ยกเลิก ม.112 ย้อนแย้งทางกฎหมาย ผิดวิสัยของอารยประเทศ
หนึ่งในข้อเรียกร้องของม็อบปลดแอกที่ยังไม่ยอมลดเพดาน แถมยังดันให้เป็นประเด็นสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือ การยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นการ “ปฏิรูป” สถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังปลุกปั่นมวลชนด้วยวาทกรรมที่ว่า
“ทำไมไม่ยกเลิก ม.112 แล้วมาใช้กฎหมาย มาตรา 326 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะว่ากษัตริย์ก็เป็นมนุษย์เหมือน ๆ กัน”
ซึ่งประโยคดังกล่าว เป็นการเรียกร้องที่ “ผิด” ของผู้ไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายสองมาตรานี้ และไม่มีความเข้าใจเลยว่าทำไมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศ
เราลองมาเปรียบเทียบสาระสำคัญระหว่าง กฎหมายมาตรา 112 กับกฎหมายหมิ่นประมาท ที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปกันดู
มาตรา 112
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
มาตรา 326
“ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ข้อแตกต่างของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ กับบุคคลธรรมดาคือ
มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่า รัฐเป็นผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด
ส่วนมาตรา 326 เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินคดีให้
เหตุที่บัญญัติไว้แตกต่างกันเช่นนี้ เพราะสถานะของสถาบันกษัตริย์ เป็นผู้ที่อยู่เหนือการเมืองและไม่สามารถลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ใด ไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองหรือประชาชนทั่วไป จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐจะต้องจัดให้มีกฎหมาย มาตรา 112 เพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่าว่าแต่ประมุขของประเทศเราเองเลย แม้แต่ประมุขของต่างชาติ กฎหมายไทยก็ให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดว่าด้วย “ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ” มาตรา 133 และมาตรา 134 ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา 133
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 134
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จะเห็นได้ว่า ในมาตรา 133 และมาตรา 134 มีเนื้อหาเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่างกันเพียงอัตราโทษของผู้ที่กระทำผิด
ดังนั้นลองคิดกันดูว่า หากเรายกเลิก มาตรา 112 ก็เท่ากับว่าเราคุ้มครองประมุขต่างประเทศ แต่ไม่คุ้มครองประมุขของประเทศตัวเอง ซึ่งถือเป็นความลักลั่นทางกฎหมาย เป็นเรื่องผิดวิสัยของอารยประเทศอย่างยิ่ง ประชาคมโลกจะมองประเทศเราอย่างไร ในการที่ไม่คุ้มครองประมุขของชาติตัวเอง แต่ดันไปคุ้มครองประมุขของต่างประเทศ
และหากจะยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ไปพร้อมกับมาตรา 112 ผลที่ตามมาก็คือ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศป่าเถื่อนในสายตาสังคมโลกทันที และจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เพราะเท่ากับไม่ให้เกียรติแก่ประมุขของพวกเขา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดของประเทศเหล่านั้น
ในสังคมประชาคมโลกมีหลักในการอยู่ร่วมกันข้อหนึ่งคือ หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน (Reciprocity) และประมุขของทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดี หรือเรียกชื่ออื่นใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นตัวแทน หรือสัญลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ โดยแต่ละประเทศจะให้ความคุ้มครองสูงสุดแก่ประมุขของตน และให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของประเทศอื่นพร้อมกันไปด้วย
ดังนั้น การยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 นอกจากเป็นการลักลั่น ย้อนแย้งในทางกฎหมายแล้ว ยังมีผลทำให้พระมหากษัตริย์ถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองในทางพฤตินัย และยังเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย
อีกทั้งสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง และไม่สามารถลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ใดได้ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของระบอบการปกครอง