ยุคทองของเสรีภาพ และ วงการหนังสือพิมพ์ในสมัย รัชกาลที่ 6
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการหนังสือพิมพ์ สังคมไทยตื่นตัวกับการเสพสื่อ และมีปัญญาชนผลิตงานเขียนคุณภาพเกิดขึ้นมากมาย แม้แต่ในหลวง ร.6 เอง ก็สนพระราชหฤทัยจนถึงขนาดพระราชนิพนธ์บทความมาลงหนังสือพิมพ์ด้วยพระองค์เอง ทำให้วงการหนังสือพิมพ์เติบโตขึ้น จากเดิมในช่วงปี พ.ศ. 2411-2453 มีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นเพียง 8 ฉบับ แต่เมื่อถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นมากถึง 35 ฉบับ
แม้ในช่วงนั้นประเทศไทยจะปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในหลวง ร.6 ก็พระราชทานเสรีภาพในการแสดงความเห็นแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแสดงความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายที่มีความเป็นสากลเช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการใช้สื่อไปคุกคามหรือล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นตามใจชอบอีกด้วย
ในหลวง ร.6 ได้พระราชนิพนธ์บทความลงหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 โดยใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ” ซึ่งบทความที่ถูกพูดถึงอย่างเกรียวกราวคือ “โคลนติดล้อ” ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคม สร้างความตระหนักรู้ รวมถึงการแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม และถึงแม้จะทรงใช้นามปากกาแฝง แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า “อัศวพาหุ” คือนามปากกาของในหลวง ร.6
ต่อมาได้มีผู้ใช้นามปากกาว่า “โคนันทวิศาล” และ “ทุ่นดำ” เขียนบทความโต้แย้งความเห็นของในหลวง ร.6 จากบทความพระราชนิพนธ์ โคลนติดล้อ โดยใช้ลีลาสำนวนที่ดุเดือดและตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่รู้ว่า “อัศวพาหุ” คือ ในหลวง ร.6 เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮากันมาก เรียกได้ว่าเป็นสงครามปากกาที่มีชื่อเสียงที่สุดระหว่าง “อัศวพาหุ” และ “โคนันทวิศาล กับ ทุ่นดำ”
ซึ่ง “โคนันทวิศาล” คือนามปากกาของ พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ส่วน “ทุ่นดำ” คือนามปากกาของ พลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารเรือ กระทรวงทหารเรือ
เรื่องการตอบโต้บทความพระราชนิพนธ์นั้น ข้าราชการระดับสูงหลายคนถึงกับมีความกังวลว่าจะเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะกรณีของ “ทุ่นดำ” หรือพระยาวินัยสุนทร ที่เสนาบดีกระทรวงทหารเรือทำเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ปลดพระยาวินัยสุนทรออกจากราชการเลยทีเดียว
แต่ในหลวง ร.6 ไม่ได้ทรงกระทำเช่นนั้น พระองค์กลับทรงเห็นว่า พระยาวินัยสุนทร เป็นคนกล้า และช่วยแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง แตกต่างจากพวกประจบสอพลอ ที่เมื่อเห็นเจ้านายทำอะไรก็ชมว่าดีไปหมด
นอกจากจะไม่ถูกในหลวง ร.6 สั่งลงโทษแล้ว แม้พระยาวินัยสุนทรจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานลาออกจากราชการ ในปี พ.ศ. 2462 แต่ในหลวง ร.6 ก็ไม่มีพระบรมราชานุญาตให้ลาออก และนอกจากนี้ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2468 พระยาวินัยสุนทรยังได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมด้วยพานทองเป็นเกียรติยศอีกด้วย
นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวงการหนังสือพิมพ์ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในยุคสมัยของในหลวง ร.6 ได้เป็นอย่างดี ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่รากฐานแห่งเสรีภาพนี้ ได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้นในยุคของคณะราษฎร
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เช่น การออก พรบ.ควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ หรือการออก พรบ.ป้องกันรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจบังคับ โดยรัฐสามารถเข้าไปควบคุมการนำเสนอเนื้อหา ตั้งแต่เข้าไปเซนเซอร์ จนถึงการให้อำนาจสั่งปิดโรงพิมพ์ได้เลย
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าในสมัย ร.6 การที่หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพหรือกล้าที่จะวิจารณ์บทความพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.6 โดยตรง เป็นเพราะหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นของต่างชาติ ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ถ้าดูกันตามข้อเท็จจริงแล้ว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ยังเป็นยุคที่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอยู่จนถึง พ.ศ. 2481 แต่ยุคของคณะราษฎรกลับกลายเป็นยุคที่หนังสือพิมพ์หรือโรงพิมพ์ถูกรัฐบาลทุบแท่นพิมพ์ และสั่งปิดโรงพิมพ์เป็นว่าเล่น
ในส่วนของ พระยาวินัยสุนทร เรื่องราวของท่านกลับยิ่งน่าเศร้ากว่า…
เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 พระยาวินัยสุนทร ได้แสดงความเห็นบางอย่าง จนกระทั่งถูกจับและสั่งฟ้องขึ้นศาลพิเศษ แต่ก็ต่อสู้คดีจนศาลพิพากษายกฟ้องและปล่อยตัว
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2478 ภายหลังเหตุกาณ์กบฏนายสิบ โดยอาศัยอำนาจตาม “พรบ.จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476” พระยาวินัยสุนทรได้ถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2 ในข้อหาปลุกปั่นให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในการปกครองของรัฐบาลด้วยอุบายใส่ความ และถูกลงโทษด้วยการเนรเทศไปกักบริเวณในพื้นที่จำกัด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
และเมื่อเกิดเหตุการณ์ กบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2481 พระยาวินัยสุนทรก็ถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 3 โดยมีสาเหตุมาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัญหาสุขภาพ ขณะถูกจับกุมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พระยาวินัยสุนทรจึงถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารเรือในกรุงเทพ และในระหว่างรักษาตัวนั้น ท่านก็ยังให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า …
“ไม่ชอบใจ ที่รัฐบาลบริหารบ้านเมืองผิดหลัก … ‘คณะราษฎร’ แข่งขันกันโกงกินบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ผู้แทนซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ก็ถูกเพ่งเล็งไปในเชิงว่าจะเป็นภัยต่อประชาธิปไตย เพราะตัวใหญ่ๆ ของพวกเขาไม่ได้รับเลือกเข้ามา การปกครองจึงเป็นแบบเอาหัวเดินต่างตีน”
พระยาวินัยสุนทร ได้ยึดมั่นต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารบ้านเมืองโดยมิชอบของรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งท่านได้เสียชีวิตลงก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสินคดี ซึ่งสุดท้ายจำเลยในคดีนั้นทั้งหมด ต่างถูกคณะราษฎรยัดเยียดปลายทางชีวิตให้ไปสิ้นสุดที่คุกเกาะตะรุเตาแทบทุกคน
ด้วยพระวิสัยทัศน์ของในหลวง ร.6 ที่ทรงให้การสนับสนุนเสรีภาพทางสื่อ จนทำให้เกิดยุคเฟื่องฟูของวงการหนังสือพิมพ์ในสยาม มีการถกเถียงประเด็นความคิดเห็นต่างๆ กันอย่างมีคุณภาพ อันจะทำให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อไปในอนาคต
แต่สุดท้าย…กลับกลายเป็นคณะราษฎรที่ได้ฝังกลบลบทิ้ง และทำลายรากพันธุ์แห่งเสรีภาพนี้ลงอย่างน่าเสียดาย
อ้างอิง :
[1] บทความหนังสือพิมพ์เรื่อง โคลนติดล้อ ของ อัศวพาหุ
[2] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเสวกโท จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)
[3] อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์” เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 20 มกราคม 2511
[4] สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. – กรุงเทพฯ : มติชน, 2565