ยุทธศาสตร์อันล้ำลึก ผ่านค่าใช้จ่ายในการศึกของรัชกาลที่ 6
ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 – 2461) หลังจากสยามคงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี เช้าวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระราชหฤทัย มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี พร้อมทั้งเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ
โดยก่อนหน้านี้ได้ทรงทราบความว่า นายทหารกองพันที่ 1 กรมทหารราบเบาเดอรัม (Durham Light Infantry) ที่พระองค์เคยเสด็จไปประจำการระหว่างปี พ.ศ. 2441 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดส่งเงินพระราชทานส่วนพระองค์ ให้รัฐบาลอังกฤษจัดการช่วยเหลือภรรยาและบุตรของทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชาธิบดีแห่งอังกฤษ ได้มีพระโทรเลขอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบริเตน (Honorary General) ทั้งให้ทรงเครื่องยศนายทหารกรมทหารราบเบาเดอรัมเป็นกรณีพิเศษ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเอเชียได้เป็นนายพลเอกของกองทัพบกอังกฤษ
เมื่อประเทศสยามเข้าร่วมรบ ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในราชการสงคราม หลายคนคงอยากรู้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้คิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ จะเสียท่าหรือคุ้มค่าแค่ไหน? เรามาดูข้อมูลกัน
ค่าใช้จ่ายในราชการสงครามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 – 2462 (นับตั้งแต่เข้าร่วมจนถึงหลังยุติสงคราม ซึ่งกำลังพลส่วนใหญ่ ยังคงประจำการฝึกหัดทหารอยู่ที่ฝรั่งเศส) คิดเป็นเงิน 6,316,158.44 บาท โดยแบ่งตามปี พ.ศ. ดังนี้
พ.ศ. 2460 : 322,762.35 บาท
พ.ศ. 2461 : 1,425,241.81 บาท
พ.ศ. 2462 : 4,568,154.10 บาท
ถ้าเทียบเงินที่จ่ายกับผลตอบแทนที่ได้ นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่คุ้มค่าอย่างมาก เพียงแค่เรือสินค้าของเยอรมันที่ยึดได้ 25 ลำ (เป็นเรือที่จอดเทียบท่าอยู่ในดินแดนสยาม) ระวางขับน้ำรวม26,882 ตัน หากนับเฉพาะเรือกลไฟขนาดใหญ่ 9 ลำ ระวางขับน้ำรวม 19,225 ตัน ก็คุ้มเหลือหลายแล้ว
โดยเรือรบหลวงพระร่วง มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน มีราคาถึง 200,000 ปอนด์ (คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 11 บาท) ไหนจะยังทรัพย์สินที่ยึดจากห้างร้านของเยอรมัน ซึ่งตั้งอยู่ในสยามอีกจำนวน 29 ร้านค้า
เกร็ดน่าสนใจอีกส่วนหนึ่งคือ รัฐบาลสยามมีรายได้จากการให้เช่าเรือกลไฟขนาดใหญ่ 7 ลำ โดยคิดค่าเช่าตันละ 9.81 บาท/เดือน มีระวาง 15,939 ตัน รายได้เดือนละ 152,405.25 บาท (จริง ๆ ค่าเช่าระหว่างสงครามอยู่ที่ตันละ 46.76 บาท แต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริว่าเป็นการช่วยเหลือพันธมิตร จึงยอมเสียรายได้จากการให้เช่าราคาถูก ถึงปีละ 7 ล้านบาท)
ทั้งนี้ยังมีเครื่องอาวุธและกระสุนที่ยึดได้จากชาวเยอรมันในสยามอีกคือ ปืนพร้อมดาบปลายปืน 35 กระบอก ปืนพก 37 กระบอก กระสุนทั้งชนิดขยายตัวได้และแบบธรรมดา รวม 5,884 นัด และลูกระเบิด 136 ลูก
ในส่วนของกำลังพลทางทหาร ก็มีเกร็ดน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
กองทัพบกสยามจัดกองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ ไปช่วยฝรั่งเศส โดยมีค่าใช้จ่ายตกกองละ 700,000 บาท
กองบินทหารบก : แบ่งได้สามกองใหญ่ กองหนึ่งมี 135 นาย รวมสามกองราว 400 นาย
กองทหารบกรถยนต์ : แบ่งเป็นแปดกองย่อย กองหนึ่งมี 100 นาย รวมแปดกองย่อย 850 นาย
