านแนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์

ซึ่งการสนับสนุนที่ว่านี้ มีทั้งการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวกรองระหว่างประเทศ การใช้โฆษณาชวนเชื่อในการสนับสนุนรัฐบาลในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาและต่อต้านกลุ่มมวลชนการเมืองที่เป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลดังกล่าว ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้ใส่ใจมากนักว่า รัฐบาลเหล่านี้จะเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ใส่ใจเพียงแค่ว่า สามารถต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แค่ไหนและสามารถตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการรักษาเขตอิทธิพลในพื้นที่อเมริกาใต้ได้มากเพียงใด

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการสนับสนุนการรัฐประหารในบรรดาประเทศภูมิภาคอเมริกาใต้ที่อาจมีนโยบายไม่เป็นมิตรต่อสหรัฐอเมริกา การสนับสนุนการก่อการร้ายโดยรัฐของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคซึ่งเป็นการกดขี่กลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐบาลอย่างรุนแรง ทั้งการลอบสังหาร การทรมาน และการกักขัง โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแพร่ขยายอิทธิพลและเข้ามามีบทบาททางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นร้ายแรงระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่คิวบาได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างรุนแรง จากที่คิวบาอยู่ไม่ไกลมากนักจากแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและอยู่ในเขตอิทธิพลหลักของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งพฤติกรรมของคิวบาในขณะนั้นที่ต้องการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปทั่วภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จึงเป็นเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาได้เริ่มปฏิบัติการที่จะยุติการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้รักษาเขตอิทธิพลให้สะอาดจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งจะมีผลจนถึงช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ได้เกิดขึ้นในช่วงต้นยุคสงครามเย็นที่กระแสแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ได้แพร่ขยายเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งภูมิภาคอเมริกาใต้ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ประกอบกับแนวทางการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอเมริกาใต้ในช่วงนี้ เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะสั้นผ่านนโยบายประชานิยมต่าง ๆ การลงทุนขนาดใหญ่โดยรัฐ รวมทั้งการแทรกแซงภาคเอกชนจากภาครัฐ เช่น การยึดกิจการเอกขนเป็นของรัฐ การเพิ่มอัตราค่าแรงแบบก้าวกระโดด การยกระดับสิทธิแรงงานในประเทศ ฯลฯ

จากจุดนี้ทำให้ภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาที่มีการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคอเมริกาใต้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยตรง เพราะก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาจะมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงมากในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้และสามารถเข้าถึงวัตถุดิบได้ในราคาต่ำ นอกจากนี้ภาคเอกชนเองก็ต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้นจากนโยบายประชานิยมของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้

ยิ่งกว่านั้นคือ สหรัฐอเมริกาเริ่มกังวลถึงภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เริ่มมีอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาและตระหนักได้ว่า หากมีประเทศใดที่เป็นคอมมิวนิสต์ก็จะทำให้ประเทศรอบข้างมีโอกาสเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย จึงทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มสนับสนุนกลุ่มการเมืองในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสามารถสนองผลประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาในระดับหนึ่ง โดยกัวเตมาลาคือประเทศแรกที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซง ด้วยความกังวลว่ารัฐบาลเดิมที่มีนโยบายคุกคามผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนของสหรัฐอเมริกาจะมีแนวโน้มเป็นคอมมิวนิสต์ จึงได้สนับสนุนกลุ่มตรงข้ามของรัฐบาลเดิมกัวเตมาลาเพื่อทำการโค่นล้มอำนาจจนสำเร็จในปี ค.ศ.1954

ร้ายกว่านั้น คือ คิวบา ประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากและตั้งอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียน ได้ถูกปฏิวัติและแปรสภาพกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1959 พร้อมกับการปลุกปั่นแนวคิดคอมมิวนิสต์และการต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ไปทั่วภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งได้สั่นสะเทือนสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากว่า คิวบาจะอยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาแล้ว คิวบาเองยังประกาศตัวเป็นประเทศคอมมิวนิสต์และมีสหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทโดยตรงในประเทศอีกด้วย

จึงเป็นเหตุที่สหรัฐอเมริกายิ่งมีความจริงจังที่จะป้องกันไม่ให้แนวคิดคอมมิวนิสต์เข้าไปครอบงำอำนาจรัฐในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ และพร้อมสนับสนุนทุกกลุ่มการเมืองที่สามารถต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองใดก็ตาม จึงนำไปสู่การสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่ดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยมหรือขัดแย้งกับผลประโยชน์ของภาคเอกชนในประเทศต่าง ๆ เช่น อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี อุรุกวัย โบลิเวีย เปรู ปารากวัย ฯลฯ ในช่วงกลางยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐอเมริกายังมีการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านข้อมูลข่าวกรอง ความช่วยเหลือทางการทหาร รวมทั้งองค์ความรู้ในการป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ แก่ประเทศที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะรักษาระบอบการปกครองที่เป็นมิตรต่อสหรัฐอเมริกาและไม่ถูกบ่อนทำลายโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาจะยกระดับกลายเป็นปฏิบัติการคอนดอร์ในปี ค.ศ.1975 ที่เป็นความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอเมริกาใต้และสหรัฐอเมริกาในการจัดการลัทธิคอมมิวนิสต์ให้หายไปจากภูมิภาคอย่างเด็ดขาด

เหตุตรงนี้ได้ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายเป็นจำนวนมากในบรรดาประเทศเผด็จการที่ได้รับสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหาร กักขัง และทรมาน เป็นจำนวนหลายหมื่นถึงหลายแสนคน และได้ดำเนินมาตั้งแต่ ค.ศ.1975 – 1989 ซึ่งสุดท้ายแล้วปฏิบัติการคอนดอร์ก็ได้ยุติลงเมื่อสหภาพโซเวียตและลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้หลายประเทศก็ได้เปลี่ยนผ่านการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างช้า ๆ หลังช่วงสงครามเย็นสิ้นสุดลง

สุดท้ายนี้ เรื่อง ปฏิบัติการคอนดอร์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้มีส่วนร่วมนั้น ย่อมเป็นการบ่งบอกถึงความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์โดยไม่สนวิธีการใด ๆ และยินดีสนับสนุนทุกกลุ่มการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการปัญหาคอมมิวนิสต์ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองหรืออุดมคติที่ควรจะเป็นและพฤติกรรมของชาติมหาอำนาจใด ๆ ในโลก ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ต่างก็ย่อมที่จะดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตนได้ไม่สิ้นสุด

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า