กองทหารบกรถยนต์ขึ้นตรงต่อพลเอกกูโร แม่ทัพใหญ่ที่ 4 เมืองชาลองส์ ออกปฏิบัติการลำเลียงทหาร 12,420 คน บรรทุกเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์จำนวนมากถึง 31,791 ตัน มุ่งหน้าสู่แนวรบ รุกคืบเข้าไปในแนวกระสุนของทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จหลายครั้งหลายหน จนรัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเหรียญกล้าหาญที่ชื่อ “ครัวซ์ เดอ แกรร์” (Croix de Guerre) ประดับที่ยอดธงชัยเฉลิมพล เป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์และกองทัพไทย
สำหรับกองบินทหารบก แม้จะยังไม่ทันได้เข้าร่วมสมรภูมิ เนื่องจากเยอรมนีได้ขอสงบศึก ทำให้สงครามจบลงเสียก่อน แต่กองบินนี้ก็ได้เข้ารับการฝึกหัดเป็นศิษย์การบินจำนวน 106 นาย และสามารถผ่านการฝึกหัดได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักบินถึง 95 นาย โดยส่วนที่เหลือได้เข้ารับการฝึกเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานพร้อมกันไปด้วย
แม้จะไม่ได้เข้าร่วมรบ แต่กองบินทหารบกกลุ่มนี้ ก็ได้กลายเป็นแกนหลักในการก่อตั้งกองทัพอากาศไทยในเวลาต่อมา
หลังสงครามยุติ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ผลที่ได้จากรัฐบาลเยอรมันคือ ทางเยอรมันต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามแก่รัฐบาลสยาม เป็นจำนวน 2 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลสยามคิดเอากับทรัพย์สินเยอรมันที่ยึดได้จากในประเทศ
ประโยชน์จากการที่สยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรคือ การได้เป็นกำลังสำคัญให้การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หรือปัญหาด้านภาษีอากร ซึ่งทำให้ชาติต่าง ๆ ยินยอมแก้ไขปลดเปลื้อง ทำให้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจบลงได้ ในตอนต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
อีกทั้งทำให้ประเทศสยาม ก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ และได้เข้าร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะในพิธีรับธงชัยเฉลิมพล ที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์ ประเทศเยอรมนี วันที่ 17 มีนาคม 2461
นับได้ว่า การตัดสินพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ประเทศสยามได้รับผลประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งในด้านสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ รวมถึงการยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมต่าง ๆ นับเป็นผลสำเร็จอย่างงดงามที่สุด
หมายเหตุ :
การเปรียบเทียบค่าเงินด้วยราคาทองคำ
100 ปีที่แล้วราคาทองคำเฉลี่ยเปรียบเทียบคือ $20.67 หรือ 57.26 บาท (USD 1 : THB 2.77)
วันนี้ราคาทองคำเฉลี่ยเปรียบเทียบคือ $860.86 หรือ 28,150.12 บาท (USD 1 : THB 32.7)
รวมความแตกต่าง 491.62 เท่า
ดังนั้นตามสูตรนี้ 1,000 บาทในสมัย 100 ปีก่อน ก็ตกอยู่ที่ 491,620 บาท ในปัจจุบัน
ที่มา :
- เงิน 1,000 บาท ใน 100 ปีก่อนเยอะแค่ไหน?
- Gold Price Chart
- ประวัติกองทหารอาสาซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พุทธศักราช ๒๔๖๐-๖๑-๖๒
- บทบาทของประเทศไทยในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และผลที่ประเทศไทยได้รับ, ปริญญานิพนธ์ของ สมพล ศิปวุฒิ 3 มีนาคม 2515, เสนอต่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต
- การเดินเรือพาณิชย์กับเศรฐกิจไทย พ.ศ.2398 – 2468, วิทยานิพนธ์ 2523 โดย นางสาวพจนา เหลืองอรุณ, สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- รายงานและงบประจำปี 2560, 2561, 2562 กรมบัญชี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